นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com
การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการในศาลไทยได้แล้วนับตั้งแต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อปี 2558 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น การดำเนินคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก มีความยุ่งยากซับซ้อนและเกิดภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก เพราะโดยหลักทั่วไปของคดีแพ่งนั้น คำพิพากษาของศาลจะผูกพันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น ในทางปฏิบัติ ผู้เสียหายแต่ละรายจึงต้องเป็นโจทก์ไปยื่นฟ้องคดีเองแยกกันเป็นหลายๆ คดี หรืออย่างมากก็อาจรวมตัวกันไปฟ้องเป็นคดีแพ่งสามัญเท่าที่สามารถจับกลุ่มกันได้ ซึ่งทั้งสองกรณีก็จะเกิดข้อยุ่งยากและเป็นปัญหาในทางปฏิบัติทั้งฝ่ายคู่ความและศาล
สำหรับการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามกฎหมายไทย คือ การดำเนินคดีโดยกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของสมาชิกกลุ่มบุคคลนั้น
ในการเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องร้องขออนุญาตต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มเสียก่อน โดยคดีที่จะสามารถร้องขออนุญาตได้ คือ คดีละเมิด คดีผิดสัญญา หรือคดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ คำขอบังคับตามคำฟ้องจะต้องระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ แต่ไม่จำเป็นต้องแสดงจำนวนเงินที่สมาชิกกลุ่มแต่ละรายจะได้รับ
ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีลักษณะข้างต้น กลุ่มบุคคลที่จะดำเนินคดีมีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันชัดเจนเพียงพอให้รู้ได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลใด และมีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินคดีตามปกติจะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก และการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่า และข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ โจทก์เองก็ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ และโจทก์รวมทั้งทนายความที่โจทก์เสนอสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม
เมื่อศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะส่งคำบอกกล่าวคำสั่งอนุญาตดังกล่าวพร้อมรายละเอียดให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบ และประกาศทางหนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อหรือวิธีการอื่นใดเพิ่มเติมตามที่ศาลเห็นสมควร โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแจ้งความประสงค์ขอออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำบอกกล่าวและประกาศข้างต้น หากสมาชิกกลุ่มไม่แจ้งความประสงค์ภายในกำหนดเวลา ก็จะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มไม่ได้ในภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ส่วนบุคคลที่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มแล้ว จะร้องขอกลับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอีกไม่ได้
สำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ โดยศาลจะรับฟังพยานหลักฐานอื่นนอกเหนือจากพยานหลักฐานของคู่ความก็ได้ หรืออาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นก็ได้
คำพิพากษาของศาลในคดีแบบกลุ่มต่างคดีแพ่งสามัญตรงที่มีผลเป็นการผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่ม และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์จะมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแทนสมาชิกกลุ่มอีกด้วย โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิขอรับชำระหนี้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีตามส่วนนี้ด้วยตนเอง
จะเห็นได้ว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้น เป็นกระบวนการยุติธรรมที่สามารถช่วยเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่มักจะมีผู้เสียหายร่วมกันจำนวนมากในเหตุอย่างเดียวกันดังที่มักจะปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอๆ เช่น คดีที่เกิดจากการที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหุ้นกู้ คดีเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่กระทำความผิดฐานสร้างราคาหลักทรัพย์หรือใช้ข้อมูลภายใน เป็นต้น ซึ่งผู้เสียหายสามารถเลือกดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อประโยชน์ร่วมกันได้แบบเบ็ดเสร็จในคดีเดียวกัน โดยเสียค่าขึ้นศาลตามคำขอบังคับเฉพาะในส่วนของโจทก์ผู้เริ่มคดีเท่านั้น