xs
xsm
sm
md
lg

ใบสะเดา ในตำรับยาอายุวัฒนะในตำรายาหลวง / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 การที่ยาลม ๓๐๐ จำพวก ได้ถูกกำหนดโดยประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร)ให้เป็น “ตำรับยาแผนไทยของชาติ” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นตำรับยา ๑ ใน ๑๑๑ ตำรับยาที่สำคัญของพระคัมภีร์ไกษย ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ ร.ศ. ๑๒๖ ซึ่งเป็นตำรายาหลวง สมัยรัชกาลที่ ๕ อันประกอบด้วย ๑๐ พระคัมภีร์ รวมทั้งสิ้น ๖๗๒ ตำรับ [๑]

ทั้งนี้ สำหรับการประกาศให้ยาลม ๓๐๐ จำพวก เป็นตำรับยาแผนไทยของชาตินั้นได้อาศัยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ [๑] ซึ่งมีความหมายตามที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา ๑๗ ว่า “ตำรับยาลม ๓๐๐จำพวก” นี้ เป็นตำรับยาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศด้วยเพราะ  “มีการใช้ประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ”[๒] 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” นั้นเป็น  “ตำรับยาสุดท้าย” ที่อยู่ในพระคัมภีร์ไกษยนั้นไม่เพียงแสดงถึงคุณค่าและความสำคัญในฐานะ “ตำรับยาปิดท้าย” ของพระคัมภีร์ไกษยเท่านั้น แต่ตำรับนี้มีความหมายเป็น “ยาอายุวัฒนะ” อีกด้วย[๓] โดยได้มีการบรรยายสรรพคุณเอาไว้ว่า

“แก้ลมอันเกิดแต่เท้าให้เท้าตายมือตาย และแก้ลมริศดวงก็หายสิ้นแล ให้รับประทานเท่าผลสมอแก้ลม ๓๐๐ จำพวกก็หายแล ถ้ารับประทานได้ ๗ วัน เสียงดังจักกระจั่นเรไร ถ้ารับประทาน ๑๕ วัน เสียงนกการะเวก ถ้ารับประทานได้นานๆ เสียงดังหงษ์ทองอยู่ในถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ารับประทานถึงเดือน ๑ เรียนพระไตรปิฎก๘๔,๐๐๐ จบ คาถาปัญญาสว่าง ปราศจากพยาธิ ๕๐๐ จำพวกก็หายสิ้นแล ถ้ารับประทานถึง ๖ เดือน จักษุสว่างทั้ง ๒ ข้าง รับประทานถึง ๗ เดือน รู้กำเนิดเทวดาในชั้นฟ้า รับประทานถึง ๘ เดือน พระเวสสุวรรณลงมาสู่เราแล รับประทานถึง ๙ เดือนอายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล ตำรานี้ท่านคิดปฤษณาได้ อย่าได้สนเท่ห์เลย ถ้าได้พบให้ทำกินจำเริญอาหารด้วยแล”[๓]

เมื่อทดสอบการดูดซับอนุมูอิสระในตำรับยานี้พบว่า ตำรับยานี้ออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระติดอันดับโลกแล้ว[๔] ยังมีสรรพคุณในการขับลมในทางเดินอาหารและขับลมในเส้น, ขับถ่ายพิษในระบบทางเดินอาหาร และขับถ่ายระบายเสมหะ และบำรุงธาตุ บำรุงน้ำดี ดับพิษโลหิต ช่วยย่อยอาหารพวกไขมันอีกด้วย[๕] ฯลฯ

แต่ถึงกระนั้นงานวิจัยยุคใหม่ๆที่ทำการศึกษาสารสำคัญของ  “เครื่องยา” ที่มีอยู่ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ ก็น่าจะทำการรวบรวมสำหรับการอ้างอิงในทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในฐานะเป็นยาแผนไทยของชาติที่มีการใช้ประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ

โดยตำรับยานี้ มีเครื่องยาเป็นสมุนไพรมากถึง ๒๑ ชนิด จึงถือเป็นตำรับยาขนานใหญ่ โดยมี  ใบสะเดา  เป็น ๑ ใน ยาหลัก เพราะมีสัดส่วนของน้ำหนักยามากที่สุดอันดับแรกถึงร้อยละ ๒๓.๖๘๓

“ใบสะเดา” (Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton) รสขม ทั้งนี้สะเดาได้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัช ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบุว่า

 “สะเดา นั้นมีรสอันขมฝาดเย็น ใบ, กระทำให้ระมัดระวังในท้อง บำรุงเพลิงธาตุ,ทำให้อาหารงวด ดอก, แก้พิษโลหิตอันบังเกิดแต่กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอให้คันดุจพยาธิ์ไต่อยู่ ผล, แก้ลมหทัยวาตแลลมสัตถกวาตแลลมอันบังเกิดแต่กองปิตตสมุฏฐาน เปลือก, แก้บิดมูกเลือด กะพี้, แก้ดีแก้บ้าอันเพ้อคลั่ง แก่น, แก้ลมอันกระทำให้คลื่นเหียนอาเจียนแลลมอันผูกกลัดทวาร ราก, แก้เสมหะอันเปนสนับ(ก้อน) อยูภายในท้อง แลแก้เสมหะอันติดอยู่ในลำคอให้ตก”[๖]

โดยนักวิจัยในห้องปฏิบัติทางการแพทย์จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เคยทบทวนและรวบรวมสรรพคุณของสะเดาจากงานวิจัยเอาไว้ในวารสารทางการแพทย์เสริมและการแพทย์ทางเลือกชื่อ  Hindawi ซึ่งได้ตีพิมพ์เอาไว้เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม๒๕๕๙ โดยสรุปความสรรพคุณของสะเดาจากงานวิจัยและทดลองมีหลายประการ[๗] ดังเช่น

“รักษาโรคเบาหวาน, แก้ไข้มาลาเรีย , ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส, ต้านการอักเสบ, ปกป้องการการทำงานของตับ, ต้านความเป็นพิษต่อไต, สมานแผล, จัดความสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน, ต้านอนุมูลอิสระ, และยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง” [๗]

โดยเฉพาะความสามารถในการต้านมะเร็งนั้นได้มีงานวิจัยอธิบายได้ถึงกลไลในระดับยีนที่จะช่วยทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของมะเร็ง เพิ่มการทำงานของยีนที่จะช่วยยับยั้งมะเร็ง เพิ่มกระบวนการทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตายลง หยุดยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ของเซลล์มะเร็งด้วย [๗]


นอกจากนั้นแล้วผลการรวบรวมการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ยังพบสรรพคุณในสารสกัดในสะเดา อีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณที่น่าสนใจเช่น ช่วยลดภาวะกรดในกระเพาะอาหาร[๘], รักษาแผลเยื่อบุลำไส้เล็ก[๘], รักษาแผลในหลอดอาหารและแผลในกระเพาะอาหาร[๘], รักษาสะเก็ดเงิน [๙]
สรรพคุณของสะเดาตามงานวิจัยข้างต้นนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่เคยเผยแพร่การรวบรวมข้อมูลของแนวหน้าและกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอโดยปรากฏในเว็บไซต์ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในบทความเรื่อง  “สะเดา หวานเป็นลม ขมเป็นยา” โดยได้รวบรวมสรรพคุณทางยาของเฉพาะ “ใบสะเดา” ไว้ ดังนี้

สรรพคุณทางยาของสะเดา 

๑.ดีท็อกซ์สารพิษตกค้างในร่างกาย 
ใบสะเดาเมื่อนำมาต้มในน้ำร้อน ใช้จิบอย่างน้อยวันละครั้ง ล้างพิษในกระแสเลือด กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น

๒.รักษาโรคผิวหนัง สารเกดูนิน (Gedunin) และ นิมโบลิดี (Nimbolide) ิในใบและเมล็ดมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อไวรัสสูง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราตามเท้า เล็บมือ เล็บเท้า กลาก-เกลื้อน หิด เริม แผลจากโรคสะเก็ดเงิน(เชื้อแบคทีเรีย) หัด ลมพิษ ผดผื่นคัน หูด และอีสุกอีใส

 ๓.แก้ไข้มาเลเรีย 
สารเคมีกลุ่มลิโมนอยด์ (Limonoids) ได้แก่ สารเกดูนิน และ นิมโบลิดี ในใบและเมล็ดสะเดา สามารถยับยั้งเชื้อฟัลซิปารัม (P.Falciparum) ซึ่งเป็นเชื้อไข้มาลาเรียดื้อยาชนิดหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ๔.รักษาโรคไขข้อ ขอบใบสะเดา เมล็ดสะเดา และเปลือกต้น
เป็นส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคไขข้อได้ โดยช่วยลดอาการปวด บวมในข้อ ซึ่งอาจนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ทาในบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และอาการปวดหลังช่วงล่างหรือนำใบมาต้มเป็นน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการของโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคกระดูกพรุน

 ๕.ช่วยย่อยอาหาร
ใบสะเดาสามารถนำมาทำเป็นเมนูเรียกน้ำย่อยได้ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำดี ช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น อีกทั้งน้ำดีที่ถูกกระตุ้นสร้างออกมานั้นจะช่วยย่อยอาหารประเภทไขมันได้ดีขึ้นด้วย

 ๖.บำรุงสุขภาพช่องปาก
บำรุงเหงือกและฟัน นิยมนำมาสกัดเป็นส่วนผสมในยาสีฟันทั่วไป ช่วยรักษาโรครำมะนาด โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคเหงือก และลดอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

 ๗.ลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอก
และมะเร็ง มีผลวิจัยบางชิ้นเผยว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) และสารลิโมนอยด์ (Limonoids) ที่พบในเปลือก ใบ และผลสะเดา มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอก และมะเร็ง

 ๘.บำรุงข้อต่อ
สะเดาช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย

 ๙.ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
โดยจะยับยั้งการผลิตอินซูลินได้กว่าร้อยละ ๕๐ และยังช่วยปรับสมดุลความอยากอาหาร

 ๑๐.ดีท็อกซ์สารพิษในกระแสเลือด
ทำให้มีปริมาณเลือดดีหมุนเวียนในร่างกายมากขึ้น

 ๑๑.ต้านมะเร็ง
สารพอลิแซ็กคาไรด์และสารลิโมนอยด์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย

 ๑๒.ลดการติดเชื้อราในช่องคลอด


 ๑๓.บำรุงหัวใจ
ผลของต้นสะเดา หากนำมาต้ม ใช้จิบอย่างน้อยวันละครั้ง มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นปกติ[๑๐]

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าตำรับยาอายุวัฒนะขนานนี้จึงใช้สะเดาเป็น ๑ ในยาหลักและสิ่งที่ง่ายไปกว่านั้นใบสะเดาเป็นอาหารพื้นบ้านของไทยที่หาได้ไม่ยากด้วย

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง

[๑] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การประกาศกําหนดตําราการแพทย์แผนไทยของชาติและตํารับยาแผนไทยของชาติ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๐, วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๗๑ ง หน้า ๙ https://www.dtam.moph.go.th/images/document/law/National_Texts_2560-13.PDF

[๒] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่ม ๑๑๖, ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า๔๙ - ๖๙, (หน้า ๕๔) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF

[๓] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๕๘๐-๕๘๑

[๔] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก, Fanpage ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ๑๖ธันวาคม ๒๕๖๔, และ MgrOnline, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4786591008067497/ https://mgronline.com/daily/detail/9640000124643

[๕] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๓) : รสยาและสรรพคุณเภสัชไทย, เฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔, และ MGR Online, วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4841690625890868/ https://mgronline.com/daily/detail/9640000129525

[๖] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๓๖๖

[๗] Mohammad A. Alzohairy, Therapeutics Role of Azadirachta indica (Neem) and Their Active Constituents in Diseases Prevention and Treatment, Hindawi Publishing Corporation Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine, Volume 2016 |Article ID 7382506 | Accepted 11 January 2016 https://doi.org/10.1155/2016/7382506 / https://downloads.hindawi.com/journals/ecam/2016/7382506.pdf

[๘] U. Bandyopadhyay, K. Biswas, A. Sengupta et al., “Clinical studies on the effect of Neem (Azadirachta indica) bark extract on gastric secretion and gastroduodenal ulcer,” Life Sciences, vol. 75, no. 24, pp. 2867–2878, 2004.

[๙] S. S. Pandey, A. K. Jha, and V. Kaur, “Aqueous extract of neem leaves in treatment of Psoriasis vulgaris,” Indian Journal of Dermatology, Venereology and Leprology, vol. 60, no. 2, pp. 63– 67, 1994.

[๑๐] แนวหน้าและกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, เรื่องน่ารู้ “สะเดา” หวานเป็นขม ขมเป็นยา”,เว็บไซต์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.rama.mahidol.ac.th/patient_care/th/health_issue/06082015-1153-th


กำลังโหลดความคิดเห็น