xs
xsm
sm
md
lg

ความชอบธรรมใต้อำนาจของส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผมต้องเขียนบทความนี้ก่อน เนื่องจากมีภารกิจในช่วงกลางวันของวันพฤหัสบดีที่ผมอาจจะยืดเวลาปิดต้นฉบับไปได้ และกว่าจะลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็น่าจะเป็นช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีแล้ว ดังนั้นผมจึงไม่สามารถรอได้ และกว่าบทความนี้จะตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม เราก็คงรู้ผลการโหวตนายกรัฐมนตรีไปแล้ว

ซึ่งผมฟันธงว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จะไม่ได้รับเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งของเสียงในรัฐสภา ดังนั้น พิธาจึงไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ส่วนกระบวนการเลือกใหม่ครั้งที่ 2 ที่กำหนดไว้ในวันที่ 19 กรกฎาคมนั้นจะเสนอชื่อพิธามาโหวตอีกรอบก็ได้ แต่ผมคิดว่าไม่ควรทำเพราะมันจะได้ผลเช่นเดิม ควรจะได้พรรคอันดับ 2 มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสนอแคนดิเดตคนใหม่ให้รัฐสภาพิจารณา

ผมมั่นใจเช่นนั้นเพราะผมเช็กเสียง ส.ว.ที่จะลงมติให้พิธานั้นยังมีน้อยมากไม่เพียงพอกับที่ต้องการอีกประมาณ 60 กว่าเสียงเพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

ส่วนจะทำแบบที่อาจารย์พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กองเชียร์คนสำคัญของพรรคก้าวไกลแนะนำว่าต้องโหวตไปกี่ครั้งก็ได้จนกว่าจะชนะนั้น ถามว่า การกระทำเช่นนั้นมีความชอบธรรมจริงๆ หรือ และถามว่ามันส่งผลดีต่อประเทศหรือผลเสียมากกว่ากัน

ดูเหมือนสิ่งที่พิธาพยายามจะพูดก็คือ ส.ว.ต้องเคารพมติของประชาชน เลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 โดยอ้างว่าเพื่อทำให้ประชาธิปไตยกลับมาสู่ระบบปกติ โดยลืมไปว่า ประชาชน 15 ล้านคนได้ลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภาเป็นเวลา 5 ปีนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

กติกาที่เขียนขึ้นนี้จึงมีความชอบธรรมและเป็นกลไกปกติเพราะมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ออกมาลงประชามติ ส.ว.ทุกคนจึงมีความชอบธรรมที่จะใช้สิทธิ์ของตนพิจารณาว่าจะลงมติให้ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดย ส.ว.จะต้องตระหนักและไตร่ตรองว่า บุคคลที่จะลงมติโหวตให้นั้นจะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองไปได้หรือไม่ และจะทำให้สถาบันหลักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงหรือไม่

ส.ว.มีความชอบธรรมที่จะไม่สนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลที่จะมีเป้าหมายจะเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ และเปลี่ยนประเทศไทยที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุขไปให้ไม่เหมือนเดิมหรืออาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนในชาติ

รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้ ส.ว.เป็นเพียงตรายางที่ไม่ต้องใช้ความคิดสติปัญญาและวิจารณญาณของตัวเอง และมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาลงมติให้คนที่ได้รับการเสนอชื่อที่เห็นว่าสอดคล้องกับแนวทางและอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเท่ากับไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้ปฏิญาณไว้ เป็นเพียงหุ่นยนต์ที่ไม่มีจิตวิญญาณ

รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่า พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แคนดิเดตของพรรคการเมืองพรรคนั้นจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ และในระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศ ก็เคยปรากฏว่า พรรคอันดับ 1 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เช่น การเลือกตั้งในนิวซีแลนด์เมื่อปี 2017 ที่พรรคอันดับ 2 และได้รับการสนับสนุนจากพรรคอันดับ 3 และ 4 ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

หรือการเลือกตั้งในไอร์แลนด์ปี 2020 พรรคอันดับ 1 ที่ชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคอันดับ 2 จับมือกับพรรคอันดับอื่นสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ดังนั้นเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่อย่างที่พิธาพยายามอ้างเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว

สิ่งสำคัญคือ ต้องพิจารณาว่านโยบายของพรรคการเมืองพรรคนั้น จะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน โดยเฉพาะการประกาศว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราที่จะคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6

แม้ว่า มาตรา 112 จะแก้ไขได้เหมือนกับกฎหมายทุกฉบับ แต่การแก้ไขต้องยึดหลักการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติเอาไว้ และเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่า “มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตราดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 45 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ (มาตรา 34 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น…”

แต่ถ้าเราพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เราจะเห็นว่า พวกเขามุ่งหมายที่จะลดพระราชสถานะที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ลงอย่างมาก เพราะพวกเขามุ่งหวังจะทลายเพดานของสังคมไทยลงมา และเป็นการเปิดทางไปสู่เป้าหมายซ่อนเร้นที่ไปไกลกว่านั้น

พวกเขายังมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองโดยยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคลงที่ทำให้แต่ละจังหวัดกลายสภาพเป็นรัฐ มีการเลือกตั้งที่มีสภาพคล้ายกับรัฐบาลท้องถิ่นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกมิได้

หรือเราได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่มีเป้าหมายไปสู่การแบ่งแยกดินแดนของพวกที่เรียก 3 จังหวัดใต้และ 4 อำเภอในสงขลาว่ารัฐปาตานี ทั้งที่แผ่นดินตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย รวมถึงการเคลื่อนไหวของพวกก่อการล้านนาใหม่รวมไปถึงการเรียกร้องให้เปลี่ยนวันชาติและการปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกทางชาติพันธุ์ของคนในชาติ

เรายอมรับว่าพรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จากประชาชน 14 ล้านเสียง แต่ต้องตระหนักว่าประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 52 ล้านคน แม้จะมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 39 ล้านคน ก็ไม่อาจคิดว่า 14 ล้านเสียงเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศไปได้ เพราะมีคนที่มาเลือกตั้งอีก 25 ล้านคนต้องการคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจะบอกว่า ส.ว.ต้องตัดสินใจตามมติมหาชนก็คงไม่ได้ ส.ว.จึงมีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลพินิจของตัวเอง และกติกานี้ก็เป็นกติกาที่รับรู้กันอยู่แล้วไม่ใช่เขียนขึ้นมาใหม่หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1

แล้วหาก ส.ว.เลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีจบแล้ว ไม่ใช่ว่าหน้าที่ของ ส.ว.จะจบไป แต่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ตัวเองลงมติเลือกมาด้วยเช่นเดียวกับ ส.ส.ทุกคน ถ้าหากบุคคลที่ได้รับเลือกมานั้นทำความเสียหายให้กับประเทศ คนที่ลงมือเลือกมาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นเดียวกัน ยกเว้นเราคิดว่า ส.ว.เป็นเพียงฝักถั่วที่เราไม่ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ

ถามว่า หากพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะเกิดความวุ่นวายไหมก็ต้องตอบว่า อาจจะมีคนที่ไม่พอใจออกมาชุมนุม แต่เราก็ต้องแก้ปัญหานั้นด้วยกลไกของกฎหมาย ถ้าการชุมนุมนั้นเป็นการใช้สิทธิ์ที่ชอบธรรมและอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเราก็ต้องยอมให้เขาชุมนุมไป เพราะนี่เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าใช้ความรุนแรงรัฐก็มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจที่กฎหมายให้ไว้

ส.ว.อย่าไปหวั่นไหวต่อปัจจัยรอบข้างอื่น สำนึกและความรับผิดชอบที่จะตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องยึดมั่นเป็นที่สุด

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น