xs
xsm
sm
md
lg

ความเน่าเฟะของกระบวนการยุติธรรม และความสิ้นหวังของสังคมไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมจะพูดถึงกระบวนการยุติธรรมของบ้านเราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ว่าวันนี้ยังเป็นความหวังของสังคมได้อีกไหมหรือว่ามันเน่าเฟะไปทุกกระบวนการอย่างชนิดที่ไม่สามารถฝากความหวังได้เลย

เวลาเราจะวิจารณ์อาชีพใดอาชีพหนึ่งเราย่อมจะต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถเหมารวมได้ ต้องแยกแยะคนดีและคนไม่ดี และเรามักจะพูดกันเพื่อแก้ตัวว่าทุกสังคมย่อมจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่มีคำถามว่าคนในกระบวนการยุติธรรมอาชีพที่ต้องรักษาความยุติธรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำนั้นเป็นอาชีพที่สามารถมีทั้งคนดีและคนไม่ดีได้ด้วยเช่นนั้นหรือ

ผมจะพูดตั้งแต่ต้นน้ำที่หมายถึงตำรวจ กลางน้ำที่หมายถึง อัยการและปลายน้ำที่หมายถึง ผู้พิพากษา

เหตุการณ์ที่บ้านกำนันนกนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าที่นายตำรวจคนหนึ่งต้องจบชีวิตลงด้วยความเหิมเกริมและไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง แม้คนที่ลงมือจะโดนวิสามัญกรรมฆาตกรรมไปแล้ว และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจะถูกดำเนินคดี แต่ด้านหนึ่งก็ฉายให้เห็นถึงภาพของตำรวจไทยที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลที่ผูกพันกันด้วยผลประโยชน์และส่วย

ในงานวิจัยของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ระบุว่า รูปแบบการคอร์รัปชันในวงการตำรวจ ในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้จะมีการเปลี่ยนระบบบังคับบัญชาและโครงสร้างอำนาจใหม่ จากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง “ดร.ผาสุก” ศึกษากรณีการคอร์รัปชันในสถานีตำรวจ โดยแบ่งเป็นฝ่ายๆ ดังนี้

งานฝ่ายป้องกันและปราบปราม มีรายได้จากบ่อนพนัน หวยเถื่อน หวยใต้ดิน โรงแรมม่านรูด โรงน้ำชา ผู้ที่ต้องการจะเปิดบ่อนต้องเสียเงินให้กับตำรวจท้องที่ กองปราบปราม และกองกำกับการสอบสวน ทั้งจ่ายรายสัปดาห์และรายเดือน โดยวิธีการคือ นายทุนจะเข้าไปติดต่อกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง หรือกองบัญชาการขึ้นไป และต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ด้วย กรณีต่างจังหวัดจะมีการค้าไม้เถื่อนร่วมกับนายทุน เก็บค่าหัวคิวรถประจำทาง รีดไถผู้ประกอบการรถบรรทุก การตั้งด่านตรวจค้น หรือตั้งจุดสกัด

านฝ่ายสืบสวน สายนี้มีโอกาสทุจริตสูงกว่าสายงานอื่น มีหน่วยงานปฏิบัติการใต้ดิน อย่างลับๆ ทั้งจากบ่อน โรงงาน การค้าทอง หมู่บ้านจัดสรร การจ่ายเงินในสายนี้เหมือนกับงานในฝ่ายป้องกันและปราบปราม แต่ในส่วนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องจ่ายต่างหาก

งานฝ่ายสอบสวนโอกาสในการทุจริตในสายนี้ ในแต่ละครั้งจะมีผลกระทบต่อรูปคดีอย่างมาก หรือบางครั้งสามารถทำให้ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากการถูกลงโทษตามกฎหมายได้ เพื่อให้มีการล้มคดีหรือพลิกสำนวนจากผิดให้พ้นผิดหรือลดโทษได้ กรณีคดีมีหลักฐานมาก โอกาสที่ตำรวจจะเรียกรับผลประโยชน์ก็มากตามไปด้วย

การส่งส่วย จะมีการส่งรายได้ให้กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยแบ่งตามสัดส่วน ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะได้มาก ลดหลั่นลงมาตามลำดับ นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวางแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คอร์รัปชันแล้วจับไม่ได้ “เนื่องจากตำรวจชั้นผู้น้อยหาส่งส่วยให้นาย”

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วาริชบุตรอดีตนายตำรวจเคยเล่าไว้นานแล้วว่า การวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ถ้ามีเงิน มีตั๋ว (เส้นสาย) มีผลงานด้วย รับรองผ่านฉลุย เช่น ถ้าต้องการไปอยู่สน.(เอ่ยชื่อสน.กลางกรุง) แต่ไม่มีผู้ใหญ่หนุน อาจต้องเสียเงิน 8 ล้าน แต่ถ้ามีตั๋วจากผู้ใหญ่ อาจเสียแค่ 4 ล้าน เพราะจะเกรงใจกัน กลัวผิดใจกัน เฮ้ย ให้ไอ้นี่ดีกว่าว่ะ เดี๋ยวกูเดือดร้อน เอา 4 ล้านพอ กำขี้ดีกว่ากำตด

อาชีพของตำรวจนั้นเป็นผู้รักษากฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและดำเนินคดีกับคนที่กระทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าตำรวจรับผลประโยชน์จากผู้กระทำผิดกฎหมายมาซื้อตำแหน่ง ตำรวจคนนั้นก็ต้องทำแบบนี้ไม่เรื่อยๆ ตลอดเส้นทางการเติบโต สุดท้ายตำรวจก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของมิจฉาชีพนั่นเอง

แม้สำนักงานตำรวจจะมีการไล่ออกตำรวจที่กระทำผิดเดือนละหลายนายและปีละนับร้อยคน แต่ถามว่ายังมีตำรวจอีกกี่คนที่แสวงหาประโยชน์ แล้วเหตุผลที่ตำรวจต้องมีพฤติกรรมแบบนั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของบุคคล เรื่องของผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ หรือต้องหาเงินเพื่อส่งส่วยให้ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อซื้อตำแหน่งให้ตัวเองได้เติบโตในเส้นทางราชการ หรือเพราะทุกเหตุผลที่กล่าวมา แล้วถามว่าจะทำอย่างไรให้พฤติกรรมนั้นหมดไป เพราะหากยังมีพฤติกรรมแบบนั้นตำรวจที่มีหน้าที่รักษากฎหมายก็ไม่มีวันที่จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้

ทั้งหมดนี้พูดถึงตำรวจที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม แต่อีกสองด่านแม้ไม่ค่อยมีข่าวอื้อฉาวแบบตำรวจ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีการกระทำอย่างโจ่งครึ่มเหมือนกับตำรวจ แต่ถ้าเราติดตามข่าวเราก็เห็นว่ามีการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์ไม่แพ้กัน

ในวงการอัยการเราก็มักจะได้ยินข่าวอัยการกระทำผิดวินัยและถูกไล่ออกจากราชการ เช่น กรณีที่อัยการอาวุโสรายหนึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรงว่ามีส่วนรับรู้ในการเปลี่ยนความเร็วรถคดีของบอส อยู่วิทยาที่ขับรถชนตำรวจตาย คดีนี้ถูกกล่าวหาทั้งตำรวจและอัยการว่าช่วยเหลือผู้กระทำผิดและถูกดำเนินคดีในชั้นปปช. ทั้งๆ ที่คนตายก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

หรือกรณีไล่ออกข้าราชการอัยการรายหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 7 ปี กรณีข้าราชการอัยการรายดังกล่าวให้ผู้เสียหายจ่ายค่าอาหารในการเลี้ยงส่งลูกน้องตัวเองซึ่งเป็นอัยการ พร้อมเรียกเงินรับเงินกับผู้เสียหายอีก 3 แสนบาท คดีนี้ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา คดีถึงที่สิ้นสุดวันที่นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาเมื่อช่วงต้นปี 2565 โดยขณะนี้อัยการรายดังกล่าวถูกคุมขังในเรือนจำ

หรือกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ จำคุก 12 ปี นายธรรมะ หรือชินโชติสอนใจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 8 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดภูเก็ต และตัดสินลงโทษจำคุก 8 ปี นายวันฉัตร ชุณหถนอม อดีตอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้สนับสนุน ในคดีถูกกล่าวหาเรียกรับเงิน 10 ล้านบาท

ส่วนวงการตุลาการนั้น ถ้าเราติดตามก็จะเห็นว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ก็มีข่าวปลดออก ไล่ออกผู้พิพากษาที่กระทำผิดอยู่เสมอ นั้นแสดงว่าคนในวงการผู้พิพากษาที่ควรจะต้องมีแต่คนดีก็มีทั้งคนดีและไม่ดีเช่นเดียวกัน

กรณีล่าสุดที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเนื่องจากแกนนำ กปปส.รายหนึ่งอ้างว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 รายร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง โดยระบุว่า สามารถจ่ายสำนวนให้กับองค์คณะในศาลอุทธรณ์ที่ ‘คุ้นเคยกับท่าน’เพื่อให้พิจารณายกฟ้องในทุกกรรมเพื่อเรื่องจะได้ไม่ต้องไปถึงศาลฎีกา

ในหนังสือร้องเรียนอ้างว่ามีการพบกับผู้พิพากษาที่เป็น ‘ตัวแทนท่าน’ หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท โดยเร่งรัดให้จ่ายก่อนวันที่ 30 กันยายน 2565 ก่อนที่ ‘ท่าน’หมดวาระ

แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของการกล่าวหายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดหรือไม่ แต่ก็ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ในวงการตุลาการที่เราเชื่อถือว่าต้องเป็นคนที่ใสสะอาดนั้น แท้จริงแล้วมีคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ใช่ไหม แต่อยู่ที่ว่าจะจับได้หรือไม่ได้ หรือมีผู้ร้องเรียนหรือไม่เท่านั้นเอง

ถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของอัยการและผู้พิพากษาอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นมากเช่นเดียวกับวงการตำรวจ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่กลางน้ำ และปลายน้ำก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างกัน แม้เราจะอ้างว่า คนเหล่านั้นเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่กระทำผิด แต่ถามว่า มีคนกระทำเช่นนั้นอีกกี่คนที่ไม่สามารถเอาผิดได้ ทำไมคนในสังคมจึงมีความเชื่อเรื่อง “วิ่งคดี” ได้ในทุกระดับ หากคนในวงการยุติธรรมทุกขั้นตอนไม่รับผลประโยชน์

น่าตั้งคำถามว่าในกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะต้องมีความยุติธรรม 100%นั้น แต่จริงแล้วเมืองไทยของเรามีความยุติธรรมอยู่เต็มร้อยจริงไหม หรือจะตอบแบบส่งเดชเพียงว่าทุกอาชีพก็มีทั้งคนดีหรือไม่ดี เพื่อตอกย้ำความสิ้นหวังของสังคมไทยต่ออาชีพผู้รักษาความยุติธรรม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น