xs
xsm
sm
md
lg

ใช้กฎหมู่แทนกฎหมาย : การทำลายกติกาสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



คนกับสัตว์เหมือนกันในความเป็นสิ่งมีชีวิต และเป็นสัตว์สังคมด้วยกัน แต่มีความต่างกันในการแสดงพฤติกรรมและโครงสร้างร่างกาย ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา และวิชาจริยศาสตร์

ตามคำสอนพุทธ ถือว่าคนเป็นสัตว์ประเสริฐ เนื่องจากมีจิตใจสูงกว่าสัตว์ จึงเรียกว่ามนุษย์ ซึ่งคำสนธิจากคำสองคำคือ มนะ แปลว่า ใจ และอุษย แปลว่า สูง และพุทธศาสนายังได้แบ่งมนุษย์ออกเป็น 4 ประเภทตามระดับของความมีคุณธรรมคือ

1. มนุสฺโส ได้แก่ ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งมีคุณธรรม และจริยธรรม ที่มนุษย์พึงมีเช่น ความกตัญญูรู้คุณคนที่มีอุปการะแก่ตนเอง และที่สำคัญคือ มีสัมมาทิฐิคือ รู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นต้น

2. มนุสฺสเทโว ได้แก่ คนที่มีภาวะจิตใจสูงกว่าปกติชนคนทั่วไปเช่น ขันติคือ ความอดทน ทมะคือ ความอดกลั้น และมีสัจจะทั้งเป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นที่ได้รับความทุกข์หรือที่เรียกว่า สมมติเทพ

3. มนุสฺสเปโต ได้แก่ คนที่มีความโลภครอบงำ เห็นแก่ตัว หิวกระหายอยากได้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงว่าการได้มานั้นชอบธรรมหรือไม่

4. มนุสฺสติรัจฉาโน ได้แก่ คนที่มีภาวะจิตใจต่ำกว่าปกติชนคนทั่วไป มีพฤติกรรมเยี่ยงสัตว์ โดยเฉพาะในการแสดงออกทางเพศไม่เลือกสถานที่ กาลเวลาและบุคคล แม้แต่ลูกตนเองก็กระทำ

ในด้านจริยศาสตร์ได้แบ่งความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ 2 ด้านคือ

1. ด้านโครงสร้างร่างกายคนสูงขึ้นในแนวดิ่ง ส่วนสัตว์มีโครงสร้างร่างกายยาวไปตามแนวนอน จึงได้ชื่อว่า เดรัจฉาน แปลว่า ไปทางขวาง ดังนั้น คำว่า คนขวางโลกก็หมายถึงคนประเภทนี้เอง

2. ด้านการแสดงพฤติกรรม คนแสดงพฤติกรรมภายใต้การควบคุมของความมีเหตุผล และความรู้สึกชั่วดี แต่สัตว์แสดงพฤติกรรมภายใต้การควบคุมของสัญชาตญาณ ดังนั้น คนที่ทำอะไรขาดเหตุผล และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีก็คือ มนุสฺสติรัจฉาโน ตามหลักพุทธนั่นเอง

ด้วยเหตุที่คนเป็นสัตว์สังคมคืออาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน หมู่บ้านจนกระทั่งรวมกันเป็นประเทศ จึงต้องมีคติสังคมได้แก่ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และกฎหมายเพื่อให้ทุกคนในสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

แต่ในคนหมู่มาก ย่อมมีทั้งคนที่คิดเหมือนกันและคิดต่างกัน และมีทั้งคนที่คิดดีและคิดไม่ดี

ดังนั้น ความต่างระหว่างคนที่คิดดี และคิดไม่ดีจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน ทั้งปัญหาการพูดและการกระทำ ด้วยเหตุนี้กติกาสังคมจึงต้องมีบทลงโทษคนที่พูดและทำไม่ดีก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่อยู่ร่วมกัน หนักเบา ตามลักษณะของการกระทำ และเจตนาในการกระทำนั้น

ในขณะนี้สังคมไทยโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ได้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อันเนื่องมาจากคนกลุ่มหนึ่งทั้งที่เป็นนักการเมือง และผู้สนับสนุนนักการเมืองมีความเห็นสุดโต่งในส่วนที่ต่างไปจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และต่างจากนักการเมืองส่วนใหญ่ บังเอิญนักการเมืองกลุ่มนี้ได้รับชัยชนะเหนือพรรคการเมืองอื่น แต่ก็ไม่มากพอที่จะเป็นรัฐบาล

จึงต้องรวบรวมนักการเมืองจากพรรคอื่นเข้ามาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงจุดหมาย เนื่องจาก ส.ว.ไม่โหวตให้จึงได้เดินสายชุมนุม กดดันให้ฝ่ายที่เห็นต่างกับตนยอมโหวตให้ โดยอ้างว่า พวกตนได้ฉันทมติจากประชาชนซึ่งเป็นการอ้างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. จำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือกไม่ถึงครึ่งของจำนวนรวม และคะแนนที่ได้รับถึงแม้จะมากกว่าพรรคอื่น แต่ก็ไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จะเรียกว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ จึงไม่เข้าข่ายชนะในเชิงปริมาณ

2. จากการแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ทั้งในด้านภาษา และเนื้อหาบ่งบอกชัดเจนว่าขาดวุฒิภาวะของผู้ที่จะมาเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งจะต้องเป็นแบบอย่างให้ผู้คนในสังคมยอมรับและถือเป็นตัวอย่างได้ จึงไม่เข้าข่ายชนะในเชิงคุณธรรม

ดังนั้น พฤติกรรมของนักการเมือง และแฟนคลับของนักการเมืองกลุ่มนี้ จึงเข้าข่ายใช้กฎหมู่แทนกฎหมาย และทำลายกติกาสังคมค่อนข้างชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น