xs
xsm
sm
md
lg

พระพุทธรูปพระสยามพุทธาธิราช / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 นอกจากปีนี้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จะได้จัดทำเหรียญพระสยามพุทธาธิราช ทั้งแบบเหรียญเนื้อโลหะและเนื้อผงซึ่งมีพระสยามพุทธาธิราชอยู่ด้านหน้า และท้าวจตุโลกบาลอยู่ด้านหลังแล้ว ยังได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์พระสยามพุทธาธิราชบนฐานที่มีท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ทิศอยู่ด้านล่างอีกด้วย 

พระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ ปรากฏเรื่องราวอยู่ในชมพูบดีสูตรอันเป็นพระสุตตสังคหะบาลีนอกพระไตรปิฎก เป็นความเชื่อของฝ่ายเถรวาทในย่านอุษาคเนย์ ได้แก่พม่า มอญ ไทย เขมร ลาว

โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนิมิตพระองค์เป็นพระมหาจักรพรรดิปราบพญาชมพูบดีที่มารุกรานมคธประเทศ ซึ่งเมืองพุทธศาสนาของพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นกษัตริย์

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปราบพยศของพระเจ้าชมพูบดีสำเร็จแล้ว ต่อมาพระเจ้าชมพูดีจึงกลับใจยอมจำนนด้วยธรรม ออกบวชเป็นภิกษุพร้อมกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดและเสนาอํามาตย์และได้ส่งคนกลับไปยังเมืองปัญจาลนครเพื่อแจ้งแก่มเหสีและโอรส ซึ่งต่อมาเดินทางมายังเวฬุวนารามของพระพุทธเจ้าและได้บวชเช่นกันและล้วนบรรลุอรหันต์ทั้งสิ้น

ด้วยบุญบารมีแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ออกผนวชนละทิ้งการเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็จะยังจำเป็นต้องทรงนิมิตพระองค์เพื่อเป็นพระมหาจักรพรรดิเพื่อมาแสดงธรรมปราบกิเลสของผู้หลงผิดที่คิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ในเมืองพระพุทธศาสนา ให้กลายเป็นผู้เห็นแสงสว่างกลับใจมาออกบวชเพื่อปฏิบัติธรรมเพื่อความสงบสุขสันติเจริญรุ่งเรืองในธรรมของประเทศชาติ

พระสยามพุทธาธิราช ที่ได้จัดทำขึ้นนี้ ส่วนที่เป็นเหรียญพระที่เป็นเนื้อผงและเหรียญที่เป็นโลหะ โดยมีพระสยามพุทธาธิราชประทับอยู่ด้านหน้า และด้านหลังเป็นรูปพระพักตร์ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ผู้ทรงปกป้องรักษา พระสยามพุทธาธิราช ทั้ง ๔ ทิศได้แก่

 ท้าวเวสวัณผู้รักษาโลกด้านทิศเหนือทำหน้าที่ปกครองยักษ์

ท้าววิรุฬหกผู้รักษาโลกด้านทิศใต้ทำหน้าที่ปกครองกุมภัณฑ์

ท้าววิรูปักษ์ผู้รักษาโลกด้านทิศตะวันตกทำหน้าที่ปกครองนาค

ท้าวธตรฐผู้รักษาโลกด้านทิศตะวันออกทำหน้าที่ปกครองคนธรรพ์ 

เนื่องจากเป็นเหรียญโลหะ เหรียญเนื้อผง และ พระพุทธรูปที่ทรงเครื่องกษัตริย์ จึงได้ปรึกษาครูบาอาจารย์ และนักปราชญ์ ที่ตั้งรับทราบการตั้งจิตอธิษฐานของคุณสนธิลิ้มทองกุล และคณะที่จะจัดสร้างพระเพื่อนำรายได้ไปบำรุงพระพุทธศาสนาโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และบุญกุศลที่ได้ทำครั้งนี้อุทิศให้กับสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นอุดมการณ์ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะ

จึงได้ชื่อ “พระสยามพุทธาธิราช”  มีความหมายอันทรงพุทธานุภาพเพื่อคุ้มครองปกป้องพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน โดยมีท้าวจตุโลกบาลคุ้มครองพระสยามพุทธาธิราช ทั้ง ๔ ทิศ ทั่วดินแดนไทยกล่าวคือ

 คำว่า “สยาม” หมายถึง “สถาบันชาติ”

“พุทธา” หมายถึง “พระพุทธศาสนา” หรือ “สถาบันศาสนา” ซึ่งหมายถึงการคุ้มครองทุกศาสนาในสยามประเทศให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข


“อธิราช” หมายถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์”


เพื่อให้ ๓ สถาบันหลักของชาติ ดำรงคงมั่นโดยพิพัฒน์สถาพร ตราบจิรัฏฐิติกาลเทอญ ฯ 


โดยเมื่อเช้าวันอังคารที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (ซึ่งมีรูปท้าวจตุโลกบาลประทับอยู่บนจิตรกรรมฝาผนัง ๔ ทิศของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเช่นกัน) คุณสนธิ ลิ้มทองกุลและคณะได้ไปทำพิธีบวงสรวงใหญ่เพื่อขอพลานุภาพจากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ในเวลา ๐๖.๐๙ น. ณ ลัคนาสถิตย์ราศีกรกฎ ประกอบด้วยราชาฤกษ์ ได้นั่งหลับตาทำสมาธิตั้งมั่นด้วยจิตอธิษฐานที่มีพลังอย่างยิ่ง ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่สมควรแก่การบันทึกเป็นประวัติศาสตร์เอาไว้ในฤกษ์งามยามดี ๓ประการ

ประการแรก ในขณะที่ตั้งจิตอธิษฐานได้มีหมู่ผึ้งทั้งหลาย “จำนวนมาก” มาเกาะอยู่เต็มจานอาหารคาวหวานของเครื่องถวายสักการะอย่างหนาแน่นทั้งโต๊ะ อย่างที่ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน

ประการที่สอง ในขณะที่ตั้งจิตอธิษฐานจนหลังเสร็จพิธีแล้วได้ปรากฏภาพของสายรุ้งบังเกิดขึ้นพาดผ่านบนท้องฟ้าที่งดงามยิ่ง

ประการที่สาม ในระหว่างพิธีไม่มีฝนตกเลยแม้แต่หยดเดียว แต่เมื่อเสร็จพิธีก็ได้ปรากฏเหมือนละอองน้ำพรมมนต์จากฟากฟ้าแล้วหายไป


ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๑๙ น. ลัคนาสถิตย์ราศีกรกฎ ณบ้านพระอาทิตย์ ท้องฟ้าโปร่งไร้เมฆฝนตามคำอธิษฐานของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

คุณสนธิ ลิ้มทองกุลและคณะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ได้จัดทำพิธีพลีมวลสารผงพระเครื่องจำนวนมาก เพื่อเป็นเนื้อผงสำหรับนำไปจัดทำเหรียญพระสยามพุทธาธิราชโดยหลังจากจุดธูปบูชาหลังจากนั้นภิกษุสงฆ์ได้สวดชุมนุมเทวดาเพื่อให้เทวดาฟ้าดินได้รับรู้ และคุณสนธิ ลิ้มทองกุลถวายเครื่องสักการะบูชา

หลังจากนั้นสนธิ ลิ้มทองกุล ได้อธิษฐานจิตแล้วกล่าวว่า ขอกราบขมา องค์แทนพระพุทธเจ้า พระซุ้มกอ, พระรอดลำพูน, พระรอดคราบกรุดำ, พระสมเด็จเก่าบางขุนพรหม, หลวงปู่ทวดเนื้อว่าน, พระผงสุพรรณพิมพ์ใหญ่, พระนางพญา, จตุคามรามเทพ รุ่นยามเฝ้าแผ่นดิน, พระพุทธพิมพ์ สองสมเด็จ, สมเด็จก้านมะลิ, สิงห์งาแกะเขี้ยวแกะ หลวงพ่อเดิม, สมเด็จวัดปากน้ำ, สมเด็จพิมพ์สองหน้า และมวลสารมงคลอื่นๆ

ซึ่งวันนี้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ขออนุญาตย่อยสลายองค์แทนพระพุทธเจ้าเหล่านี้เพื่อจะนำวัตถุมงคลทั้งหมดไปบรรจุไว้ในเหรียญ “พระสยามพุทธาธิราช”ที่คุณสนธิลิ้มทองกุล และ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันสร้าง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ในการทำนุบำรุงพิทักษ์รักษา สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงสถาพรตลอดไป และเพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคล กับบุคคลทั้งหลาย ที่นำไปกราบไหว้บูชา

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ขออโหสิกรรมในองค์แทนพระพุทธเจ้า ขออย่าได้เป็นบาปกรรม ในการกระทำครั้งนี้ และขอให้ข้าพเจ้า มิตรสหาย และบริวาร มีความสุขสุขภาพแข็งแรง มีความเจริญ ยิ่งยิ่งขึ้นไปเทอญ

เมื่อได้ทุบพลีมวลสารครั้งแรกหลังภิกษุสงฆ์ และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ทำพิธีทุบพลีมวลสารได้ปรากฏพระอาทิตย์ทรงกลดขนาดใหญ่อยู่บนท้องฟ้าอย่างงดงามยิ่ง

หลังพลีมวลสารเสร็จได้ห่อผ้าจนแล้วเสร็จเก็บของเรียบร้อยจึงเกิดครึ้มฟ้าครึ้มฝนตามมา

สำหรับการออกแบบพระเหรียญเนื้อผง พระเหรียญโลหะ และพระพุทธรูปนั้น ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริ หนูแดง ผู้ชนะเลิศการออกแบบตราสัญลักษณ์ “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ ๙ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ปั้นพระพุทธรูปพระสยามพุทธาธิราชคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ อัครวัฒนาศิริ หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริ หนูแดง ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องการออกแบบเหรียญพระสยามพุทธาธิราชว่า

ในวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นั้น ท้าวจตุโลกบาลได้ปรากฏกายทั้งถวายบาตรทั้ง ๔ ทิศ โดยท้าวจตุโลกบาลได้ประกาศว่าจะเป็นเทพเทวดาที่ปกป้องพระพุทธศาสนา โดยมีคติความเชื่อว่าท้าวจตุโลกบาลก็จะผลัดกันมาดูแลปกป้องพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ


รูปของท้าวจตุโลกลบาลทั้ง ๔ ทิศออกแบบให้ไม่เหมือนกัน เพื่อแสดงถึงเครื่องเตือนใจในอิริยาบถในวิถีชีวิตต่างๆ เพื่อปฏิบัติธรรมตลอดเวลา เทพเทวดามีสไบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิบัติธรรมก่อนที่จะมาจุติเป็นเทพเทวดาทั้ง ๔ เพื่อมาคุ้มครองพระพุทธศาสนา

เทวดาทั้ง ๔ ทิศใช้ศิลปะที่ไม่เหมือนกันสำหรับ  “เทวาศิลป์” โดยท้าวเวสวัณผู้รักษาโลกด้านทิศเหนือ จะใช้ศิลปะล้านนาเข้าไปผสมผสาน ท้าววิรุฬหกผู้รักษาโลกด้านทิศใต้ได้ใช้ศิลปะศรีวิชัยมาผสมผสาน ในขณะที่ท้าววิรูปักษ์ผู้รักษาโลกด้านทิศตะวันตกได้ใช้ศิลปะทางยุโรปเป็นตัวแทนมาผสมผสานของโลกตะวัตก โดยที่ท้าวธตรฐผู้รักษาโลกด้านทิศตะวันออกได้ใช้ศิลปะทางจีนมาเป็นตัวแทนผสมผสานของโลกตะวันออก

สำหรับพระพุทธรูปบนเหรียญและพระพุทธรูปในมิติของ ”พุทธศิลป์” นั้นมีพระพักตร์และรูปร่างที่สมบูรณ์ เปรียบเสมือนความเป็นประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ในเมืองพระพุทธศาสนา โดยเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ เป็นศิลปะแบบไทย โดยนำดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ในพระพุทธศาสนามาใช้ในการออกแบบประดับ ส่วนกนกที่แขนนั้นแสดงถึงพระบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มีความงดงามและน่าศรัทธา โดยอยู่ในบุษบกตามแนวทางทีสอดรับไปในลักษณะที่สอดคล้องเชื่อมต่อไปกับรูปของเหรียญโลหะ และเหรียญเนื้อผง

การสร้างครั้งนี้ได้ผสมผสานกรรมวิธีแบบเก่าและแบบใหม่ โดยในส่วนของพระพุทธรูปนั้นได้แบ่งออกเป็นการหล่อโลหะในส่วนของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ในขณะที่องค์พระสยามพุทธาธิราชและบุษบกได้ใช้เทคนิคที่เป็นงานอัญมณีเนื่องจากต้องการความละเอียดระดับสูง

จึงเรียนมาเพื่อทราบและร่วมอนุโมทนาบุญ

 ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์





กำลังโหลดความคิดเห็น