xs
xsm
sm
md
lg

เป้าหมายแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ วาระซ่อนเร้นสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

หลังผลการเลือกตั้งจบลงด้วยชัยชนะของพรรคก้าวไกลอย่างเหนือความคาดหมาย แม้พวกเขาจะไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้และต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน แต่ดูเหมือนสิ่งที่พวกเขาเดินหน้าอย่างมีจุดมุ่งหมายทันทีคือการแก้รัฐธรรมนูญ และพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยก็ได้แถลงในการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลและออกแถลงการณ์ร่วมกัน มีสาระสำคัญว่า จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้ง สสร.


ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นความต้องการร่วมกันของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพียงแต่อาจจะมีจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายต่างกันเท่านั้นแน่นอนว่า ถ้าเราติดตามพรรคก้าวไกลอย่างใกล้ชิด พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1-2 นั่นเอง หมวด 1 ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ และหมวดสองว่าด้วยพระมหากษัตริย์

นั่นคือสิ่งที่พรรคก้าวไกล แนวร่วม และบรรดาพวกแบกส้มต้องการก็คือ การทำประชามติว่า สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ไม่เว้นแม้จะเป็นหมวด 1 และหมวด 2 เพราะพรรคก้าวไกลและแนวร่วมรู้ว่า อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่เชื่อว่า อีกฝ่ายจะไม่ยอมให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 อย่างแน่นอน

สำหรับหมวดที่ 1 รูปแบบของรัฐนั้น พวกเขาอาจจะมีจุดมุ่งหมายต่อรูปแบบของรัฐเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง เช่นว่า ความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อทำประชามติเรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ของนักศึกษากลุ่มหนึ่งภายหลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลซึ่งทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวัน จะแบ่งแยกมิได้และกลุ่มคนเหล่านั้นกำลังถูกดำเนินคดีและโยงใยมาถึงพรรคก้าวไกล หรือความมุ่งหมายที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีคนโต้แย้งว่า ทำไม่ได้เพราะจะทำให้รูปแบบของรัฐเปลี่ยนแปลงไปเป็นสหพันธรัฐ

อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐไม่สามารถทำได้แน่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 255 เขียนไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้

แต่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขานั้นน่าจะอยู่ที่หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เพราะสอดคล้องกับการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พรรคก้าวไกลให้การสนับสนุน โดย ปิยบุตร แสงกนกกุลแกนนำคนสำคัญเคยเสนอความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ไว้ดังนี้

1. กำหนดพระราชสถานะประมุขของรัฐ ศูนย์รวมจิตใจ และความเป็นกลางทางการเมือง

2. กำหนดพระราชอำนาจ ขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน

3. เปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

4. ยกเลิกองคมนตรี

5.เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ การเสนอพระนามองค์รัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

6. กำหนดให้พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่

7. กำหนดกรณีที่พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียใหม่ ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบ

8. กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ

9. ยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตําแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ให้คงไว้เพียงการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันได้แก่ รัฐมนตรี ตุลาการศาลยุติธรรม ผู้พิพากษา ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

10. ยกเลิกพระราชอำนาจในการยับยั้งการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของพรรคก้าวไกลที่เสนอโดยปิยบุตรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ปิยบุตรอ้างว่า นี่เป็นเสียงเรียกร้องของยุคสมัย เสียงเรียกร้องของคนหนุ่มสาวที่ไม่สามารถปฏิเสธได้แล้ว เป็น “ช้างในห้อง” แน่นอนว่า เสียงเรียกร้องของปิยบุตรนั้นไม่ได้ต่างกับเสียงเรียกร้องที่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านแถลงการณ์ ‘10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ในกิจกรรม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ’ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดังนี้

ข้อ 1 ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

ข้อ 2 ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

ข้อ 3 ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

ข้อ 4 ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อ 5 ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

ข้อ 6 ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

ข้อ 7 ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ข้อ 8 ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

ข้อ 9....

ข้อที่ 10 ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ข้อเสนอที่รุ้งปนัสยาเอามาอ่านบทเวทีนั้น เป็นข้อเสนอที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเสนอมาก่อนซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แล้วว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้นเป็นการ "ล้มล้างการปกครอง" ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า ข้อเสนอ 10 ข้อเป็นการล้มล้างการปกครอง ข้อเสนอของปิยบุตรแม้ว่าศาลจะยังไม่ได้ชี้ แต่เห็นแล้วว่า เนื้อหาก็มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ต่างกันกับข้อเสนอที่รุ้งปนัสยานำมาอ่านเลย

ข้อเสนอที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของแนวร่วมพรรคก้าวไกลอย่างไฮลอว์ที่กำลังล่ารายชื่อเพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยไม่ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 อาจจะได้รายชื่อผู้เสนอ 5หมื่นคนโดยไม่ยาก แต่เชื่อว่า ความมุ่งหวังที่แท้จริงของพวกเขาที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่มีวันเป็นจริง และไม่มีวันทำได้ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้แล้ว แต่สิ่งที่พวกเขามุ่งหวังตามมาก็คือ การเกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยพรรคก้าวไกลมักจะอ้างประชาชน 14 ล้านเสียงของพวกเขา ราวกับว่าประชาชน 14 ล้านคนจะต้องเห็นด้วยกับพวกเขาไปทุกเรื่อง และเหมือนกับว่า คนที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกลนั้นไม่ใช่ประชาชน

จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ผมเองก็เป็นฝ่ายลงประชามติ “ไม่รับ” เพราะไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ในความเป็นจริงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังหมดวาระลงแล้ว ดังนั้นเมื่อบทเฉพาะกาลหมดวาระลงแล้วก็ไม่เห็นเลยว่ารัฐธรนรมนูญฉบับนี้จะมีส่วนที่ไม่ดีตรงไหน จึงไม่เห็นความจำเป็นเลยที่จะต้องเร่งรีบเพื่อไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

แต่อาจเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยยังเกรงใจมวลชนของตัวเองที่ต้องการให้จับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยได้พยายามแล้วแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จึงหยิบยกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อต้องการจะเอาใจมวลชนที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยโดยประกาศจะผลักดันเข้าวาระทันทีที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่เดินไปตามเกมที่พรรคก้าวไกลและแนวร่วมเรียกร้องนั่นคือสามารถให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มีเป้าหมายซ่อนเร้นเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ได้กล่าวมา

ตอนนี้พรรคก้าวไกลและแนวร่วมมุ่งหวังมากที่จะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เพราะเชื่อว่ากระแสมวลชนและกาลเวลากำลังอยู่ข้างพวกเขา แต่ถ้าพวกเขาจะเดินหน้าอย่างนั้นไปจนสุดทางสิ่งที่จะตามมาก็คือการแตกแยกจนกลายเป็นความรุนแรงอีกครั้งอย่างแน่นอน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น