xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติผู้สูงวัยในญี่ปุ่น อยากติดคุกมากขึ้น ยอดตายโดดเดี่ยวในบ้านพุ่ง รอคิวเผาศพ 3-7 วัน บ้านร้างเพียบ บทเรียนเตือนประเทศไทยในอนาคต (ตอนที่ 2) / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ปี 2562 นับเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีโดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2562 มีมากถึง11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน


รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในปี 2562 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ช้ามาก คือเพิ่มไม่ถึงร้อยละ 0.5 ต่อปี ต่างกับในอดีตเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ประชากรไทยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากคือเฉลี่ยกว่าร้อยละ 3 ต่อปี

อีก 3 ปีต่อมา ประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ในปี 2565 นั้น เพิ่มขึ้นมากเป็น12.1 ล้านคน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.5%

เมื่อเปรียบเทียบในปี 2565 ปีเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤติเหมือนประเทศญี่ปุ่น เพราะว่าผู้สูงวัยในญี่ปุ่นที่มีอายุมากกว่า 65 มีมากถึง 36 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.1

โดยประชากรไทยปี 2566 กว่าครึ่งประเทศ มีอายุตั้งแต่ 40 ปี 2 เดือน จัดเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีค่าอายุมัธยฐานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วโลก ที่มีค่าอายุมัธยฐานเพียง 30 ปี 5 เดือน

 สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุในไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับประชากรในวัยอื่นๆ เพราะ “ประชากรเกิดใหม่ลดลง” จากจำนวนปีละ 1 ล้านคนในช่วง 40 ปีที่แล้ว (ช่วงระหว่างปี 2506-2526) ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 40-60 ปี เหลือเพียงปีละประมาณ 5-6 แสนคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ประชากรเกิดใหม่ลดลง แต่ประชากรไทยก็มีสถิติ  “อายุยืนมากขึ้น” โดยเมื่อเทียบกับช่วง 30 ปีก่อน
โดยประชากรไทย  “เพศชาย” เมื่อ 30 ปีก่อน มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 65.6 ปี แต่ในปัจจุบันประชากรเพศชายอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 72.2 ปี หรืออายุยืนขึ้นประมาณ 6-7 ปี ในขณะที่ประชากรไทย  “เพศหญิง” เมื่อ 30 ปีก่อน มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ และ 70.9 ปีแต่ในปัจจุบันประชากรเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ย 78.9 ปี หรืออายุยืนขึ้นประมาณ 6-7 ปีเช่นกัน

อายุเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี เพศชายมีค่าประมาณ 68 ปี เพศหญิงมีค่าประมาณ74 ปี ซึ่งสถิติดังกล่าวนี้ ประเทศไทยก็ควรจะพิจารณาว่าการเกษียณอายุที่ 60 ปีแล้วทำให้ประชากรผู้สูงวัยทั้งที่มีสุขภาพดีต้องตกงานและไม่สามารถสร้างรายได้นั้น สมควรที่จะขยายเวลาการเกษียณอายุแล้วหรือไม่?

ประชากรที่เกิดใหม่มีสถิติลดน้อยลงฮวบฮาบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชากรไทยอายุยืนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยประชากรที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ได้กำลังสร้างปัญหาตามมาหลายด้าน เพราะไม่ใช่ปัญหาการขาดรายได้ของผู้สูงวัยที่ต้องการสนับสนุนงบประมาณของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานไม่ใช่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขาดแคลนแรงงานในภูมิภาคนี้ด้วย

โดยในปี 2562 มีประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นประเทศสังคมผู้สูงวัยแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย ตามาด้วยเมียนมาร์ โดยฟิลิปปินส์กัมพูชา และลาว จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศต่างๆ อาจส่งผลให้มีแนวโน้มแรงงานต่างด้าวในไทยจะกลับประเทศบ้านเกิดมากขึั้น และอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่พึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กลับเป็นโอกาสสำคัญในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่รองรับตลาดผู้สูงอายุที่จะขยายและเติบโตมากขึ้น อาทิ ธุรกิจบริการสุขภาพ บริการทางการแพทย์ ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ

แต่สิ่งที่กำลังจะตามมาหลังจากนี้ คือการแย่งชิงตลาดแรงงานที่มีทักษะสูง (Talent war) ที่จะเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีกำลังมาทดแทนแรงงานมากขึ้น เรามีวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้นที่จะทำให้ประชากรทั้งโลกมีอายุยืนมากขึ้นแต่ก็จะมีความเหลื่อมล้ำในโอกาสที่แตกต่างกันมากขึ้น ครอบครัวไม่มีบุตรและอยู่คนเดียวมีแนวโน้มมากขึ้น

เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มในสังคมไทยในประชากรในอนาคตพบว่า สตรีวัยเจริญพันธุ์15-44 ปี มีแนวโน้มลดลงจาก 14.20 ล้านคน ในปี 2560 ลดลงเหลือ 11.81 ล้านคนในปี 2580

ในปี พ.ศ. 2562  “วัยเด็ก” จากร้อยละ 17 แต่ในปี 2580 วัยเด็กจะ “ลดลง” เหลือร้อยละ 14.3

แต่ในขณะที่ พ.ศ. 2562  “ผู้สูงวัย” จากร้อยละ 17 แต่ในปี 2580 ผู้งสูงวัยจะ “เพิ่มขึ้น” เป็นร้อยละ 29.85 ซึ่งวิกฤติการณ์จะหนักกว่าประเทศญี่ปุ่นในวันนี้

และเมื่อผู้สูงวัยจำนวนมากมีระดับการศึกษาต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่ความเปราะบางในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ดังนั้นการศึกษาต่อเนื่องและการปรับตัวของผู้สูงวัยและผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงวัยจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมการด้วยแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้


โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานถึงแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่

1)การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและเลี้ยงบุตร 2)การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร 3)การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน 4)การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต 5)การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัย และ 6)การบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น

ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถดำเนินการโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งแต่หากจะต้องเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการไปในหลายมิติ โดยต้องอาศัยการบูรณาการหลายกระทรวง ตั้งแต่กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน กพ. ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศ

 การรณรงค์ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2515 ด้วยคำขวัญที่ว่า “มีลูกมากจะยากจน” ที่ประสบความสำเร็จ ได้สร้างปัญหาที่กำลังจะกลายเป็นวิกฤติที่ตามมาในอีก 50 ปีที่ผ่านมา และทำให้ค่าเฉลี่ยผู้หญิงไทย 1 คนมีลูกค่าเฉลี่ย 6 คน มาเหลือ 1-2 คนในยุคนี้ และสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคม ตลอดจนผู้หญิงมีการศึกษาที่มากขึ้นออกไปทำงานไม่ต่างจากผู้ชาย มีความต้องการที่เจริญเติบโตในหน้าที่การงานทำให้เห็นความจำเป็นในการแต่งงานและมีบุตรน้อยลง จนเกิดทัศนคติที่เชื่อว่า “มีลูกกวนตัว ไม่อยากมีผัวกวนใจ” มากขึ้นมาหลายปีแล้ว

ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ควรจะเป็นวาระแห่งชาติ ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่วิกฤติตามญี่ปุ่นโดยไร้หนทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรม

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ.2565-2580), พฤศจิกายน 2565
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13502




กำลังโหลดความคิดเห็น