"โสภณ องค์การณ์"
ดูแล้วคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” น่าจะลงตัวง่าย เพราะทุกฝ่ายพร้อมใจกันประคอง จะให้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้
และแน่นอนทุกฝ่ายของกลุ่มผลประโยชน์จะลงตัว ดังที่ได้เห็นภาพการพบปะระหว่างผู้นำรัฐบาลคนใหม่และกลุ่มนักธุรกิจในภาคต่างๆ รวมทั้งนายธนาคาร
แต่จะสวยงามราบรื่นสะดวกสบายไร้กังวลเช่นนั้นหรือ
ดูเผินๆ แล้ว ไม่คิดอะไรมากคงต้องบอกว่าจากนี้ไปการค้าการลงทุนการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะไปได้สวย
แต่ก็ใช่ว่าจะมีความราบรื่นไร้ปัญหาหรือไม่มีคำถามจากสังคมเมื่อเห็นงานเลี้ยงสำคัญที่มีกลุ่มนักธุรกิจมูลค่ารวมกันแล้วเป็นล้านๆ บาท มารวมตัวกัน
เลี้ยงอาหารเผื่ออิ่มท้องและอิ่มใจว่าผลประโยชน์ภาคเอกชนจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี แต่เมื่อเพ่งดูให้ดีจะยังขาดกลุ่มธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่หลายราย เช่น กลุ่ม “นายภูเขา” และ “นายอ่าว” ซึ่งทั้งคู่เป็นนายทุนใหญ่สนับสนุนแทบทุกพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล คงไม่ใช่ไม่ว่างที่จะมาร่วม แต่อาจเป็นเรื่องปีนเกลียวกันมากกว่า
กลุ่มเจ้าสัวรุ่นทายาทที่ปรากฏในงานก็มีผลประโยชน์ขัดแย้งทางธุรกิจกับสองกลุ่มที่ไม่มาร่วม แต่ละฝ่ายมั่นใจในพลังเสียงของรัฐบาลที่ตัวเองมีส่วนลงขันอุ้ม
ต้องรอดูว่าจากนี้ไปแต่ละฝ่ายจะออกฤทธิ์เดชแย่งชิงผลประโยชน์ผ่านสัมปทานและโครงการต่างๆที่รัฐบาลใหม่จะเร่งจัดการได้อย่างไร
หัวหน้ารัฐบาลจะต้องรับบทเป็นตัวประสานผลประโยชน์ให้ลงตัวเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของรัฐบาลที่หวังจะอยู่นาน
แม้แต่คณะรัฐมนตรีแต่ละคนที่จัดสรรมาน่าจะเป็นสายล่อฟ้าหลายคนซึ่งจะเป็นทั้งจุดอ่อนและตัวถ่วงให้รัฐบาลนี้ต้องเจอกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เบื้องหน้าเบื้องหลังของแต่ละคนมีปัญหาด้านจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ทั้งยังมีเรื่องอื้อฉาวและจะเป็นตัวสร้างวิกฤติด้านความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
ละพรรคร่วมรัฐบาลพยายามเอื้ออำนวยสำหรับกลุ่มต่างๆ ที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ซึ่งต้องให้ลงตัวและหวังผลตอบแทนคืนโดยเร็วจากการลงทุน
มีรัฐมนตรีซึ่งเชื่อว่านายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นคนเลือกมา แต่เป็นการจัดสรรเพื่อตอบแทนบุญคุณโดยเจ้าของพรรคซึ่งมองแล้วน่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำได้
เจ้าของพรรคเองยังต้องแก้ปัญหาของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องอาการเจ็บป่วยที่มีหลายกลุ่มต้องการตรวจสอบว่าอาการป่วยจริงและหนักหนาสาหัสแค่ไหน
ประเด็นนี้ก็จะเป็นปัญหาสำหรับหัวหน้ารัฐบาลคนใหม่ซึ่งได้ตำแหน่งมาโดยไม่คาดฝันเพราะคนเคยยึดอำนาจก่อนหน้านี้จัดสรรคืนมาให้กลุ่มเจ้าของพรรค
การแต่งตั้งรัฐมนตรียังดูผิดฝาผิดตัวมีหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์และฝีมือที่ไม่ได้รับการพิสูจน์เป็นการจัดการเพื่อสมประโยชน์สำหรับตัวแทนทุกกลุ่ม แสดงให้เห็นชัดเจนว่าหัวหน้ารัฐบาลไม่ได้มีอำนาจต่อรองในการคัดสรรผู้ที่จะมาร่วมบริหารประเทศตามรูปแบบที่ควรจะเป็น แต่ละพรรคก็มีวาระของตัวเอง
สิ่งที่ต้องเอาใจชาวบ้านอย่างเร่งด่วนคือการลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าแต่บางกลุ่มต้องการแก้ไขแล้วธรรมนูญเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ในการอยู่ยาว
จะเป็นการดูแคลนฝีมือการจัดการหรืออย่างไรก็ตาม พวกกูรูประเมินว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ได้ประมาณหนึ่งปีหรือนานกว่านั้นเล็กน้อยแต่บางกลุ่มที่เห็นท่าทางไม่สวยก็บอกว่าอยู่ได้เกินหกเดือนก็เก่งแล้ว
แน่นอนรัฐบาลจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นนับตั้งแต่วันแถลงนโยบายเพราะจะมีคนสงสัยเรื่องคุณสมบัติและความรู้ความสามารถเกี่ยวโยงกับความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นที่ประจักษ์
นายทุนกลุ่มผูกขาดธุรกิจคงหวังว่า รัฐบาลนี้จะอยู่ได้นานพอสมควรเพื่อที่จะได้เริ่มต้นโครงการใหม่ซึ่งรอมานานและเสริมฐานเดิมให้แข็งแกร่ง
กลุ่มทุนใหญ่เช่นพลังงาน คมนาคมจะสามารถ เลี่ยงการปะทะและความขัดแย้งในโครงการระดับอภิมหาโปรเจ็กต์ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าของพรรคแกนนำ
ตัวหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ก็เป็นสายล่อฟ้าเช่นเดียวกันเพราะจะต้องโดนลองของตั้งแต่วันแรก การเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในพฤติกรรมการบริหารธุรกิจจะยังคงมีต่อเนื่องและอาจนำไปสู่การสอบสวนโดยองค์กรต่างๆ และลามเป็นคดีอาญาได้เช่นกัน
ประเด็นนโยบายต่างประเทศจะเป็นจุดสำคัญสำหรับการขับเคี่ยวระหว่างชาติมหาอำนาจซึ่งต้องการกำหนดทิศทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมเพราะเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้
การกระตุ้นธุรกิจเพื่อการลงทุนและบริโภคจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบยั่งยืนกระจายไปทั่วทุกระดับของคนมีรายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วที่จะดำเนินไปได้
ที่จะมองข้ามไม่ได้ก็คือกลุ่มม็อบนอกสภาซึ่งมีหลากหลายและกลุ่มนักร้องที่จะสร้างความกดดันรัฐบาลอย่างแรง นี่จะเป็นการพิสูจน์ความคงทนต่อแรงเสียดทานของหัวหน้ารัฐบาลอย่างแท้จริง