xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาประเทศไทยเตรียมสังคมผู้สูงวัยล่วงหน้า “เริ่มต้นจากขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สำหรับประเทศไทยได้นับคำว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 60 ปี โดยปัจจุบันที่มนุษย์ทั่วโลกมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น

การที่ประเทศไทยได้นับผู้สูงวัยในอายุที่ 60 ปี เพื่อให้สอดคล้องไปกับการเกษียณอายุข้าราชการไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

โดยปี 2562 นับเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีโดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2562 มีมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน

อีก 3 ปีต่อมา ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ในปี 2565 นั้น เพิ่มขึ้นมากเป็น12.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของประชากรทั้งหมด

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุในไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับประชากรในวัยอื่นๆ เพราะ “ประชากรเกิดใหม่ลดลง” จากจำนวนปีละ 1 ล้านคนในช่วง 40 ปีที่แล้ว (ช่วงระหว่างปี 2506-2526) ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 40-60 ปี เหลือเพียงปีละประมาณ 5-6 แสนคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ประชากรเกิดใหม่ลดลง แต่ประชากรไทยก็มีสถิติ “อายุยืนมากขึ้น” โดยเมื่อเทียบกับช่วง 30 ปีก่อน
โดยประชากรไทย “เพศชาย” เมื่อ 30 ปีก่อน มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 65.6 ปี แต่ในปัจจุยันประชากรเพศชายอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 72.2 ปี หรืออายุยืนขึ้นประมาณ 6 ปีเศษ
ในขณะที่ประชากรไทย “เพศหญิง” เมื่อ 30 ปีก่อน มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ และ 70.9 ปีแต่ในปัจจุบันประชากรเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ย 78.9 ปี หรือายุยืนขึ้นประมาณ 8 ปีเช่นกัน

สถานการณ์ความร้ายแรงจนถึงวิกฤติสังคมผู้สูงวัย นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากวิเคราะห์แนวโน้มในสังคมไทยในประชากรในอนาคตอีก พบว่า สตรีวัยเจริญพันธุ์ 15-44 ปี มีแนวโน้มลดลงจาก 14.20 ล้านคน ในปี 2560 ลดลงเหลือ11.81 ล้านคนในปี พ.ศ. 2580

ในปี พ.ศ. 2562 “วัยเด็ก” จากร้อยละ 17 แต่ในปี 2580 วัยเด็กจะ “ลดลง” เหลือร้อยละ 14.3
แต่ในขณะที่ พ.ศ. 2562 “ผู้สูงวัย” จากร้อยละ 17 แต่ในปี 2580 ผู้งสูงวัยจะ “เพิ่มขึ้น” เป็นร้อยละ 29.85[1]

ถ้าเทียบกับสังคมผู้สูงวัยในระดับใกล้เคียงที่ร้อยละ 29 ของประชากร ก็ต้องเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่นในปี 2565 ซึ่งพบว่าผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 มีสัดส่วนร้อยละ 29.1[2]

ปัญหาสังคมผู้สูงวัยในโมเดลของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าระดับโลก แต่กลับกลายเป็นสังคมที่เด็กเกิดใหม่น้อยสังคมคนรุ่นใหม่อยู่คนเดียวมากขึ้น เป็นโสดมากขึ้น ขาดแคลนแรงงานและวัยทำงานในประเทศ ค่าแรงเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 ปัญหาวิกฤติสังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ ผู้สูงวัย “ตั้งใจทำผิดกฎหมาย” เพราะอยากติดคุกมากขึ้น เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และนักโทษที่คอยดูแลผู้สูงวัยในคุก มีงานทำในคุก มีเพื่อนในคุก มีกิจกรรมให้ทำในคุก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ยอดผู้สูงวัยตายโดดเดี่ยวในบ้านเพิ่มมากขึ้น มีศพที่รอคิวเผาศพโดยเฉลี่ย 3-7 วัน ในขณะที่บ้านร้างทะยานพุ่งสูงขึ้น เพราะรัฐเพราะลูกหลานไม่ต้องการรับภาษีมรดกที่แพงมหาศาล[3]

งบประมาณแผ่นดินของญี่ปุ่นต้องมาใช้จ่ายด้านสุขภาพในประกันสังคมมากขึ้นภาครัฐต้องก่อหนี้สินเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลเพื่อดูแลผู้งวัย

โดยจากสถิติ 34 ประเทศในกลุ่ม “องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)” เมื่อปี 2557 พบว่าค่าเฉลี่ยการเกษียณอายุของประชากรเพศชายและเพศหญิงไม่เท่ากัน โดยเพศชายเกษียณที่อายุเฉลี่ย 65 ปี ในขณะที่เพศหญิงเกษียณที่อายุอยู่ที่ 63.5 ปี และมีแนวโน้มที่จะขยายอายุเกษียณมากขึ้น[4]

ความประหลาดของการเกษียณขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีความผิดปรกติแบบตรงกันข้ามกัน คือผู้ชายเกษียณอายุช้ากว่าผู้หญิง ทั้งๆ ที่ผู้หญิงอายุยืนกว่าและมีสุขภาพดีกว่าผู้ชาย

สำหรับประชากรไทยแม้จะมีการเกษียณที่อายุ 60 ปี มีอายุขัยยืนยาวขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของการมี “สุขภาพดี” ขยายออกไปมากขึ้นเช่นกัน

โดยเพศชายไทยมีค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีถึงประมาณ 68 ปี อายุขัยเฉลี่ยประมาณ 72.2 ปี แปลว่าช่วงเวลาผู้สูงวัยที่เป็นชายไทยเกษียณอายุ 60 ปี จะตกงานไปถึง 12ปี โดยแบ่งเป็นการตกงานหลังเกษียณอายุอย่างมีสุขภาพดี 8 ปี ก่อนที่จะสุขภาพไม่ดีไปอีก 4 ปีแล้วจึงก่อนเสียชีวิต

ในขณะที่เพศหญิงมีค่าเฉลี่ยการมีสุขภาพดีถึงประมาณ 74 ปี อายุขัยเฉลี่ยประมาณ78.9 ปี แปลว่าช่วงเวลาผู้สูงวัยที่เป็นหญิงไทยเกษียณอายุ 60 ปี จะตกงานไปถึง 18ปี โดยแบ่งเป็นการตกงานหลังเกษียณอายุอย่างมีสุขภาพดี 14 ปี ก่อนที่จะมีสุขภาพไม่ดีไปอีก 5 ปีก่อนเสียชีวิต[1]

 คำถามคือการทำให้ชายไทยที่ตกงานจากการเกษียณ 12 ปี ทั้งๆ ที่มีสุขภาพดีถึง 8 ปี หรือหญิงไทยที่ตกงานจากการเกษียณถึง 18 ปี ทั้งๆ ที่มีสุขภาพดีถึง 14 ปี นั้นเหมาะสมจริงหรือไม่


เราอาจจะต้องเริ่มคิดการวางแผนดูแลผู้สูงวัยให้มากขึ้นกว่าการเตรียมงบประมาณก่อหนี้สินเพื่อเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงวัยแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่?

โดยจากสภาพข้อเท็จจริงในปี 2564 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังคงทำงานมีประมาณ 1 ใน 3 โดยผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 78.3 มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี และ 1 ใน 3 ของผู้สูงวัยเป็นผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน อีกทั้งมีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท และประชาชนวัยทำงานมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น [1]

ดังนั้นผู้สูงวัยไทย ควรจะไม่ตกงานและมีงานทำนานขึ้นหรือไม่?

ผู้สูงวัยไทย ควรจะมีช่วงเวลาสุขภาพดีมากและนานขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาจากแอลกอฮอล์ บุหรี่ และ น้ำตาล การขาดการออกำลังกาย ควรจะเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่?

ผู้สูงวัยไทย ควรจะพึ่งพาตัวเองในครอบครัวมากขึ้นหรือไม่ ควรจะมีความรู้ในการใช้สมุนไพรบ้าน อาหารปลอดสารพิษในครอบครัว และควรจะมีดัชนีชี้วัดและแรงจูงใจที่พึ่งพาโรงพยาบาลน้อยลง พึ่งพายาต่างชาติน้อยลง หรือไม่?

 ประเทศไทยควรจะต้องเริ่มคิดและออกมาตรการช่วงชิงประชากรที่มีศักยภาพ และแรงงานที่มีทักษะเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ หรือไม่?

เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ได้เตรียมการรองรับสังคมผู้สูงวัย ไม่ให้เกิดสถานการณ์เลวร้ายเหมือนประเทศญี่ปุ่น โดยในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิสหภาพการค้าเกาหลีได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรของเกาหลีเพื่อขยายการเกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 65 ปีแล้ว[5]

โดยในขณะที่เกาหลีใต้ อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการขยายอายุการเกษียณในปัจจุบันจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ก็ยังได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจ้างงานแรงงานสูงวัย เพื่อเป็นอีกพลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก 610,000 ตำแหน่ง เป็น740,000 ตำแหน่ง และขยายเวลาจ้างงานชั่วคราวจาก 9 เดือน เป็น 12 เดือน

 พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการสำหรับ “บริษัทที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ” จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ เช่น มาตรการทางการเงินในการสนับสนุนค่าชดเชยเพิ่มขึ้นจาก 270,000 วอนต่อคน เป็น 300,000 วอนต่อคน มาตรการด้านภาษีลดภาษีให้บริษัท 4-12 ล้านวอนตามขนาดบริษัท[6]

รัฐบาลเกาหลีใต้ยังเตรียมเปิดตัวระบบวีซ่าด่วน (Fast-Track Visa System)อีกด้วย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือภายในประเทศ เนื่องจากเกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับอัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้วัยทำงานไม่มีเพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

นโยบายนี้ยังออกมาเพื่อให้ผู้ที่จบปริญญาโท และปริญญาเอกสายไอที โดยเฉพาะอีกด้วย โดยหากมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น จะได้รับสิทธิ์การแปลงสัญชาติได้ด้วย และยังได้เตรียมเพิ่มนโยบายวีซ่าสำหรับ  “ผู้ที่มีความสามารถในสายอุตสาหกรรมบันเทิงและวัฒนธรรม (Korean Wave Visa)” นอกจากนี้เด็กต่างชาติที่เรียนชั้นประถมศึกษาที่เกาหลี จะมีนโยบายจัดหาที่พักอาศัยถาวร พร้อมรับรองสถานภาพทางกฎหมายจนกว่าจะเรียนจบอีกด้วย และยังมีทุนมอบให้ชาวต่างชาติแบบฟรีๆโดยไม่ต้องใช้ทุนอีกด้วย[7]

ประเทศไทยได้เตรียมการในเรื่องเหล่านี้ ได้ทันเทียมกับประเทศเกาหลีใต้แล้วหรือยัง?

แม้ในวันนี้ประเทศไทยได้ให้นโยบายต่อข้าราชการบางส่วนเช่น ผู้พิพากษา หรือ ผู้บริหารในมหาวิทยาลัย แต่ประเทศไทยก็ควรจะเริ่มพิจารณาการขยายการเกษียณอายุไปที่ 65 ปี ทั้งระบบได้แล้วหรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง

[1] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ.2565-2580), พฤศจิกายน 2565
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13502
[2] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, วิกฤติผู้สูงวัยในญี่ปุ่น อยากติดคุกมากขึ้น ยอดตายโดดเดี่ยวในบ้านพุ่ง รอคิวเผาศพ 3-7 วัน บ้านร้างเพียบ บทเรียนเตือนประเทศไทยในอนาคต (ตอนที่ 2), ผู้จัดการออนไลน์, 25 สิงหาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000076818
[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, วิกฤติผู้สูงวัยในญี่ปุ่น อยากติดคุกมากขึ้น ยอดตายโดดเดี่ยวในบ้านพุ่ง รอคิวเผาศพ 3-7 วัน บ้านร้างเพียบ บทเรียนเตือนประเทศไทยในอนาคต (ตอนที่ 1), ผู้จัดการออนไลน์, 19 สิงหาคม 2566
https://mgronline.com/daily/detail/9660000074638
[4] Scott, John (25 June 2014), "Aging Australians Balk at World's Oldest Retirement Age". Jakarta: BeritaSatu Media Holdings. Archived from the original on 12 September 2014. Retrieved 10 March 2015.
https://www.bloomberg.com/news/articles/2014-06-24/aging-australians-balk-at-world-s-oldest-retirement-age#xj4y7vzkg
[5] Joyce Lee, Labour unions push to raise retirement age in greying South Korea, Reuters, August 29, 2023
https://www.reuters.com/business/labour-unions-push-raise-retirement-age-greying-south-korea-2023-08-29/
[6] SME Go Inter ธนาคารกรุงเทพ, แนะให้ดู ‘เกาหลีใต้’ มิติผู้สูงอายุที่คล้ายๆไทย, 22/01/2021
https://www.bangkokbanksme.com/en/study-of-the-south-korean-elderly-market
[7] พี่บีมบัน, ‘เกาหลีใต้’ เตรียมดึงดูดชาวต่างชาติ โอกาสคนทำงานสายวิทย์-ไอที& วัฒนธรรม-บันเทิง, เว็บไซต์ DekD, 14 กุมภาพันธ์ 2565
https://www.dek-d.com/studyabroad/59683/?fbclid=IwAR0tFPtZXn3Y816iuGbtHz_CrlYU-7bw-ScKys-8QuQqcKV0t9PHif71O0U


กำลังโหลดความคิดเห็น