xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลานิรโทษกรรมทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



แม้จะไม่เคยเห็นด้วยในจุดยืนทางการเมืองของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แต่ผมเห็นด้วยการเรียกร้องของเขาให้มีการนิรโทษกรรมการเมืองให้กับคนที่เห็นต่างๆ และต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองจนมีคดีติดตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพียงแต่อาจจะมีความเห็นต่างในรายละเอียดกันบ้าง แต่ก็มองว่านี่เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองของคนในชาติขึ้น

สงครามเหลืองแดงสงบลงแล้ว พรรคของ กปปส.อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติก็เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ทักษิณได้กลับบ้านแบบเท่ๆ แล้วได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงลดโทษจาก 8 ปีเหลือเพียงปีเดียว พร้อมกับสำนึกผิดที่ได้กระทำลงไปต่อแผ่นดิน

แต่ถึงวันนี้ทักษิณก็ยังไม่ติดคุกสักวันยังนอนสบายอยู่ในห้องพักที่ดีที่สุดของโรงพยาบาลตำรวจไม่รู้ว่าจะนอนอยู่อย่างนี้ไปจนกว่าจะได้พักโทษหรือไม่ เพราะฟังแพทย์ใหญ่แล้วทักษิณมีสารพัดโรค ทั้งๆ ที่ไม่มีวี่แววมาก่อนเมื่อหนีคดีอยู่เมืองนอก แถมเชื่อกันว่าอย่างเร็วเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าทักษิณก็จะได้พักโทษออกมาอยู่บ้านเลี้ยงหลานอย่างแน่นอน

เมื่อทักษิณได้รับการลดหย่อนโทษและสำนึกในความผิดแล้ว แต่เกือบ 2 ทศวรรษของสงครามสีเสื้อของฝ่ายตรงข้ามทักษิณและฝ่ายสนับสนุนทักษิณมีคนเจ็บคนตาย และต่างฝ่ายต่างถูกดำเนินคดีจำนวนมาก หลายคนติดคุกไปแล้ว และหลายคนพ้นโทษมาแล้วแต่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพราะมีโทษจำคุก มีมลทินติดตัว หลายคนยังอยู่ในเรือนจำ หลายคดียังดำเนินการอยู่ในชั้นศาล คำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องนิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อให้โอกาสทุกคนกลับไปใช้ชีวิตในสังคม

ความขัดแย้งทางการเมืองเกือบสองทศวรรษนั้น แม้บางคนจะเรียกว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญเปล่า” แต่ส่วนตัวผมกลับมองว่านี่เป็นทศวรรษแห่งการตื่นรู้ของประชาชนที่ไม่จำนนต่ออำนาจรัฐ หากมองเห็นว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ชอบธรรมและเป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่จะต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม สองทศวรรษที่ผ่านมานี้ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น มีนักต่อสู้ภาคประชาชนเกิดขึ้นมากมายจากทุกกลุ่มสีเสื้อและทุกฝ่ายที่ล้วนตระหนักรู้ว่าประชาชนมีสิทธิ์และมีอำนาจอย่างไรบ้างในระบอบประชาธิปไตย

ความขัดแย้งทางการเมืองความเห็นต่างทางความคิด และการมีอุดมการณ์การเมือง แม้อาจจะตรงข้ามกับอุดมการณ์ของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่อาชญากรรมเพราะไม่ว่าใครจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนไม่ใช่เรื่องที่ผิด แน่นอนว่ารัฐจะมีกฎหมายเพื่อปกป้องอุดมการณ์ของรัฐ และใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับคนเห็นต่างๆ โดยอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เมื่อสถานการณ์และความขัดแย้งคลี่คลายลงก็ควรจะนิรโทษกรรมเพื่อให้ผู้ถูกดำเนินคดีสามารถกลับไปใช้ชีวิตโดยปกติ เพื่อไม่ให้มีประวัติติดตัวเยี่ยงกับอาชญากร

ในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยมีการนิรโทษกรรมทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งมักจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำการรัฐประหารโดยใช้อำนาจรัษฎาธิปัตย์ล้มล้างความผิดให้ตัวเอง แต่ก็มีการล้มล้างความผิดให้กับการชุมนุมทางการเมืองที่สำคัญ เช่น การชุมนุมของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อ 13 ตุลาคม 2516 และกระทำระหว่าง 8-15 ตุลาคม 2516 หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ได้มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลที่กระทำระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดนอกจากการนิรโทษกรรมแล้วกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ศาลปล่อยตัวจำเลยที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีด้วย และให้จำเลยพ้นความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว

รวมถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ยกเว้นความผิดให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ฆ่าหรือทำร้ายผู้ชุมนุม

และการนิรโทษกรรมทางการเมืองที่สำคัญก็คือการใช้นโยบาย 66/2523 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร เพื่อยุติสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดเข้ามอบตัวในฐานะประชาชนร่วมชาติ แม้การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จะมีความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์อย่างมาก มีจุดมุ่งหมายเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองเปลี่ยนแปลงระบอบของรัฐ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่มีความผิดติดตัว

จะเห็นได้ว่า คนที่ได้รับการนิรโทษกรรมจากนโยบาย 66/2523 หลายคนได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง มีบทบาทสำคัญทั้งในทางวิชาการ การเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยในชั่วระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะสาระสำคัญคือทุกคนล้วนแล้วแต่มีเจตนาที่ดีเพื่อชาติบ้านเมืองนั่นเอง

แต่ความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองของพันธมิตรฯ นปช. และกปปส.ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างระบอบของรัฐเป็นเพียงความขัดแย้งในจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน และต่างเชื่อมั่นว่าการออกมาชุมนุมของตัวเองนั้นเป็นการใช้สิทธิ์ที่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุมจะต้องฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ ไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นการชุมนุมเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและเชื่อมั่นว่าการชุมนุมของตัวเองนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แม้ต่างฝ่ายต่างมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกและอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิดก็ตาม

ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองหาเสียงเพื่อจะลดความขัดแย้งของประชาชนในชาติด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมืองแม้พรรคเพื่อไทยจะไม่มีความแจ่มชัดกับเรื่องนี้ เพราะยังเข็ดกับนิรโทษกรรมสุดซอยที่ถูกต่อต้านโดย กปปส.จนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและถูกทหารยึดอำนาจในที่สุด แต่สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป้าหมายสำคัญที่สุดวันนี้ก็คือ ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติเพื่อลบล้างความบาดหมางในอดีตให้หมดไป และเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้ลบล้างมลทินและมีโอกาสเข้ามาทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง

รัฐบาลเศรษฐาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่สลายขั้วความขัดแย้งทางการเมืองควรจะใช้โอกาสนี้ไปสู่เป้าหมายเพื่อสลายความขัดแย้งทางการเมืองที่แท้จริง ด้วยการคืนความบริสุทธิ์ให้คนที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองจนถูกดำเนินคดีและล้างมลทินให้คนที่ถูกพิพากษาไปแล้วเพื่อให้โอกาสในการกลับคืนสู่สังคม แน่นอนว่า แม้ไม่อาจจะทำให้ความเห็นต่างของคนในชาติหมดสิ้นไป แต่ก็ต้องมองว่าความเห็นต่างเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติและเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย

วันนี้แนวทางการนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งและรัฐบาลเศรษฐาควรจะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลสลายขั้วความขัดแย้งอย่างแท้จริง
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น