“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
“เรอเน เดคาร์ต” ได้รับการยกย่องให้เป็น “นักปรัชญาสมัยใหม่” ด้วยการวางรากฐานปรัชญาให้กับกลุ่มนิยมเหตุผล ซึ่งมีผลต่อนักคิดไปจนถึงนักปรัชญาหลัก ในยุโรปศตวรรษที่ 17-18 โดยมองธรรมชาติทั้งในด้านเครื่องจักรกล มองความเป็นจริงของอารมณ์ด้าน “จิตใจ” แล ะ“ร่างกาย” ว่าเป็น “สองสิ่ง”ที่แตกต่างกัน!? อืม..มารู้เรื่องของคนที่มีแนวคิดน่าสนใจแบบนี้กันดีกว่า..
“เรอเน เดคาร์ต” เกิดในปี ค.ศ. 1619 ที่เมืองลาเฮ จังหวัดทุเรน ประเทศฝรั่งเศส เริ่มการศึกษาในสถาบันคริสตศาสนา ที่เรียกว่า Society of Jesuit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ“นิกายโรมันแคธอลิก” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1534
“เดคาร์ต” เป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์ อีกทั้งมีส่วนคิดค้นด้านเรขาคณิต ซึ่งส่งผลจนถึงทุกวันนี้ แต่ด้วยความปรารถนาที่จะเรียนรู้ถึงชีวิต และค้นหาความจริงต่างๆ จึงผลักดันให้เขาละการเรียน และไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ กระทั่งช่วงหนึ่งเขาได้ไปสมัครเป็นทหารให้กับ “เจ้าชายเมอริช” แห่งประเทศฮอลแลนด์ด้วย
ถึงแม้ว่าในช่วงหนึ่งของชีวิต “เดคาร์ต” จะได้พบปะผู้คนที่น่าสนใจมากมาย ได้ผจญภัยอีกสารพัด แต่เขาไม่เคยหยุดคิดถึงคำถามในเชิงปรัชญา ซึ่งถือว่าเป็นคำถามที่ไม่ล้าสมัยในยุคนั้น และนั่นทำให้“ เดคาร์ต” ย้ายไปอยู่ฮอลแลนด์ในที่สุด เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษ บ่อยครั้งที่ “เดคาร์ต” ขึ้นเขาไปอยู่เพียงลำพัง และที่นั่นเขาได้สร้างปรัชญาของตนเองขึ้นมา เป็นสิ่งที่ “เดคาร์ต” มอบให้แก่โลกตกทอดมาถึงวันนี้ นอกเหนือจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเรขาคณิต
“กาลิเลโอ” และ “คอเปอร์นิคัส” เป็นสองคนที่ได้ท้าทายความคิดเกี่ยวกับจักรวาลของ “อริสโตเติล” และของคริสตจักร การค้นพบของทั้งคู่ เป็นการปฏิวัติความเข้าใจของ “มนุษย์” ที่มีต่อจักรวาล การถือกำเนิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทำให้มนุษย์รู้ว่า โลกไม่ใช่วัตถุลึกลับอีกต่อไป หากแต่เป็นวัตถุทางกายภาพ ที่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แม้จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง แต่ความจริงใหม่เช่นนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งใดล่ะ?
นักคิดหลายคนในช่วงเวลานั้นกล่าวว่า ไม่มีพื้นฐานใดๆทั้งสิ้น! อีกทั้งไม่มีเหตุผลใดที่จะ “ตอบคำถาม” นี้ได้ด้วย! เพราะมันเป็นความรู้ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง!! อ้าว! ไหงเป็นเช่นนั้นล่ะ? ซึ่งก็ตรงกับความคิดของ “เดคาร์ต”!
เมื่อกล่าวถึงโลกของเรา “เดคาร์ต” ไม่ได้ตั้งสมมุติฐานใดๆ ทั้งสิ้น เขาจะยอมรับว่าสิ่งใดเป็นความจริง ก็ต่อเมื่อเขาได้เข้าใจมันอย่างชัดแจ้งแล้วเท่านั้น
“เดคาร์ต” ถือว่า คำถามเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ “สงสัยเกินขอบเขต” เช่น การสงสัยว่าร่างกายและจิตใจเรา เป็นสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่ รวมทั้งเรื่องของเหตุผลและธรรมชาติ ฯลฯ
“ความคิด” สำคัญของ “เดคาร์ต” หนึ่ง- “I think, therefore I am”
ประโยคดังกล่าวของ “เดคาร์ต” นับเป็นประโยคที่โด่งดังมาก เป็นการแปลมาจากภาษาละตินที่ว่า “Cogito, ergo sum” โดย “เดคาร์ต” พิสูจน์ให้เห็นว่า จิตของเราเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มิฉะนั้นแล้ว สิ่งใดเล่าที่กำลังตั้งข้อสงสัยอยู่ว่า จิตมีอยู่จริงหรือไม่
เขาได้กล่าวต่อไปว่า ตัวเขานั้นถือเป็น “thinking thing” หรือ “สิ่งที่ใช้ความคิด” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “เป็นแก่นสารของตัวเราเอง” ดังนั้น จิต(ซึ่งก็คือเหตุผล)จึงต่างไปจากร่างกายของเรา(ซึ่งก็คือธรรมชาติ) ความคิดนี้ของ “เดคาร์ต” ถูกเรียกว่า “คาร์ทีเชียน ดูอัลลิซึม” (Cartesian Dualism)
“ความคิด” สำคัญของ “เดคาร์ต” สอง-“พระเจ้าคือพื้นฐานของความเป็นจริงแห่งโลกภายนอก”?
“เดคาร์ต”ไม่เพียงแต่พิสูจน์ว่า ตัวเขาเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในฐานะ “thinking thing” หรือ “สิ่งที่ใช้ความคิด”เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำรงอยู่จริงของ “พระเจ้า” และ “โลกตัวเรา” ด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “การพิสูจน์”ว่า “พระเจ้า” เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งที่ “เดคาร์ต” ใช้พิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าก็คือ “ตัวเขาเอง ”มีความคิดเป็นของตัวเอง ในฐานะที่เป็น “สิ่งที่ใช้ความคิด” และความคิดหนึ่งที่เขามีก็คือ “พระเจ้า” ที่มีอำนาจสูงสุดและมี “ความดี” อย่างสมบูรณ์
โดย “เดคาร์ต” มองว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะมอบความคิดเช่นนี้ให้เขาได้ นอกจาก “ตัวพระเจ้าเอง” อีกสิ่งหนึ่งที่ “เดคาร์ต” อ้างคือ เพราะ “พระเจ้า” เป็นผู้ธำรงไว้ด้วยความดีอย่างยิ่งยวด ดังนั้น..“พระเจ้า” ย่อมไม่โกหก และทั้งหมดนี้ เขาเชื่อในเรื่องของโลกภายนอก เพราะมันอยู่บนพื้นฐานเช่นเดียวกับความเข้าใจในเรื่องเรขาคณิต ที่ชัดเจนและไม่อาจผิดพลาด
อีกนัยหนึ่งคือ ความเข้าใจเกี่ยวกับ “พระเจ้า” นี้ ถือเป็น(ความรู้) “ที่ถูกขยายออกมาอย่างบริสุทธิ์” และไม่อาจผิดพลาด เพราะมิฉะนั้นแล้ว “พระเจ้า” จะเป็นผู้หลอกลวงเสียเอง.. ว้าว!!..ช่างกล้าจังเลย!
ขณะที่ “เดคาร์ต” ยอมรับถึงข้อสงสัยที่ว่า ความรู้สึกของ “มนุษย์” นั้น ไม่ได้ทำให้มองเห็นโลกอย่างที่เป็นอยู่จริงได้ แต่เขาก็เชื่อว่า ความรู้ “ที่ถูกขยายออกมาอย่างบริสุทธิ์”นั้ น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ สำหรับเขาแล้ว โลกภายนอกที่ขยายตัวออกมานั้น แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับโลกภายในของมนุษย์ ในขณะที่“กลิ่น”และ“สี”เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในจิตของผู้รับ แต่ก็ยังมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจิตของเรา ที่สามารถกำหนดวัดได้ในเชิงคณิตศาสตร์..อืม..น่าคิดและน่าคิดและน่าคิด!!!..
“ความคิด” สำคัญของ “เดคาร์ต” สาม- “วัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว”?
นอกจากนั้น เมื่อคำนึงถึงการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่มีขึ้นในยุคของเขา “เดคาร์ต” ปฏิเสธความคิดของ “อริสโตเติล” ในส่วนที่เกี่ยวกับ “สาเหตุสุดท้าย” รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการศึกษาธรรมชาติรอบตัว ในฐานะที่มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด มากกว่าการเรียนรู้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
สำหรับ “เดคาร์ต” สรรพสิ่งในธรรมชาติเกิดขึ้น และมลายดับสิ้นไปด้วยสาเหตุหนึ่งเท่านั้น มนุษย์ไม่จำเป็นต้องมองธรรมชาติว่ามันมีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงอยู่ และเราสามารถเข้าใจธรรมชาติได้ง่ายๆ เมื่อมองมันในฐานะที่เป็น “วัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว”
“เดคาร์ต”ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเรียนรู้ในเรื่องของโลกให้เข้าใจนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แม้ว่าความรู้สึกของ “มนุษย์” จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม เพราะในขณะที่เขารู้ว่า จิตใจและร่างกายของเขาเป็น “สองสิ่ง”ที่แตกต่างกัน แต่เขาก็รับรู้มันทั้ง “สองอย่าง” ไปได้พร้อมๆกัน จึงถือว่า “เดคาร์ต” แยกตัวออกจากแนวคิดของ “อริสโตเติล” ที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนาน โดยเขานำเอา “ปรัชญา” เข้าไปผสมผสานกับ “วิทยาศาสตร์ใหม่” แห่งยุค ซึ่งช่วยให้ปรัชญาของเขาไม่ล้าสมัย ในมุมมองของ “ผู้ที่นิยมตั้งคำถาม”
วรรคทองของ “เรอเน เดคาร์ต” จึงถูกย้ำเสมอ นั่นคือ “ข้าคิด ฉะนั้น ข้าจึงเป็น” - I think, therefore I am ( ความหมายง่ายๆ คือ เพราะข้าคิด ฉะนั้น จึงแปลว่าข้ามีตัวตนอยู่จริง ประโยคนี้จึงสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับการมีตัวตนอยู่จริง)
ส่วนอีกสองวรรคทองของ“เดคาร์ต” คือ God is, and he is good. และ The world is just matter in motion. อันหมายถึงว่า โลกเป็นเพียงวัตถุที่เคลื่อนไหวเท่านั้น! ครานี้มาดู“คำคม”ของ“เดคาร์ต”กัน..
“เดคาร์ต” เริ่มต้นด้วยคำว่า “ข้าคิด ฉะนั้น ข้าจึงเป็น” และ “การมีจิตใจดีเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราต้องใช้มันเป็นด้วย” อืม..การเน้น “ใช้มันเป็นด้วย” และ “ต้องถูกด้วย” เป็นเรื่องสำคัญนะว้อย!
ที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ “จงรู้ว่าแท้จริงผู้อื่นคิดอย่างไร และใส่ใจสิ่งที่เขาทำ มากกว่าสิ่งที่เขาพูด” เอ๊ะ! “เดคาร์ต” พูดถึง “บิ๊กตู่” ที่ “ดีแต่พูด” อ๊ะป่าว?.. “เศรษฐา นายกฯคนใหม่ ”ต้องระวังคำพูดด้วยนะเฟ้ย!
ด้วย “ผู้นำชาติที่ดี” ต้องทำอย่าง “เดคาร์ต” ที่ “ทุกปัญหาที่ข้าฯแก้ได้กลายเป็นกฎ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นในภายหลัง”.. แต่..“บิ๊กตู่-ทักษิณ” ไม่ได้ทำเลยนี่หว่า? แล้ว “บิ๊กนิด” จะทำไหม?
อืม.. “นายกฯ เศรษฐา”จะทำเช่นไร-ยังไม่รู้ว่ะ? ส่วน “อดีตนายกฯ ตู่-ทักษิณ” ได้พิสูจน์แล้วว่า.. “เขาทั้งคู่” ไม่ทำอย่างที่ “เรอเน เดคาร์ต” ทำ..เพราะ..
“ตัวเลขที่สมบูรณ์ก็เหมือนคนที่สมบูรณ์ คือ เป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก”...นั่นเอง?!?!?!