xs
xsm
sm
md
lg

หยุดพฤติกรรมพบบ่อย 11 อย่าง ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 สำหรับประเทศไทยแล้วสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคไม่ติดต่อมากที่สุดคือ โดยโรคมะเร็งที่เป็นมากที่สุดของคนไทยคือ มะเร็งตับ ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้และมะเร็งปอด


ในขณะที่สาเหตุของโรคมะเร็งใน ชายไทยมากที่สุดคือ โรคมะเร็งตับ ในขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตของโรคมะเร็งใน หญิงไทยมากที่สุดคือ โรคมะเร็งเต้านม ซึ่งแปลว่าต้องมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นทุกปี

ถ้าประชาชนได้ตระหนักว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ประชาชนไทยมีความเสี่ยงที่จะป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นได้ ก็อาจจะทำให้คนไทยได้มีข้อมูลทีจะระมัดระวังพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของตัวเองได้มากขึ้น

หน่วยงานหนึ่งภายใต้องค์การอนามัยโลก ที่ได้รวบรวมและประเมินสาเหตุของการป่วยเป็นโรคมะเร็งก็คือสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC)

จนถึงปัจจุบัน สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ได้จัดหมวดระดับความเสี่ยงในการเป็นสารก่อมะเร็งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

 กลุ่มที่ 1 ระดับเสี่ยงสูงสุด เป็น สารก่อมะเร็งในมนุษย์ ปัจจุบันมีจำนวน 127 รายการ[1] มีความหมายว่ามีหลักฐานเพียงพอและชัดเจนว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ รังสียูวี ฯลฯ[2]

กลุ่ม 2A ระดับเสี่ยงรองลงมา ปัจจุบันมีจำนวน 95 รายการ[1] มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มีหมายความว่า มีหลักฐานอย่างจำกัดในการเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่มีหลักฐานอย่างเพียงพอในการวิจัยในสัตว์ทดลอง เช่นมลพิษจากการผัดทอดด้วยอุณหภูมิสูง การรับประทานเนื้อแดง ยาฆ่าแมลงดีดีทีการทำงานกะกลางคืน ฯลฯ[2]

กลุ่ม 2B ระดับความเสี่ยงลำดับที่ 3 ปัจจุบันมีจำนวน 323 รายการ[1] คือ อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มีหมายความว่า มีหลักฐานจำกัดในการเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่มีหลักฐานในสัตว์ทดลองยังไม่เพียงพอ เช่น การเผาไหม้พลังงานจากน้ำมัน อาชีพที่ทำงานในร้านทำผม ตะกั่ว ฯลฯ [2]

กลุ่มที่ 3 ปัจจุบันมีจำนวน 500 รายการ[1] คือ ไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มีความหมายว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง เช่น เครื่องดื่มกาแฟน้ำมันดิบ ปรอท และพาราเซตตามอล ฯลฯ[2] 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประชาชนในประเทศไทยยังไม่ได้ตระหนักการประกาศความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งซึ่งประกาศเอาไว้โดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) อีกจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันอย่างมาก

แต่การพิจารณาในเรื่องความเสี่ยงมะเร็งนั้น ก็ควรจะพิจารณาในเรื่องทั้งกลุ่ม 1 (เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และ กลุ่ม 2A (มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) ควบคู่กันไปด้วย โดยมีพฤติกรรมหลายอย่างที่สังคมไทยควรจะรับทราบดังนี้

1.”เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นสาเหตุในการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิดโดยจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ได้แก่ มะเร็งช่องปากมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบนมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก[3]

2.บุหรี่ เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ได้แก่ มะเร็งช่องปากมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งไซนัส มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหารมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งลูคีเมียมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไต มะเร็งกรวยไต มะเร็งท่อไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และการเลิกบุหรี่จะมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเหล่านี้ด้วย[3]

3. “เนื้อแปรรูปทุกชนิด” และ “เนื้อแดง” โดยเนื้อแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม เบคอนลูกชิ้น กุนเชียง ฯลฯ เป็นสารก่อมะเร็งลำไส้และอยู่ในกลุ่มที่ 1 ด้วย[3]

การบริโภค “เนื้อแดง” (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) อยู่ในกลุ่ม 2A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งลำไส้ และมะเร็งทวารหนัก[4]

4. “ยาคุมกำเนิดที่เกี่ยวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน-โปรเจสเตอโรน” หรือยาที่ใช้ฮอร์โมนบำบัดในกลุ่มเอสโตรเจน-โปรเจสเตอโรน เป็นสารก่อมะเร็งเต้านม และอยู่กลุ่มสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ 1 ด้วยเช่นกัน[3]

5. “พยาธิใบไม้” ก็เป็นสาเหตุสำคัญต่อมะเร็งทางเดินน้ำดีประเภท กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมาก[3] และถ้าจะป้องกันจะต้องรณรงค์ในการรับประทานอาหารสุกเป็นหลัก

6.”ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว” ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศพบมากในเมือง เป็นสารก่อมะเร็งที่ปอด ประเภทกลุ่มที่ 1[3] โดยหนทางในการแก้ไขในยุคนี้ คือ เครื่องฟอกอากาศหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น และการกำหนดนโยบายภาครัฐในการกำหนดการก่อสร้างในเวลากลางคืนทดแทนในเวลากลางวันให้มากขึ้น

7.”สภาพแวดล้อมในการทำงาน” เช่น การทำงานในโรงงานยาง มลพิษจากการเผาถ่าน ควันจากการเชื่อมโลหะล้วนแล้วแต่เป็นสารก่อมะเร็งที่ปอดกลุ่ม 1 เช่นกันนอกจากนั้นฝุ่นจากงานไม้ ตลอดจนฝุ่นจากผลิตภัณฑ์จากหนังก็สามารถเป็นสารก่อมะเร็งโพรงจมูกในกลุ่ม 1 ได้ด้วย[3]

นอกจากนั้นการทำงานใน  โรงงานยาง ก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2A คือมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคมะเร็งในหลอดอาหารด้วย[4]

นอกจากนั้น  “ผู้ที่ทำอาชีพนักดับเพลิง” รวมถึง “ผู้ที่ทำงานกะกลางคืน” อยู่ในกลุ่ม2A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งลำไส้ด้วยเช่นกัน[4]

นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าการเผาไหม้ดีเซล การเผาไหม้ด้วยถ่านในบ้าน ผู้ที่ทำอาชีพในการทาสี สามารถเป็นสารก่อมะเร็งปอดประเภท กลุ่มที่ 1 ด้วย[4]

ผู้ที่ยังมีความเสี่ยงกับการได้รับเบนซีน การผัดทอดด้วยความร้อนสูง รวมถึงผู้ที่มีอาชีพทางด้านการพิมพ์ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดในกลุ่ม 2A ด้วยเช่นกัน[4]

8.”ปลาเค็ม” ได้ถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 ในมะเร็งช่องจมูก[3] และอยู่ในกลุ่ม 2A คือมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย[4]

9.”ผักดอง” ก็จัดอยู่ในกลุ่ม 2A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งในช่องจมูก[4]

10. “การดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด” (เช่น ชาจีนร้อนจัด) อยู่ในกลุ่ม 2A คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งในหลอดอาหาร[4]

11.สารแทนความหวาน “แอสปาแตม” มีหลักฐานอย่างจำกัดในมนุษย์ (2B)ว่ามีความเสี่ยงมะเร็งตับ ซึ่งเพิ่งจะประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา[4] ซึ่งถึงเวลานี้ควรดูฉลากเครื่องดื่มทุกชนิดที่อ้างว่าน้ำตาลต่ำ หรือไม่ใส่น้ำตาลนั้น ได้มีสารแอสปาแตมหรือไม่

ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งในประเทศไทยได้ถ้าช่วยกันเผยแพร่และสร้างความระมัดระวังกันให้มากขึ้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] International Agency for Research on Cancer, Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–134
https://monographs.iarc.who.int/agents-classified-by-the-iarc/
[2] International Agency for Research on Cancer, IARC Monographs Harzard Classification, June 2023
https://www.iarc.who.int/wp-content/uploads/2023/06/IARC_MONO_classification_2023_updated.png
[3] The International Agency for Research on Cancer (IARC), monographs 2019, December 2019
https://monographs.iarc.who.int/wp-content/uploads/2019/12/OrganSitePoster.PlusHandbooks.pdf
[4] The International Agency for Research on Cancer (IARC), List of classifications by cancer sites with sufficient or limited evidence in humans, IARC Monographs Volumes 1–134, July 2019
https://monographs.iarc.who.int/wp-content/uploads/2019/07/Classifications_by_cancer_site.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น