หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
วาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการนั้นนับว่าถูกใช้อย่างได้ผล แน่นอนว่าประชาธิปไตยความหมายมันก็คือประชาชนเป็นใหญ่อำนาจเป็นของประชาชน ส่วนเผด็จการคือระบอบที่ปกครองโดยผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้ความต้องการของคนส่วนใหญ่ย่อมจะต้องการประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ
ถ้าถามว่าเรามีการปกครองแบบเผด็จการไหม ถ้าเผด็จการมันหมายถึงการมีอำนาจของคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แม้จะเกิดเช่นนั้นจริงหลังการยึดอำนาจ แต่ถ้าพูดกันอย่างยอมรับความจริง เราแทบจะไม่สูญเสียเสรีภาพอะไรเลย แต่เอาเถอะถ้าจะเรียกว่า ภาวะแบบนั้นฝ่ายหนึ่งเป็นเผด็จการและฝ่ายที่ต่อต้านจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมันก็คงจะพอเรียกได้ แต่ต้องบอกว่า ถ้าเป็นฝ่ายเผด็จการรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหารก็เป็นเผด็จการที่หน่อมแน้มมากๆ
แล้วเมื่อเราผ่านการเลือกตั้งไปสองครั้งแล้วมันไม่มีฝ่ายไหนเป็นฝ่ายเผด็จการหลงเหลืออยู่แล้ว เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งโดยประชาชนที่หนึ่งคนหนึ่งเสียง ทุกพรรคการเมืองก็ย่อมจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน เพราะแข่งขันกันบนกติกาเดียวกัน และถ้าฝ่ายไหนชนะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องปกครองประเทศภายใต้กติกาเดียวกัน ถ้าพูดกันตามจริงแล้วมันไม่มีฝ่ายเผด็จการตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2562 แล้ว
แต่เพราะการตีตราฝ่ายหนึ่งว่าเป็นฝ่ายเผด็จการมันด้อยค่าฝ่ายตรงข้าม และคำว่าฝ่ายประชาธิปไตยมันยกชูฝ่ายตัวเองได้ คำสองคำนี้มันจึงถูกใช้เป็นวาทกรรมเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ชอบธรรมและอีกฝ่ายไม่มีความชอบธรรม แน่นอนตามความหมายของคำฝ่ายเผด็จการจึงถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่คนหนุ่มสาวด้วยแล้วพวกเขายิ่งจะชื่นชอบกับฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่า โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เพิ่งจะพ้นพันธนาการจากพ่อแม่ออกมารับผิดชอบตัวเองหรือเพิ่งออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ก็ย่อมตระหนักว่าอิสระเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่
ต้องยอมรับว่าการโหมประโคมของสื่อและความเชี่ยวชาญที่เหนือกว่าในการยึดครองโซเชียลมีเดียทำให้ฝ่ายหนึ่งเป็นเผด็จการที่ชั่วร้ายนั้นประสบผลสำเร็จจนสามารถครอบงำกระแสสังคมได้สำเร็จ ไม่มีใครชอบเผด็จการแน่ ปัจจัยและอุปสรรคอื่นๆในการบริหารประเทศไม่ว่าสถานการณ์โควิด สงคราม ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกฯลฯ ถูกมองข้ามไปหมด ทำให้ฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้สงครามข่าวสารอย่างสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่ต้องรับผิดชอบไปทั้งหมดก็คือความเป็นฝ่ายเผด็จการ
ใครๆ ก็เชื่ออย่างนั้นเพราะรับรู้และสอนกันว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดีที่สุดที่มนุษย์คิดค้นได้ ไม่มีใครเคยบอกว่าระบอบเผด็จการจะดีที่สุด แม้จีนจะประสบความสำเร็จจนขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำประชาชนอยู่ดีกินดี ก็ไม่น่าเชื่อถือเท่ากับประชาธิปไตยที่ตะวันตกยึดถือ
ดังนั้น แม้รัฐบาลประยุทธ์จะปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการมา 5 ปี และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 4 ปี ก็ถูกสร้างภาพเหมารวมว่าทั้ง 9 ปีที่รัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศว่าเป็นฝ่ายเผด็จการ ความเป็นฝ่ายเผด็จการที่ถูกนำมาตอกย้ำอย่างได้ผลทั้งจากฝ่ายสื่อมวลชนและปากของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงทำให้ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย และประชาชนจำนวนมากก็รับข่าวสารและมีความเชื่อเช่นนั้นตามไปด้วย
เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยที่มีเสียงต่างกัน 10 เสียง บรรดาสื่อและนักวิชาการต่างก็พูดกันว่า ประชาชนต้องการให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ถ้าผิดจากนี้ถือว่าฝ่าฝืนมติของมหาชน ถึงวันนี้เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศแยกตัวออกมาจัดตั้งรัฐบาลเพราะพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ก็เห็นนักวิชาการจำนวนมากพากันด่าทอพรรคเพื่อไทยกันใหญ่ว่า ทรยศต่อประชาชน จนทำให้สงสัยว่า ประชาชนในความหมายของนักวิชาการเหล่านั้นมันจำกัดอยู่แค่คนที่เลือกพรรคการเมืองบางพรรคเช่นนั้นหรือ
หรือว่าที่นักวิชาการบางคนพูดแบบนี้เพราะต้องการให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลและให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ เพราะตัวเองเป็นโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกลกันแน่ เพราะผมเห็นบรรดานักวิชาการพากันออกมาโจมตีพรรคเพื่อไทยอย่างหนักว่าทรยศต่อประชาชน ทั้งที่ในสนามเลือกตั้งนั้นพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยก็แข่งขันกันต่างฝ่ายต่างก็โชว์นโยบายและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตัวเอง ดังนั้นคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเขาก็อยากให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลไม่ใช่เหรอ เขาก็ต้องการนายกรัฐมนตรีที่เป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เหรอ แล้วอย่างนี้พรรคเพื่อไทยจะทรยศประชาชนตรงไหน หรือว่าคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ประชาชน
แล้วที่สำคัญพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเองไม่ใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้นพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับ 2 จึงมีความชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาล แล้วเมื่อรู้ว่าหากยังจับมือกับพรรคก้าวไกลก็จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะพรรคอื่นๆ เขาประกาศจะไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกล ถามว่าพรรคเพื่อไทยควรจะยืนยันที่จะจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลเช่นนั้นหรือ หรือพรรคเพื่อไทยทำถูกแล้วที่แยกตัวออกมาแล้วจับขั้วการเมืองใหม่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้
บอกตรงๆ ผมฟังนักวิชาการที่ออกมาสวมเสื้อคลุมของนักวิชาการแล้ววิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองมาก ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาเป็นโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกลและพูดในนามกองเชียร์ของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล,นางนันทนา นันทวโรภาส(ใครรู้ตัวว่าอยู่ฝ่ายนี้ก็เติมชื่อเอาเอง) ฯลฯ
ผมได้ยินนักวิชาการเหล่านี้ข่มขู่ว่า หากเป็นเช่นนี้ครั้งหน้าประชาชนจะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอีก ทั้งที่คนเหล่านั้นไปเลือกพรรคก้าวไกลตั้งแต่ครั้งนี้แล้ว เหมือนกับแท็กซี่รายหนึ่งที่ไปเล่นละครหน้าพรรคเพื่อไทยแต่สุดท้ายก็ถูกจับได้ว่าอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล คนเหล่านี้ทิ้งพรรคเพื่อไทยไปก่อนแล้ว ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยทิ้งพวกเขา
ส่วนตัวผมก็ไม่ได้ไว้ใจพรรคเพื่อไทยนักหรอกเพราะมีประสบการณ์ภายใต้รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ของทักษิณมาแล้ว สิ่งที่เราประสบคือการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลจนทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร แต่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและสนับสนุนคนที่ออกเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยข้อมูลเป็นเท็จและบิดเบือนจนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ผมคิดว่าคนในฝ่ายอนุรักษนิยมต่างคิดเหมือนกันว่า เขาสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจดีกว่าสนับสนุนพรรคก้าวไกล
อาจจะมีบางคนในฝ่ายอนุรักษ์ที่ยังเพ้อฝันว่า ยังอยากให้รัฐบาลลุงกลับมาอีก ก็ต้องยอมรับความจริงว่าโอกาสแบบนั้นไม่มีแล้ว หรือแม้ลุงอีกคนยังอยู่และยังปรารถนา แต่เราต้องให้เขารู้ระงับยับยั้งว่า หากลุงอีกคนขึ้นมาเป็นโอกาสครั้งหน้าฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะแพ้ย่อยยับมากกว่านี้ ลองคิดดูว่า 9 ปียังเป็นแบบนี้แล้ว 13 ปีจะแพ้ขนาดไหน
หากได้อำนาจแล้ววันหนึ่งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยไม่ยอมศึกษาบทเรียนและกลับมาใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลอีก ประชาชนก็มีความชอบธรรมที่จะออกมาขับไล่ ต่างกับพรรคก้าวไกลที่เรารู้ว่าแนวทางของพวกเขานั้นมีเป้าหมายที่ไปไกลกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อ้างว่าต้องปฏิรูป และอาจมีเป้าหมายที่ซ่อนเร้นกว่านั้นเพื่อทำประเทศไทยไม่ให้เหมือนเดิม หากพิจารณาจะท่าทีของแกนนำคนสำคัญสมาชิกพรรคของพวกเขาและมวลชนที่ออกมาเรียกร้องบนถนนที่พวกเขาหนุนหลังและให้ท้าย
ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าชะตากรรมของพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างที่บรรดานักวิชาการที่เป็นโหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกลว่าไว้หรือไม่ก็เป็นพรรคเพื่อไทยเองที่ต้องพิสูจน์สติปัญญาและความสามารถออกมาเพื่อซื้อใจประชาชนหากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
ข้อดีของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ถึงเวลาที่วาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการมันจะจบสิ้นเสียที พรรคการเมืองไหนจะมีแนวคิดอนุรักษนิยม เสรีนิยม หรือสังคมนิยมก็ว่ากันไป แต่ถึงตอนนี้บอกตรงๆ ว่าเหม็นเบื่อนักวิชาการที่สวมเสื้อคลุมสีส้มเหลือเกิน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan