นายอนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด
anurak@anurakbusinesslaw.com
เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของบุคคลดังกล่าว อาจตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ โดยอาจถูกกล่าวหาในฐานตัวการในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐ หรือในฐานผู้สนับสนุนในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวการดังกล่าว ซึ่งความผิดที่อาจถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ก็มักจะได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น
ในกรณีที่มีข้อกล่าวหา และมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพอจะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงนี้ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาควรจะต้องมีจัดเตรียมทำคำชี้แจงและพยานหลักฐานให้ดีและครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาจะถูกนำไปใช้ในการพิจารณาข้อกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. ตลอดจนใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้
เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ จัดทำสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นแล้วเสร็จ ก็จะเสนอสำนวนการไต่สวนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญา ก็จะจัดส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อไป
เมื่ออัยการสูงสุดได้รับรายงานและสำนวนการไต่สวนข้างต้นแล้ว อัยการสูงสุดจะพิจารณาดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป ซึ่งปัจจุบันนั้นหมายถึง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือภาคที่มีเขตอำนาจ
ในกรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและทำสำนวนการไต่สวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ หากคณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็อาจยื่นฟ้องคดีเองได้
เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการตามวันเวลาที่กำหนด ในทางปฏิบัติ พนักงานอัยการจะนำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปส่งฟ้องต่อศาลในวันเดียวกันนั้น ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเตรียมหลักทรัพย์ในการประกันตัวเพื่อยื่นขอประกันตัวต่อศาลในวันที่ไปพบพนักงานอัยการดังกล่าว
เมื่ออัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ศาลจะนัดสอบคำให้การจำเลย หากจำเลยให้การปฏิเสธ คดีก็จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป ในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นจะมีการนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานในทำนองเดียวกับคดีอาญาทั่วไป แต่เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตรวจพยานหลักฐาน ในทางปฏิบัติ ศาลจะมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น โดยมีคำสั่งให้คู่ความมาศาลเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวร่วมกับเจ้าพนักงานคดีสัก 2 ครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในระหว่างนั้น คู่ความจะต้องยื่นบัญชีระบุพยาน แถลงแนวทางในการเสนอพยานหลักฐาน ความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยาน พร้อมทั้งส่งพยานเอกสารที่อ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาล
ในการตรวจสอบพยานหลักฐาน คู่ความอาจแถลงยอมรับหรือโต้แย้งพยานหลักฐานของอีกฝ่ายต่อศาลก็ได้ และเมื่อศาลทราบพยานหลักฐานและแนวทางการสืบพยานของคู่ความทุกฝ่ายแล้ว ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลจะกำหนดพยานบุคคล ประเด็นในการสืบพยาน และกำหนดนัดสืบพยานแต่ละปากต่อไป โดยพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดที่คู่ความไม่สามารถนำมาศาลเองได้ คู่ความก็สามารถร้องขอต่อศาลให้ออกหมายเรียกบุคคลหรือเอกสารมายังศาลได้
วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบใช้ระบบไต่สวนที่ศาลจะมีบทบาทนำในการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยในคดีที่อัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ศาลจะถือรายงานและสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงของโจทก์เป็นหลักในการพิจารณา ในการสืบพยานบุคคล ศาลจะเป็นผู้ซักถามพยานเอง ไม่ว่าพยานนั้นจะเป็นพยานที่ฝ่ายใดอ้าง หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาอนุญาตให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม ในทางปฏิบัติ ศาลมักจะกำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะถามพยานยื่นคำร้องเสนอประเด็นคำถามต่อศาลเป็นการล่วงหน้าก่อนการสืบพยาน เพื่อให้การไต่สวนพยานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยรวดเร็ว เนื่องจากกระบวนการไต่สวนพยานในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นจะค่อนข้างกระชับรวดเร็วและต้องอยู่ในแนวทางการสืบพยานที่ศาลกำหนดไว้ล่วงหน้า ดังนั้น คู่ความจึงควรที่เลือกนำพยานบุคคลเข้าให้การสืบพยานอย่างรอบคอบเพียงเท่าที่จำเป็นและมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีจริงๆ
เมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไป โดยคู่ความมีสิทธิที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่วนการฎีกานั้น คู่ความที่ประสงค์จะฎีกาจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมคำฟ้องฎีกา ซึ่งศาลฎีกาจะอนุญาตให้ฎีกาก็ต่อเมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย