ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้อ่านคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 โดยข้อความวรรคหนึ่งในคำแถลงนี้ได้กล่าวถึงปัญหาในสังคมผู้สูงวัยด้วย ความในหน้า 3 ความว่า
“ด้านสังคม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน และมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น
สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มากขึ้นเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาลทั้งในเรื่องของสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข ขณะที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทน กลายเป็นความท้าทายจากการที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง”[1]
แม้ในรายละเอียดจะไม่ได้ระบุว่าจะแก้ปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้างประชากรอย่างไร แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มองเห็นปัญหาของโครงสร้างประชากรที่กำลังจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้บางอย่างอาจบรรเทาปัญหาบางอย่างด้วยมาตรการระยะสั้น แต่ปัญหาโครงสร้างประชากรจะต้องเร่งแก้ไขที่ต้องใช้เวลา แต่หลายมาตรการต้องวางรากฐานเสียตั้งแต่วันนี้
มองผ่านกรอบนโยบายในการบริหารและการพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ใน กรอบระยะกลางและยาวของรัฐบาลผ่านข้อความสั้นๆหน้า 4 ความว่า
“รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่ายสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับประชาชนทุกคน”
และในหน้าที่ 9 ได้กล่าวถึงการขาดแคลนแรงงานในสังคมผู้สูงวัยความว่า
“อีกนโยบายหนึ่ง คือ การเปิดรับแรงงานต่างด้าวและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่เข้ามาทำงานสร้างประโยชน์ทางเศรษกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและแรงงาน ทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการ ภาคการพัฒนาเทคโนโลยี ที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวยังมีความจำเป็นในการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”[1]
แต่ในข้อความเกี่ยวกับ “ผู้สูงวัย” ยังปรากฏในคำแถลงอีกครั้งในหน้าที่ 12 ความว่า
“และคุณภาพชีวิตประการสุดท้าย รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วย“สวัสดิการโดยรัฐ””[1]
แต่ดูเหมือนว่าผู้ได้อภิปรายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 อย่างตรงไปตรงมาว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องคิดถึงเรื่องการปรับโคงสร้างประชากรไทยได้แล้ว นั่นคือ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“ผมกล้าประกาศว่า เป็นโครงการนำร่องเพื่อเบิกฤกษ์เอาชัย ให้การเข้าถึงสถานบริการทั่วทุกแห่งในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และผู้เกิดใหม่น้อยกระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปดูแลเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เราต้องการใช้กระทรวงเราเป็นจุดกำเนิด จะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ มาดูเรื่องประชากรกันใหม่”[2]
“ลูกมากจะยากจน ต้องเอาออกจากสมองคนไทย คนไทยไม่ยอมมีลูก โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้ ความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก หลายคู่ แต่งงานปุ๊บ บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ เราจะทำในมิติของกระทรวงสาธารณสุข และผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ ผมเชื่อว่า นายกฯ รับเรื่องนี้ ถ้าเราไม่เพิ่มฐานประชากร เราจะแข่งขันกับใครไม่ได้” [2]
แม้การริเริ่มสิ่งที่สังคมไม่ได้เคยได้คิดมาก่อน อาจจะเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความไม่เข้าใจและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการโจมตี แต่ดูเหมือนว่า นายแพทย์ชลน่านศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังคงยืนหยัดว่า การที่มีทัวร์มาลงกลับเป็นเรื่องดี เพราะแปลว่าสังคมกำลังสนใจในเรื่องนี้
โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ต่อกรณีการที่มีทัวร์มาลงความว่า
“อย่างเรื่องส่งเสริมการมีบุตรนั้น ข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริหาร สธ. คือ เรามีปัญหาโครงสร้างประชากร อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายแล้ว เส้นทับกันแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกันของทุกประเทศ ซึ่งต้องแก้เชิงระบบ เราสามารถที่จะประกาศได้และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ให้เด็กเกิดอย่างมีคุณภาพ โดยคู่สมรสมีความพร้อมและตั้งใจที่จะมีลูก
“ที่ผมพูดในมุมการเมืองว่า คนที่มีฐานะดี คู่สมรสที่มีการศึกษาไม่อยากมีลูก เพราะสภาพสังคมไม่รองรับ ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร ผมใช้คำว่าทำให้สังคมมันบิดเบี้ยวก็มี ส.ส.ท่านหนึ่งไปเล่นในโซเชียลว่า เขามีลูกไม่มีลูกก็เป็นเรื่องของเขา กลายเป็นว่าเราไปรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล
แต่อยากให้ทุกท่านเรียนรู้ว่า รถทัวร์ที่มาเที่ยวนี้ ยิ่งมาเยอะ กระทรวงเราได้ประโยชน์ จะเป็นที่สนใจในสังคมและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ หากเป็นวาระแห่งชาติ มีแนวทางช่วยเหลือส่งเสริมทำให้มั่นใจว่า ลูกที่เกิดมาได้รับการดูแล
อย่างสิงคโปร์ออกนโยบายมีลูก 3 คนขึ้นไป รัฐรับผิดชอบดูแล ก็เชื่อว่าจะทำให้เราปรับให้โครงสร้างประชากรมีคุณภาพมากขึ้นได้” [3]
เพราะถ้าประเทศยังไม่คิดเรื่องการการเปลี่ยนแปลงโคงสร้างประชากร ในอีก 14 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2580 ผู้งสูงวัยจะ “เพิ่มขึ้น” เป็นร้อยละ 29.85[4]
ลองคิดดูว่าขนาดสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีผู้สูงวัยร้อยละ 20 ยังเกิดวิกฤติแพทย์และโรงพยาบาลไม่เพียงพอ และแพทย์ต้องทำงานหนักจนเกินเลยไปมาก และลาออกจากระบบราชการจำนวนมาก หากมีผู้สูงวัยร้อยละ 30 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่านี้เพียงใด
ถ้าถามว่าผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนมากเกือบร้อยละ 30 จะมีสภาพอย่างไรก็จะเทียบเคียงได้เท่ากับประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติยิ่งกว่าประเทศไทย และมีประชากรผู้สูงวัยเกิน 65 ปี มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 29.1[5]
โดยญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมที่เด็กเกิดใหม่น้อย สังคมคนรุ่นใหม่อยู่คนเดียวมากขึ้นเป็นโสดมากขึ้น ขาดแคลนแรงงานและวัยทำงานในประเทศ ค่าแรงเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง[6]
ปัญหาวิกฤติสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ ผู้สูงวัย “ตั้งใจทำผิดกฎหมาย” เพราะอยากติดคุกมากขึ้น เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และนักโทษที่คอยดูแลผู้สูงวัยในคุก มีงานทำในคุก มีเพื่อนในคุก มีกิจกรรมให้ทำในคุก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ยอดผู้สูงวัยตายโดดเดี่ยวในบ้านเพิ่มมากขึ้น มีศพที่รอคิวเผาศพโดยเฉลี่ย 3-7 วัน ในขณะที่บ้านร้างทะยานพุ่งสูงขึ้น เพราะรัฐเพราะลูกหลานไม่ต้องการรับภาษีมรดกที่แพงมหาศาล[6]
ในขณะที่ประเทศไทยที่กำลังเริ่มต้นพูดเรื่องการเพิ่มจำนวนการมีบุตรของครัวเรือนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดถึงอย่างจริงจังได้แล้ว
เพราะการพูดเรื่องนี้ในวันนี้ คือการมองวิสัยทัศน์ออกแบบผลลัพธ์ในเรื่องโครงสร้างประชากรอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งหลายเรื่องคงแก้ไขไม่ทันในเรื่องโครงสร้างประชากรที่บิดเบี้ยว จึงยังต้องต้องออกมาตรการรับมือปัญหาระยะกลางและปัญหาระยะยาวหลายมิติด้วย
ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งนอกจากจะอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการขยายอายุการเกษียณในปัจจุบันจาก 60 ปี เป็น 65 ปีแล้ว ก็ยังได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานแรงงานสูงวัย เพื่อเป็นอีกพลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก 610,000 ตำแหน่ง เป็น 740,000 ตำแหน่ง และขยายเวลาจ้างงานชั่วคราวจาก 9 เดือน เป็น12 เดือน
พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการสำหรับ “บริษัทที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ” จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ เช่น มาตรการทางการเงินในการสนับสนุนค่าชดเชยเพิ่มขึ้นจาก270,000 วอนต่อคน เป็น 300,000 วอนต่อคน มาตรการด้านภาษีลดภาษีให้บริษัท 4-12 ล้านวอนตามขนาดบริษัท[7]
เพราะความจริงปัญหาผู้สูงวัยในประเทศไทยที่ยังไม่ค่อยมีนักการเมืองได้พูดอย่างเป็นระบบนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ไปมากกว่าเพียงการรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข
และไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มแรงจูงใจในการมีบุตรเท่านั้น แต่จำเป็นต้องเตรียมรับมือเป็น “วาระแห่งชาติ” และตัดสินใจร่วมกัน ในหลายประเด็นตัวอย่าง เช่น
ผู้สูงวัยไทย ที่สุขภาพดีควรจะไม่ตกงานและมีงานทำนานขึ้นหรือไม่?
ผู้สูงวัยไทย ควรจะมีช่วงเวลาสุขภาพดีมากและนานขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาจากแอลกอฮอล์ บุหรี่ และ น้ำตาล การขาดการออกกำลังกาย ควรจะเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่?
ผู้สูงวัยไทย ควรจะพึ่งพาตัวเองในครอบครัวมากขึ้นหรือไม่ ควรจะมีความรู้ในการใช้สมุนไพรบ้าน อาหารปลอดสารพิษในครอบครัว และควรจะมีดัชนีชี้วัดและแรงจูงใจที่พึ่งพาโรงพยาบาลน้อยลง พึ่งพายาต่างชาติน้อยลง หรือไม่?
ประเทศไทยควรจะต้องเริ่มคิดและออกมาตรการช่วงชิงประชากรที่มีศักยภาพ และแรงงานที่มีทักษะเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ หรือไม่?
การแก้ปัญหาการไม่อยากมีบุตร เป็นปัญหาประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแทบทุกประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เห็นว่า “สังคมในอนาคต”ไม่น่าอยู่ หรือคนในสังคมส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่สามารจะรับมือการมีบุตรมากในอนาคตได้ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาลำพังจากกระทรวงสาธารณสุขได้
ตัวอย่างเช่น หลังไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เป็นต้นมาปัญหานักท่องเที่ยวหดหายไปทั้งๆ ที่โรคระบาดหายไป เพราะนักท่องเที่ยวชาวชาวจีนไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในประเทศไทย ทั้งปัญหาจีนเทา การลักพาตัว ขโมยไต การตบทรัพย์หรือการฆาตรกรรมนักท่องเที่ยว ฯลฯ ข่าวเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ต่อให้ทำให้วีซ่าสะดวกแค่ไหน ก็จะแก้ไขไม่ได้ ถ้าไม่ “ปฏิรูปล้างบางตำรวจเลว”
ในสังคมที่เคยรณรงค์กันในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน ที่ว่า “มีลูกมากจะยากจน” ได้เป็นผลลัพธ์ในวันนี้ที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมผู้สูงวัยขึ้น และกลายเป็นค่านิยมใหม่ว่า “ไม่อยากมีลูกกวนตัว ไม่อยากมีผัวกวนใจ” สะท้อนให้เห็นว่าสังคมที่ผู้หญิงทำงานได้ไม่ต่างจากผู้ชาย คนไทยเห็นการมีครอบครัวและลูกเป็น “ภาระ” ในการดำรงชีวิตยากขึ้นในยุคนี้อย่างชัดเจน
สังคมที่เหลื่อมล้ำ มีหนี้สินล้นพ้น ผ่อนอะไรก็ยาวนานแทบตลอดทั้งชีวิต มีรายได้ไม่เคยพอกับรายจ่าย เงินออมน้อย ศีลธรรมตกต่ำ โอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมมีน้อย สังคมที่มีความขัดแย้งและรุนแรงมาก สภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย การมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข ฯลฯ สังคมที่มีสภาพความเสี่ยงหลายมิติเหล่านี้จะเอื้ออำนวยต่อการมีบุตรมากได้อย่างไร?
ปัญหาเหล่านี้จึงควรต้องยกระดับให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมกันทุกองคาพยพในประเทศไทย
จึงขอชื่นชมและสนับสนุน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความกล้าหาญในการเปิดประเด็นที่จุดประกายความคิดทางสังคมในเรื่องปัญหาสำคัญนี้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง:
[1] ราชกิจจานุเบกษา, คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๒๒๑ ง, หน้า ๑ - ๔๑
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D221S0000000000100.pdf
[2] ข่าวสด, ชลน่าน ดันวาระชาติ เพิ่มประชากร ชี้ทัศนะบิดเบี้ยว แต่งงานปุ๊บ บังคับสามีทำหมัน, 12 กันยายน 2566
https://www.khaosod.co.th/politics/news_7863203
[3] ผู้จัดการออนไลน์, "ชลน่าน" รับทัวร์ลงปม "ส่งเสริมมีบุตร" เร่งดันวาระชาติสร้างการเกิดมีคุณภาพ, 13 กันยายน 2566
https://mgronline.com/qol/detail/9660000082750
[4] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ.2565-2580), พฤศจิกายน 2565
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13502
[5] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, วิกฤติผู้สูงวัยในญี่ปุ่น อยากติดคุกมากขึ้น ยอดตายโดดเดี่ยวในบ้านพุ่ง รอคิวเผาศพ 3-7 วัน บ้านร้างเพียบ บทเรียนเตือนประเทศไทยในอนาคต (ตอนที่ 2), ผู้จัดการออนไลน์, 25 สิงหาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000076818
[6] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, วิกฤติผู้สูงวัยในญี่ปุ่น อยากติดคุกมากขึ้น ยอดตายโดดเดี่ยวในบ้านพุ่ง รอคิวเผาศพ 3-7 วัน บ้านร้างเพียบ บทเรียนเตือนประเทศไทยในอนาคต (ตอนที่ 1), ผู้จัดการออนไลน์, 19 สิงหาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000074638
[7] SME Go Inter ธนาคารกรุงเทพ, แนะให้ดู ‘เกาหลีใต้’ มิติผู้สูงอายุที่คล้ายๆไทย, 22/01/2021
https://www.bangkokbanksme.com/en/study-of-the-south-korean-elderly-market