xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องของ “ปรัชญาตะวันตก”(ตอนสอง) “โสเครตีส” ผู้ไม่กลัว “ความตาย”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โสเครตีส
“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

“โสเครตีส” หรือ “โสกราตีส” นักปรัชญาผู้กล้า “ตาย” เพื่อประกาศ “ปรัชญา” กระหึ่มใจมนุษย์..

เรื่องราวของ“ ยอดนักปรัชญา” นาม “โสเครตีส” นั้น น่าสนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งน่าชื่นชมยกย่องสรรเสริญ ชนิดมิมีวันลืมเลือน ด้วยนักปรัชญาผู้นี้ ทุ่มเทในหลักปรัชญาด้วยใจจริง และยอมสละ “ชีวิตตัวเอง” ทั้งๆ ที่ “โสเครตีส” มีโอกาสจะหลบหนีภัยจาก “ผู้มีอำนาจ” ที่ใช้กฎหมายตัดสินลงโทษประหารชีวิต “โสเครตีส” ด้วยยาพิษ..

มาส่องกล้องมองบุคคลที่ชาวโลกยอมรับ ยกให้เป็น “บิดาผู้ก่อตั้งปรัชญาตะวันตก” ที่ตรวจสอบทุกแง่มุมชีวิตของชาวกรีกโบราณ จนนำ “อันตราย” มาสู่ชีวิต “ตัวเอง”..

“โสเครตีส” เป็นนักปรัชญาชาวกรีก เกิด ณ กรุงเอเธนส์ ราว 470 ปีก่อนคริสตกาล บิดาเป็นช่างสลักหิน มารดาเป็นหมอตำแย “โสเครตีส” หน้าตาอัปลักษณ์ รูปร่างอ้วน เตี้ย ศีรษะเถิก จมูกหัก ไว้หนวดเครายาว มักสวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆสกปรก ทำให้เขาดูเหมือนกุลีชั้นต่ำมากกว่านักปราชญ์

“โสเครตีส” เคยเป็นช่างสลักหินเช่นเดียวกับบิดา ในสมัยหลังๆ มีการนำรูปปั้นบางชิ้นมาแสดงที่อโครโปลิสในกรุงเอเธนส์ กล่าวกันว่า เป็นผลงานของ “โสเครตีส” อ๊ะ! เพิ่งรู้ว่า “โสเครตีส” เป็น “ศิลปิน” กับเขาด้วย! ว้าว!!..

ต่อมา..“โสเครตีส” ได้ละทิ้งอาชีพช่างสลักหิน เพราะเชื่อว่า “เทพเจ้า” ได้มอบภารกิจยิ่งใหญ่ให้กับเขา นั่นคือ “การรักษาความดีของมนุษย์ยิ่งกว่าชีวิต”!

ด้วยเหตุนี้..“โสเครตีส ”จึงยึดหลักการให้ความรู้แก่ผู้คน กระทั่งมีลูกศิษย์มากมายเป็นที่เลื่องลือไปทั่วกรุงเอเธนส์

แม้ “ความคิด-ความจริง” จะเป็นอันตรายต่อตัว “โสเครตีส” เพราะมีคนให้ร้ายป้ายสีด้วยข้อหาร้ายแรง จน “ผู้มีอำนาจ” ในกรุงเอเธนส์จองจำ “โสเครตีส” ไว้ในคุก สุดท้ายต้องโทษประหารชีวิต

ทว่า..“โสเครตีส” ก็มิได้หวาดกลัวต่อความตายที่กำลังมาถึง แม้เหล่าลูกศิษย์ที่มาเยี่ยม ต่างอาสาจะพา “โสเครตีส” หนี แต่ “อาจารย์โสฯ” กลับปฏิเสธลูกศิษย์ ประกาศยินดีจะตาย แต่ไม่ยอมละทิ้งการเผยแพร่ความรู้ทางปรัชญา โดย “โสเครตีส” ยังคงพร่ำสอนลูกศิษย์ทั้งหลาย จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

“โสเครตีส ”ยืดอกยืนผงาด “ดื่มยาพิษ” ประจานความชั่วร้ายของ“ ผู้มีอำนาจ” ให้ประชาชนทั้งในกรุงเอเธนส์และชาวโลก เทใจยอมรับ “ปราชญ์หัวใจสิงห์” ผู้มีทั้งความรู้-ความดี-ความกล้า ฯลฯ เจ้าของสมญาอมตะนิรันดร์กาลว่า “โสเครตีส-บิดาผู้ก่อตั้งปรัชญาตะวันตก”..

“พลตรี กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” ได้เขียนไว้ในคำนิยมของหนังสือ “โสกราตีส” สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญ และสมาธิทางปัญญาไว้ดังนี้..

“ในขณะที่จะต้องตายอยู่แล้ว โสกราตีส ยังอภิปรายปัญหาข้อปรัชญาได้อย่างใจเย็น แสดงให้เห็นว่า เป็นนักปรัชญาโดยแท้ ใครเลยจะนึกว่าในขณะนั้น โสกราตีสจะอภิปรายถึงเรื่องความรู้ว่า เป็นความระลึกได้ หรือถึงเรื่องโลกกลม.. นี่เป็นการสังสนทนาทางปรัชญา ฉะนั้นต้องใช้วิจารณญาณจึงจะเข้าใจได้ถนัด..”

ชีวิตจริงของ “โสเครตีส” ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ ในห้วงที่เป็น “ทหารกรีก” ไปรบในสงคราม “เพโลพอนนีเซียน” ระหว่าง “เอเธนส์” กับ “สปาร์ตา” ศึกครั้งนั้น “โสเครตีส” ได้รับความดีความชอบ ในเรื่องของการอดทนกับความลำบากของร่างกาย และความกล้าหาญของเขาเอง โดยเฉพาะเมื่อตอนที่ “โสเครตีส” สามารถช่วยชีวิต Alcibiades นายพลที่ชาวเอเธนส์เคารพนับถือไว้ได้

หลังสงคราม “โสเครตีส” กลับสู่กรุงเอเธนส์ ก็ได้สร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในฐานะ “นักปรัชญา” หรือ “ผู้รักในความรู้” โดยเขาเป็นผู้กล่าวสัจพจน์ข้อหนึ่ง ที่กลายเป็นคุณลักษณะประจำตัวของเขาว่า “ชีวิตที่ไม่ถูกตรวจสอบนั้นไร้ค่า” และ “โสเครตีส” ก็ได้เริ่มตรวจสอบแง่มุมชีวิตของทุกคนในกรุงเอเธนส์
The Oracle at Delphi นักบวชชั้นสูงแห่งวิหารเทพเจ้าอะพอลโล ณ เมืองเดลฟ์ ได้กล่าวยกย่อง “โสเครตีส” ว่า เป็นบุคคลฉลาดที่สุดในกรุงเอเธนส์ ด้าน“โสเครตีส” เชื่อมั่นตัวเองว่า บุคคลที่ฉลาดนั้น จะยอมรับในความรู้ของตนผ่านวิธีการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเกิดความเข้าใจ และค้นพบความเป็นจริงได้ในที่สุด..
อืม..“โสเครตีส” ไม่มีระบบปรัชญาที่แน่นอน แต่เป็นผู้ให้แนวโน้มและวิธีการทางปรัชญา ท่านไม่เคยเขียนความคิดเห็นลงเป็นตัวหนังสือ วิธีค้นหาความจริงของท่านเป็นแบบสนทนา นิสัยประจำวันอย่างหนึ่งของ “โสเครตีส” คือ ไปตลาดกรุงเอเธนส์หรือสถานที่ที่มีการชุมนุม เพื่อพูดคุยถกแถลงกับ “ใครก็ตาม” ที่พร้อมจะคุยกับเขา ในปัญหาที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับความเป็นความตาย และสารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน คนหนุ่มหรือคนแก่ ทั้งเพื่อนที่รู้จักและคนแปลกหน้า โดยคนร่วมวงสนทนา จะฟัง “โสเครตีส” พูดเรื่องของความรู้ทางปรัชญาแบบสบายๆเป็นกันเอง

โดย “โสเครตีส” ไม่เคยปราศรัยยืดยาว หรือกล่าววาทะติเตียนพูดมากอยู่คนเดียว บ่อยครั้งที่มีคนอื่นๆเป็นฝ่ายพูดด้วยซ้ำ ท่านเป็นเพียงสนทนาสอดแทรกคำถามและคำวิจารณ์ แต่เป็น “คนควบคุม” การพูดคุยเสมอ โดยเป็น “ผู้นำวงสนทนา” ไปสู่ช่องทางที่ดีเลิศ ด้วยรูปแบบ “คำถาม-คำตอบ” อาศัย “คำถาม” ด้วยเนื้อหาอันหลักแหลม นำทางให้ “คู่สนทนา” เกิดความคิดขึ้น แล้ว “โสเครตีส” จะแก้ไข ปฏิเสธหรือตอบรับ หรือขยายความรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เป็นการเสริมความรู้ให้ความคิดนั้นๆสมบูรณ์ ฯลฯ

การพูดคุยถกแถลงเรื่องปรัชญานั้น “โสเครตีส” มีคุณสมบัติพิเศษ คือเป็น “นักต่อสู้ที่ดียิ่งคนหนึ่ง” ซึ่งไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ เขาเป็นคนอดทน และรู้จักบังคับตนเอง รักสันโดษ มีความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ มีความเชื่อในคุณความดี มีจิตใจรักสิทธิอันชอบธรรม มีความรักชาติบ้านเมืองอย่างยิ่งยวด สามารถอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างให้ชาติได้ “โสเครตีส”จึงได้วิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคม ด้วยเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจว่า “ความสำคัญที่จะเอาชนะจิตใจคนได้ก็คือ ความรู้สึกที่ดีต่อกัน”!
“โสเครตีส” ยึดหลักวิพากษ์วิจารณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยเหตุผลเสมอ สิ่งสำคัญในความคิดของ “โสเครตีส” ก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้ มีการปฏิบัติ และมีสังคม มักจะเริ่มสนทนาด้วยทดลองความรู้ก่อนเสมอ

ต้องยอมรับว่า “โสเครตีส”ได้ทำให้ชาวเอเธนส์เป็นคนรักเหตุผล ดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง บางครั้งก็สอนว่า คุณความดีคือความรู้ และความรู้จะจริงหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับคำจำกัดความ โดย“โสเครตีส”ระบุว่า..ความรู้ที่แท้จริงมีอยู่อย่างเดียว คือ ต้องเป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความดีงาม ส่วนความมืดมนนั้น แม้จะต้องขวนขวายศึกษาสักเพียงใดก็ตาม หากนำไปสู่ความชั่วแล้ว..ก็หาใช่ความรู้ไม่..!

อืม..ใช่เลย! เห็นด้วย! ความรู้ต้องดีมีคุณธรรมในการสร้างเรื่องดีๆ ความรู้ต้องมิใช่ไร้คุณธรรม สร้างแต่เรื่องชั่วๆ ทำความเดือดร้อนให้กับ“ผู้คน”กับ“สังคม”..

“โสเครตีส” จึงเป็น “นักปรัชญา” ที่มีคนยกย่องนับถือมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ถึงกระนั้น “โสเครตีส” ก็มิได้ลืมตัวหลงตนไปกับคำสรรเสริญของชาวเอเธนส์ “นักปรัชญาโสเครตีส” ยังคงแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ด้วยคำสารภาพอมตะที่ว่า..
“ข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ รู้ว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย”?!

บอกแล้วว่า “โสเครตีส” ไม่ได้บันทึกอะไรในเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวเอง” ไว้เท่าที่ควร เรื่องของ “อาจารย์ใหญ่โสเครตีส” ส่วนใหญ่ถูก “เล่าขาน” โดย “ศิษย์เอก” ที่ชื่อ “เพลโต” นักปรัชญาใหญ่ซึ่งเป็น “อาจารย์” ของนักปรัชญาชื่อดัง “อริสโตเติล”..

“โสเครตีส” อายุ 70 ปี ได้ถูก “เมลิตุส” กับ “ลีออน” ซึ่งรับคำบงการจาก “ผู้มีอำนาจ” ในกรุงเอเธนส์ ตั้งตนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง“ โสเครตีส” ถึง 3 ข้อหาฉกรรจ์ นั่นคือ ไม่นับถือเทพเจ้าของรัฐ! สร้างเทพเจ้าใหม่! ชักนำเยาวชนให้มีความคิดกระด้างกระเดื่องต่อบ้านเมือง! ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่มีมูลความจริง และไร้ความยุติธรรมต่อ “โสเครตีส” ฯลฯ

อ้าว! แล้วไฉน “โสเครตีส” จึงเต็มใจ “ตาย” แม้มีโอกาสหนี “ความตาย” ได้เล่า?

(ติดตามตอนต่อไป ณ ที่แห่งนี้)


กำลังโหลดความคิดเห็น