นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com
ในบางกรณีศาลต่างประเทศอาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในคดีที่มีคนไทยหรือผู้อยู่ในประเทศไทยเป็นจำเลย โดยเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศนั้น ซึ่งโดยหลักแล้วคดีนั้นๆ จะต้องมีจุดเกาะเกี่ยวบางประการกับประเทศนั้น เช่น ศาลอังกฤษอาจรับฟ้องคดีที่บุคคลสัญญาติอังกฤษเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลอังกฤษ
การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีแนวปฏิบัติในทางสากลว่า ประเทศหนึ่งอาจยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศโดยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนระหว่างกัน หรือโดยความตกลงระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงระหว่างประเทศอังกฤษกับกลุ่มประเทศในอาณานิคมของอังกฤษ
สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่านั้น และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น ปัจจุบันอาจถือเป็นหลักทั่วไปได้ว่า ศาลไทยจะไม่ยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม คู่ความตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศอาจนำมูลหนี้เดิมตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่ตนชนะคดีมาฟ้องเป็นคดีแพ่งใหม่ในประเทศไทยได้ โดยอาศัยคำพิพากษาศาลต่างประเทศมานำสืบต่อศาลไทยในฐานะพยานหลักฐานหรือหลักฐานแห่งหนี้ที่น่าเชื่อถืออย่างหนึ่งในคดีก็ได้
แต่ในกรณีที่เป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศ กลับสามารถนำมาร้องขอต่อศาลไทยให้บังคับตามคำขี้ขาดนั้นได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 หากเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับของสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ดังนั้น คู่สัญญาระหว่างประเทศที่ประสงค์จะให้มีการบังคับคดีระหว่างประเทศกันได้ ก็อาจเลือกทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการระหว่างกันไว้ในสัญญา