เพื่อความอยู่รอดชาวสวนยางเพิ่มปศุสัตว์เพิ่มพืชอาหารในแผ่นดินสวนยาง..อย่าได้ผูกชีวิตไว้กับยางเพียงอย่างเดียว!
ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของโลกกลไกของราคาขึ้นหรือลงย่อมกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราโดยเฉพาะเกษตรที่มีชีวิตผูกห้อยไว้กับยางพาราเพียงอย่างเดียว! ปีนี้ พ.ศ.2566 ราคายางพาราเฉลี่ย 44-45 บาท เมื่อสิบปีที่แล้วในปี พ.ศ.2556 ราคายางพาราเฉลี่ย 74-75 บาท และเมื่อยี่สิบปีที่แล้วในปี พ.ศ.2546 ราคายางเฉลี่ย 105 บาท ผมเอาตัวเลขค่าเฉลี่ยนี้มาจากสถิติการยางแห่งประเทศไทยที่ได้สร้างระบบฐานข้อมูลเอาไว้ เมื่อวิเคราะห์ดูรายได้ชาวสวนยางเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเคยขายยางได้ในราคา 105 บาท
วันนี้เดือนสิงหาคม 2566 ราคายางแตกต่างกับปี 2546 ถึง 60 บาท!
บ้านเมืองเปลี่ยนไปค่าครองชีพสูงขึ้นค่าอาหารแพงขึ้นรายได้ในปีนี้ราคายางพาราห่างกับปี 2546 ถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม
กำลังซื้อหายไป..เงินออมชีวิตหายไป..ขีดความสามารถในการหารายได้ลดลงเพราะคนกรีดยางแก่ตัวลง
แล้วจะทำอย่างไรกันดี เพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการยังชีพ?
มาดูกำลังการผลิตยางพาราในระดับโลกกันบ้าง โลกใบนี้หลังสงครามโลกครั้งที่2เป็นต้นมา โลกพัฒนามาจนถึงวันนี้มีข้อมูลบอกเอาไว้ว่าทุกวันนี้โลกใบนี้ปลูกยางผลิตยางพาราได้ 14 ล้านตัน ประเทศไทยผลิตอันดับหนึ่ง อินโดนีเซียผลิตเป็นอันดับสอง เวียดนามอันดับสาม
แต่มีปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งมีพลานุภาพมากที่ทำให้ราคายางบนโลกใบนี้ไม่ขยับขึ้นมาเลยคือปรากฏการณ์ประเทศผู้ผลิตยางบนโลกนี้ที่ผลิตยางพาราต้นทุนถูกของประเทศไอวอรีโคสต์..ประเทศนี้อยู่ตรงไหน?
ไอวอรี่โคสต์หรือประเทศโกตดิวัวร์ อยู่ติดประเทศกานาและอยู่ในพื้นที่แนวเส้นศูนย์สูตรเดียวกับภาคใต้ของประเทศไทยสภาพอากาศเหมาะสมในการปลูกยาง ไอวอรีโคสต์ได้ผลิตยางแท่ง (STR) ส่งขายยังตลาดการบริโภคยางของโลกในปี 2564 ไอวอรีโคสต์ผลิตยางได้ 730,062 ตัน ในปี 2565 กำลังการผลิตยางพาราของไอวอรีโคสต์เพิ่มมาถึง 936,061 ตัน และในปี 2566 ไอวอรีโคสต์ตั้งเป้าผลิตยางพาราให้กับโลกใบนี้ที่ 1,350,000 ตันเพื่อแซงเวียดนาม ขณะที่ประเทศเวียดนามมีกำลังการผลิตที่นิ่งอยู่ที่ 1,142,000 ตัน รัฐบาลไอวอรีโคสต์เขาตั้งเป้าหมายและเป็นความจริงไปแล้วว่ากำลังการผลิตยางพาราได้แซงเวียดนาม เพื่อให้ไอวอรี่โคสต์อยู่ในประเทศอันดับสามที่ผลิตยางป้อน Supply ยางธรรมชาติให้กับประเทศผู้บริโภคและใช้ยางเพื่อทำล้อยางรถยนต์
มาดูค่าจ้างรายได้เปรียบเทียบกันระหว่างไทยกับไอวอรีโคสต์ ทำไม? ต้นทุนการผลิตยางพาราธรรมชาติประเทศนี้ต่ำมากเมื่อเทียบกับไทย ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนคนทำงานสวนยางในไอวอรี่โคสต์อยู่ที่ 4,400 บาทต่อเดือน มาดูค่าแรงของประเทศไทยอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน ผมถึงไม่แปลกใจที่นักธุรกิจอินเดีย มาเลเซีย ไปลงทุนซื้อยางในไอวอรีโคสต์และมีข้อมูลจากศุลกากรของไอวอรีโคสต์ระบุว่ายาง 85% ของการส่งออกจากไอวอรีโคสต์ส่งเข้ายังประเทศมาเลเซีย
ปรากฏการณ์การค้ายางของโลกบอกอะไรเราได้บ้างในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการค้ายาง!
ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ยางพาราผลิตมากในมาเลเซียอินโดนีเซียและเคลื่อนตัวขยายมาปลูกในไทยขยายไปยังเวียดนาม กัมพูชา ลาวและพม่า เพื่อแสวงหาการผลิตยางพาราในต้นทุนที่ถูก แสวงหาที่ดินประเทศที่ยังเปิดป่าใหม่ เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก!
ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไปบ้านเมืองของเราก็มีการพัฒนาต้นทุนการผลิตก็แพงขึ้นค่าครองชีพแพงขึ้น
แต่มีประเทศเกิดใหม่ในหมู่ประเทศที่ยากจนบนโลกต้นทุนถูกก็หันมาปลูกยางพาราไต่ระดับ ขยายกำลังการผลิตโดยเฉพาะการปลูกยางพาราในทวีปแอฟริกาที่ดินราคาถูกค่าแรงต่อเดือนในสวนยาง 4,400 บาทในไอวอรี่โคสต์
เวียดนามเคยขายยางในราคาที่ไม่แพง มาวันนี้ไอวอรีโคสต์ต้นทุนการผลิตยางธรรมชาติถูกกว่าเวียดนาม
แน่นอนผู้บริโภคยางธรรมชาติย่อมต้องการวัตถุดิบในราคาที่ถูกในวันที่เศรษฐกิจโลกถดถอย!
คำถามต่อมาคือราคายางก้อนถ้วย Cup Lump ที่อุบล อุดร หนองคาย ราคาเฉลี่ยในท้องถิ่น 20 บาทหรือ 5 กิโลร้อย!
ในวันที่โลกอุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย..
มีบริษัทผู้ผลิตล้อยางรถยนต์ใครบ้างบนโลกจะหาซื้อยางแพงมาผลิตทำเป็นล้อยางรถยนต์!
คำถามที่เราจะชวนผู้ที่เกี่ยวข้องขบคิดแล้วเราจะทำอย่างไรกันดีเพื่อให้พี่น้องชาวสวนยางอยู่รอดในแผ่นดินที่เรามีจำกัด!
“การเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย” คำตอบที่ง่ายและไม่ยุ่งยากต่อวิถีการผลิตของชาวสวนยางคือเพิ่มปศุสัตว์ในสวนยางให้วัวให้แพะให้แกะกินหญ้าวัชพืชเพื่อสร้างเป็นแหล่งเพิ่มรายได้เข้ามาในครอบครัว ขณะเดียวกันเพิ่มต้นไม้กินได้ เพิ่มพืชอาหารทุกชนิดที่เหมาะสมปลูกที่ใช้แดดน้อยปลูกแทรกไปในสวนยางเพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่าย
เส้นทางสายนี้อยู่ในหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เราสามารถทำได้ ด้วยปัญญาการผลิตที่ไม่ซับซ้อน คือ เพิ่มปศุสัตว์ในพื้นที่สวนยางเพราะทรัพยากรวัชพืช(ทองคำเขียว)ที่มีในสวนยางเรามีอาหารปศุสัตว์มากพอ!
ในเส้นทางพัฒนาการเศรษฐกิจได้สอนเราว่าอย่าได้แขวนชีวิตชาวสวนยางไว้กับยางเพียงเส้นเดียวในทางเศรษฐกิจ!!!
ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
หลักสูตรปริญญาเอกเศรษศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนา
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต