xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก”(ตอนหก) “เพลโต” ส่งต่อ “อริสโตเติล”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อริสโตเติล
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
“นักปรัชญา” เห็นแก่ส่วนตัวน้อยกว่าผู้อื่น จึงเกิดปราชญ์ “โสเครตีส-เพลโต-อริสโตเติล”?
“เพลโต” บอกว่า “ชีวิตที่ดี” จะต้องดำเนินไปด้วย “เหตุผล” อีกทั้ง “รัฐ” จะต้องปกครองโดย “คนที่มีเหตุผล” เช่นกัน!

“คนที่มีเหตุผล” ของปราชญ์ “เพลโต” เน้นไปที่ “นักปรัชญา” เพราะ “นักปรัชญา” ใส่ใจกับความปรารถนา “ส่วนตัว” น้อยกว่าผู้อื่น ดังนั้นจึงเข้าใจได้ดีถึงภาระ “ส่วนรวม” รวมถึง“ความต้องการ” ของสังคม ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นเป็น “ราชาที่ดีที่สุด ”นั่นเอง

แต่เมื่อมองไปทั่วโลกนี้ หา “นายกฯ-ประธานาธิบดี-ราชา” ที่เป็น “นักปรัชญาผู้เก่งกาจ” ได้บ้างไหม?

ด้วยการเมืองเป็นเรื่องของการบริหาร ให้ได้มาซึ่ง “อำนาจ-เงินทอง-ทรัพย์สิน” จึงมีทั้งต้องเห็นแก่ตัวกับพวกพ้อง ต้องโหดเหี้ยมเลือดเย็น พร้อมส่ง “รอยยิ้ม” พร้อม “ชักมีด” เพื่อ “ฆ่า” คนสนิทกับศัตรูอย่างไม่ยี่หระ ตามสูตร “ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร”..จริงไหม?

แหม..ก็ “การเมือง” เป็นเรื่องของ “ผลประโยชน์” ไม่ใช่เรื่องวิชาการแบบ “ปรัชญา” นี่หว่า..!
คราวนี้มาศึกษาคำพูด “เพลโต” เพื่อเสริมเติมปัญญากันดีกว่า..

“ปรัชญาคือดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” เป็นมุมมองอย่างลึกซึ้งของ “เพลโต” ต่อ “ดนตรี” ในขณะที่มอง “ความตาย” ว่า “ความตายไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสามารถเกิดขึ้นได้ของมนุษย์” อันเป็นฉากทัศน์ของ “เพลโต” ที่เกิดกับครู “โสเครตีส” ผู้ซึ่งละทิ้งทรัพย์สมบัติกับชีวิตอย่างไร้ใยดี เพื่อให้เกิด “ปรัชญาแท้จริง” เผยแพร่สู่ “มนุษย์”
“เพลโต” บอกสั้นๆ ว่า “ไม่มีสิ่งใดของมนุษย์ที่มีความสำคัญอย่างจริงจัง” และ “ความโง่เขลาคือรากเหง้าของความชั่วร้ายทั้งมวล”

“เพลโต” ยังได้บอกไว้อีกว่า “คนฉลาดพูด เพราะมีบางสิ่งที่ต้องพูด คนโง่พูด เพราะจำต้องพูดบางสิ่ง”

“ภายในหนึ่งชั่วโมงของการละเล่นกัน เจ้าจะรู้จักคนๆหนึ่ง ได้มากกว่าการคุยกันหนึ่งปี” และยืนยันว่า “ไม่อาจมีความชั่วร้ายใดเกิดขึ้นกับคนดีได้ ไม่ว่าในชีวิตนี้หรือเมื่อตายไปแล้ว”

อืม..คนดีจริงจะเปลี่ยนเป็นคนชั่วไม่ได้แน่!

ปราชญ์ “เพลโต” บอกอีกว่า “คำโกหกไม่ใช่เป็นแค่ความชั่วในตัวมันเองเท่านั้น แต่มันยังทำให้จิตใจเจ้าติดเชื้อร้ายของมันด้วย” และ..

“การออกกำลังกายไม่มีผลเสียต่อร่างกาย แม้เมื่อถูกบังคับ แต่ความรู้หากถูกบังคับ มันไม่อาจคงอยู่กับเจ้าได้”

“เพลโต” ยังพูดให้สติว่า “ทุกสิ่งที่ถูกมองว่าน่าหลงใหล คือสิ่งหลอกลวง”!

เพราะ.. “ความมั่งคั่งเป็นบ่อเกิดของความฟุ่มเฟือยและความเกียจคร้าน ความยากจนเป็นบ่อเกิดของความเห็นแก่ตัวและความชั่วร้าย ทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พึงรังเกียจ”!

สำหรับการเรียนรู้.. “เพลโต” สรุปว่า “ทิศทางการเรียนรู้ คือ เส้นทางชีวิตในอนาคต”
แต่ทางการเมือง “เพลโต” มีมุมมองว่า “มนุษย์ย่อมมีวีรบุรุษในใจของตนเสมอ และบ่มเพาะให้มันเติบใหญ่ นี่คือที่มาประการเดียวของทรราช เพราะเมื่อเขา(วีรบุรุษในใจ)ปรากฎตัวขึ้นมา เขาจะมาในฐานะผู้คุ้มครองในอันดับแรก”

ปราชญ์ “เพลโต” ได้ระบุว่า “จิตวิญญาณของมนุษย์ย่อมเป็นอมตะและไม่อาจดับสิ้นได้”
อืม.. “โสเครตีส” ได้ถ่ายทอด “ความรู้-ความดี” อันทรงคุณค่า ทั้งความรู้-ความกตัญญู-ความดี สู่ศิษย์เอก “เพลโต” ได้ครบถ้วน สมเป็น “นักปรัชญาแท้จริง” เสมือน “เพชร” แห่ง “ชาวกรีก” และ “ชาวโลก”

คราวนี้มาดูว่า “เพลโต”ถ่ายทอดความรู้ สู่ศิษย์เอกนักปรัชญา “อริสโตเติล” ผู้ก่อตั้งตรรกศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ชีววิทยา-การวิพากษ์-วรรณกรรมคลาสสิคกรีก ฯลฯ ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ อธิบายมุมมองเป้าหมายปลายทาง วัตถุประสงค์ของสิ่งต่างๆ ศึกษาถึงมนุษย์มีความเข้าใจในวัตถุแต่ละประเภทเช่นไรบ้าง ฯลฯ

“อริสโตเติล” เกิดที่ “สตากิรุส” เมืองขึ้นของกรีกบนชายฝั่งเทรส เขาเกิดหลัง “โสเครตีส” ตายไปแล้ว14 ปี บิดาเป็นแพทย์ราชสำนักของ “กษัตริย์มาเซดอน” แม้บิดาจะเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก แต่เขาก็ยังมีความสัมพันธ์ที่สำคัญ และยาวนานกับราชสำนักมาเซโดเนีย

เมื่ออายุ 17 ปี “อริสโตเติล” ถูกส่งไปเรียนที่กรุงเอเธนส์ ที่นั่นเขาได้รับการศึกษาอย่างดี โดยมี “เพลโต” เป็นครูผู้ใกล้ชิด “อริสโตเติล” หาความรู้อยู่ที่ “ดิ อะคาเดมี” สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงของ “เพลโต” ยาวนานต่อเนื่องถึง 20 ปี ช่วงท้ายๆ ของการเล่าเรียน “อริสโตเติล” ได้กลายเป็นผู้บรรยายที่สถาบันนี้ด้วย วิชาที่สอนส่วนใหญ่คือศิลปะการพูดและการเขียน
“เพลโต” ไม่ได้เป็นแค่เพื่อนที่เด่นดังคนเดียวของ “อริสโตเติล” เพราะ “อริสโตเติล” ยังมีลูกศิษย์อายุ 13 ปีคนหนึ่ง นั่นคือ “เจ้าชายอเล็กซานเดอร์” ซึ่งต่อมาได้รับขนานพระนามว่า “อเล็กซานเดอร์มหาราช”!
หลังจาก “เพลโต” เสียชีวิต “อริสโตเติล” ไม่ได้สืบทอดหน้าที่ผู้นำของ “ดิ อะคาเดมี” ต่อจาก “เพลโต” แม้ว่าเขาจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะความคิดของ “อริสโตเติล” แตกต่างจากแนวคิดของ “เพลโต” มากเกินไปนั่นเอง!
ต่อมา.. ภายหลังการสิ้นชีวิตอย่างกะทันหันของ “อเล็กซานเดอร์” รวมทั้งการขจัดรัฐบาลที่นิยมฝ่ายมาเซโดเนียออกไปในปี 323 ก่อนคริสตกาล “อริสโตเติล” ถูกชนชั้นปกครองกล่าวหาว่า “ลบหลู่พระเจ้า”
“อริสโตเติล” จำใจต้องหลบหนีออกจากกรุงเอเธนส์ เพื่อไม่ให้กรณีซ้ำรอยการเสียชีวิตของ “โสเครตีส” โดยได้บอกกับลูกศิษย์ว่า “เขาไม่ต้องการเห็นบาปที่ก่อกับนักปรัชญาเป็นครั้งที่สอง” หลังจากนั้นอีกเพียงปีเดียว “อริสโตเติล” ก็เสียชีวิตที่ “คาสซิส”

ปราชญ์ “อริสโตเติล” ไม่เพียงเป็น “นักปรัชญา” ที่ทำให้ชาติตะวันตกเกิดวิวัฒนาการทางความคิดเท่านั้น แต่นับเวลาเป็นพันปี ที่ “อริสโตเติล” เป็นผู้กำหนดขอบเขตสิ่งเหล่านี้ไว้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แท้ที่จริงแล้ว “อารยธรรมตะวันตก” ก็คือ “ความคิดของอริสโตเติล” อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นเช่นนั้นมาจวบจนศตวรรษที่ 17
เอาล่ะ..คราวนี้มาดู “มรดกความรู้” จาก “อริสโตเติล”กัน..
สำหรับ “อริสโตเติล” แล้ว “สสาร” และ “รูปแบบ” เป็นสองสิ่งที่ “เป็นจริง”! ยกตัวอย่างกรณีของ “แม่วัวที่ชื่อเบสซี” สำหรับ “เพลโต” ถือว่า.. มี “รูปแบบ” ในระดับจักรวาล(สากล)อยู่แล้ว ว่า“รูปแบบ” ของ “ความเป็นวัว” เป็นอย่างใด ฉะนั้น.. “แม่วัวที่ชื่อเบสซี” ที่เราเห็นกันอยู่ จึงไม่ใช่ “ของจริง” ในความคิดของ “เพลโต” หากเป็นแค่ “สำเนา” เท่านั้น

แต่ “อริสโตเติล” คิดต่างออกไป กล่าวคือ “อริสโตเติล” มองว่า “สสาร”(ตัวแม่วัวเบสซี)คือความเป็นไปได้ ส่วน “รูปแบบ” นั้นเป็น “ของจริง” ฉะนั้น..ในขณะที่ “รูปแบบ” ในระดับสากลของความเป็นวัว จะอยู่แยกออกจากตัวแม่วัวเบสซี แต่มันไม่ได้แยกออกจากความเป็น “ของจริง”

อีกนัยหนึ่งก็คือ “รูปแบบ” ของ “ความเป็นวัว” ไม่ได้มีอยู่ใน“โลกของรูปแบบ” แต่มีอยู่ในตัวแม่วัวเบสซีเอง!
เฮ้อ..เรื่องของ “อริสโตเติล” เบื้องแรกมีทั้งน่าสนุกตื่นเต้นหวาดเสียว ความเหมือนและแตกต่างทางความคิด ทั้งของ“โสเครตีส”สู่“เพลโต” ต่อเนื่องมายัง“อริสโตเติล” ทำให้วิถีแห่ง“ปรัชญา” มีทั้งความจริงที่ถูก “ยืนยัน” และก้าวที่ “พัฒนาเพิ่มขึ้น” เรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งส่งต่อมายัง “นักปรัชญารุ่นใหม่” ในยุคนี้อีกด้วย
ปราชญ์ทุกคนล้วนอยากให้ “การเมืองอยู่ในมือคนดี” โดยเฉพาะขอยกคำพูด “เพลโต” อีกครั้ง.. ที่ว่า..
“เมื่อคนดีเพิกเฉยต่อกิจการส่วนรวม บทเรียนที่เขาจะได้คือการถูกปกครองด้วยคนเลว”!
แหม.. ชาวไทยไม่เคยเพิกเฉยต่อการปกป้อง ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ ตลอดมาเลยนะ!
แต่ทำไม?.. ประชาชนไทยจึงยังคงซวยซ้ำซากตลอดมา ถูกปกครองด้วยคนเลวเสมอ? แม้จะลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอำนาจอธรรม จนบาดเจ็บล้มตาย “ผู้นำชาติ” มักฉวยโอกาสยึดอำนาจรัฐ ไปกอบโกยผลประโยชน์สารพัด เข้าตัวเองและพวกพ้อง มิได้ใช้อำนาจรัฐเปื้อนเลือด ทำเพื่อชาติกับประชาชนเลยว่ะ..จริงไหม?

“โสเครตีส” จึงพูดถึง “ผู้มีอำนาจชั่ว” ว่า “จงปล่อยให้ผู้ที่กล่าวว่าจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนตัวเองเสียก่อน”!

“โสเครตีส-เพลโต-อริสโตเตล” ตายไปนานแล้ว! มาถึง “บิลเกตส์” อภิมหาเศรษฐียุคดิจิทอล ในยุคเดียวกับ “นายกฯ ตู่” ผู้ยิ่งใหญ่ บุรุษที่ “ไม่ทำตามคำพูด”!

“บิ๊กตู่” ไม่เคยปรับเปลี่ยน “ตัวเอง”! “คำพูดเขา” เป็นเพียง “ลมปากเน่าเหม็น” เท่านั้น..!

โถ.. “รัฐบาลสามปอ” น่าเบื่อเผื่อใจเป็นดั่ง “ตะวันใกล้ลับฟ้า”..ในไม่ช้านี้..!



กำลังโหลดความคิดเห็น