“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
เรื่องราวของ “ปรัชญา” มีมากมายในโลก แต่ผู้คนมักยกย่อง“ปรัชญาตะวันตก” ทั้งๆ ที่ “ปรัชญาจีน” กับ “ปรัชญาตะวันออกกลาง” ก็มีความคิดลึกซึ้ง และมีคำคม ชวนศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่งเช่นกัน
บทความนี้ ผมขอเริ่มด้วย “ปรัชญาตะวันตก” โดยเรียบเรียงจากข้อมูลในโซเชียลมีเดีย และจากหนังสือหลายเล่มที่ได้สะสมไว้นานแล้ว..
“ธาเลส” ผู้มาก่อนยุค“โสเครตีส” ช่วง 640-469 ปีก่อนคริสตกาล โดย “ธาเลส” ถือเป็นหนึ่งใน “บิดาแห่งปรัชญา” ที่พยายามจะอธิบายถึงธรรมชาติของจักรวาล เขาสนับสนุนความเชื่อของตนเอง ด้วยการหยิบยกปัญหาพื้นฐานทางปรัชญา “ธาเลส” ไม่ได้โด่งดังเพราะการทำนายปรากฏการณ์ของสุริยคราสและจันทรคราส ซึ่งมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในยุคนั้น
แต่ “ธาเลส” เชื่อในพื้นฐานที่สำคัญของจักรวาล คือ “น้ำ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “ธาเลส” เชื่อว่า จักรวาลเป็นผลผลิตของ“น้ำ”นั่นเอง
ด้วยความเชื่อเช่นนั้นของ “ธาเลส” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์ และปรัชญา “คนในยุคโบราณ” ซึ่งมีทั้ง “คำทำนาย” เกี่ยวกับเอกภพ รวมถึงทฤษฎีจำนวนมากของจักรวาล แต่คนเหล่านั้นไม่ใช่นักปรัชญา โดย “ธาเลส” มีทัศนะที่ต่างออกไป นั่นคือ ข้อสรุปของ “ธาเลส” เกี่ยวกับจักรวาล ไม่ได้มีขึ้นเพื่อพระเจ้า แต่เป็นข้อสรุปเพื่อจักรวาลเอง เขาเสนอความเชื่อ พร้อมคำอธิบายที่เป็นเหตุผลและความเชื่อ ทำให้ปรัชญาแตกต่างไปจากศาสตร์ด้านอื่น และสิ่งนี้ก็ยังคงเป็นหลักที่ใช้อยู่จนถึงวันนี้
อืม..คราวนี้มาส่องกล้องดู “ปัญหา” และ “ความสนใจ”ในช่วงยุคก่อน “โสเครตีส” กันหน่อยดีไหม..?
“ธาเลส” เจอปัญหาแรกของปรัชญา คือ “ปัญหาของสสาร” หรือ “อะไรคือหลักการพื้นฐานของโลกใบนี้?” ความพยายามที่จะกำหนด “สสาร” รวมถึงหลักการดำรงอยู่ ได้กลายเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “เมตาฟิสิกส์” ในเวลาต่อมา โดย “ธาเลส” อ้างหลักการพื้นฐานของชีวิตคือ “น้ำ”?!
แต่ “อแน็กซิเมนส์” ผู้สืบทอดของ “ธาเลส” กลับอ้างเพิ่มขึ้นว่า ต้นกำเนิดของทุกสิ่งคือ “อากาศ”!
สิ่งที่นักปรัชญายุคโบราณสนใจอีกเรื่องคือ “การเป็นอยู่” และ“การเปลี่ยนแปลง” มันอยู่ด้วยกันอย่างไร? ถ้าหาก “การเป็นอยู่” มันดื้อ มันไม่ต้องการเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่อีกต่อไป “การเป็นอยู่” ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งแปลว่ามันจะตายไป คำถามต่อไปคือ..“การเป็นอยู่”มั นจะดื้อหรือไม่ดื้อได้อย่างไรหว่า? (โอ้! ช่างคิดจังนะชาวกรีก!)
ปัญหาเชิง “เมตาฟิสิกส์” เช่นนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยนักปรัชญาเกือบทุกคนในสหัสวรรษต่อมา แล้วคำตอบของคนในยุค “ก่อนโสเครตีส” คืออะไร?
ปรัชญาแห่งแอลเลียดิก และภาวะ “การเป็นอยู่ที่บริสุทธิ์” แนวคิดหนึ่งที่มาอธิบายภาวะที่ดูเหมือนขัดแย้ง หน้าที่เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ช่างเหมือนกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่? ใช่! มันควรเป็นเช่นนั้น ฉะนั้น..นักปรัชญาส่วนใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ก่อนยุคโสเครตีส มักมุ่งหาคำอธิบายเกี่ยวกับโลกอันเป็นธรรมชาติ โดยพยายามหาหลักการพื้นฐานที่ทำให้โลกเป็นไปอย่างที่เห็น แต่มิใช่ทุกคนเป็นเช่นนั้น ดังเช่น “โซฟิสท์”
“โซฟิสท์” คือกลุ่มคนกลุ่มแรก ที่ทำให้ปรัชญากลายเป็นอาชีพ ที่ช่วยเลี้ยงดูตนเองได้ คนพวกนี้ไม่กังวลกับแนวคิดเช่น ภาวะ “การเป็นอยู่” แต่สนใจที่จะสอนศิลปะการตอบโต้ เพื่อให้ได้เงินเพียงเล็กน้อยตามข้างทางเดินมากกว่า โซฟิสท์แต่ละคนต่างมีมุมมองของตนเอง และไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ทัศนะใดของโซฟิสท์คนใดที่เป็น “ความจริง” นั่นเป็นข้อสรุปของพวกโซฟิสท์ด้วยกันเอง
ในจักรวาลนี้ไม่มีหลักการใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้ผู้คนค้นหา และนักปรัชญาที่พยายามค้นหาหลักการที่ว่านั้น ก็จะมีแต่เสียเวลาอย่างสิ้นเชิง
ความรู้เป็นสิ่งที่ได้มาจากความรู้สึก แต่มันอาจไม่ได้เปิดเผยจักรวาล หรือความจริงในโลกที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
พวกโซฟิสท์สร้างแนวคิดนี้ไว้ว่า ความสำเร็จหรือความพึงพอใจ คือเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ ตามความคิดของพวกโซฟิสท์ เราไม่มีทางจะรู้ “ความจริง” เราไม่มีทางรู้จัก“ความดี” เพราะ “มนุษย์เป็นเครื่องวัดของทุกสิ่งทุกอย่าง”
ดังนั้น..ใน “ยุคก่อนโสเครตีส” ความเห็นเชิงปรัชญาของแต่ละคน จึงแตกต่างกันอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงตอบโต้ที่ยังต้องอยู่บนเหตุและผล ทำให้ปรัชญายังคงเป็นปรัชญาอยู่ และไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่นไปได้ ปรัชญาจึงเกี่ยวข้องตั้งแต่ คำอธิบายเกี่ยวกับหลักการของจักรวาล ไปจนถึงการปฏิเสธสิ่งใดเป็นจริงหรือไม่จริง แล้วปรัชญาจะทำอะไรได้ล่ะ?
พวกโซฟิสท์คงจะได้รับความนิยมสูงสุดในยุคของโสเครตีส หากว่าพวกเขายอมรับปรัชญา ให้เป็นแนวทางนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการเรียนรู้วิธีการโต้เถียงที่มีลูกเล่น และโน้มน้าวใจผู้อื่นได้.. เฮ้ย!..ไม่มีทางนะเฟ้ย!
คราวนี้มาดูข้อสรุปของคนในยุค“ ธาเลส” คิดและมองโลกเช่นไรกันบ้าง..
“ธาเลส” พื้นฐานของทุกสิ่งคือ “น้ำ” ทุกสิ่งมาจาก “น้ำ” และทุกสิ่งกลับไปหา “น้ำ”
“อแน็กซิเมนส์” เฉกเช่นกับวิญญาณของเรา “อากาศ” ทำให้เราคงอยู่ได้ ทำให้เราหายใจได้ อากาศคือสิ่งที่ห้อมล้อมโลกใบนี้ไว้!
“เอ็มพิโดเคิลส์” พระเจ้าคือวงกลม ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ทุกหนแห่ง แต่ไร้ซึ่งเส้นรอบวง ความต้องการคือการไม่ผูกมัดกับใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ผูกมัดกับคนอื่น “ความถูกต้อง”นั้นครอบคลุมไปทั่วทุกหนแห่ง แม้กระทั่งเหนืออากาศที่ปกคลุมไปทั่ว และแสงแห่งท้องฟ้าที่ไร้ขอบเขต
“เดโมคริตุส” การแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง ย่อมดีกว่าแก้ไขความผิดพลาดของผู้อื่น “ความดี”ไม่ได้หมายถึงเพียงการไม่ทำผิดเท่านั้น แต่หมายถึงการไม่มีความตั้งใจที่จะทำผิดด้วย
มีคนจำนวนมากที่รอบรู้ในสิ่งต่างๆ แต่กระนั้น เขาเหล่านั้นก็ยังขาดซึ่งปัญญา เราสามารถแยกแยะคนทำดีออกจากคนทำชั่วได้ แต่ไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาการกระทำของเขาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาความตั้งใจของเขาด้วย
ศัตรูของข้าพเจ้า ไม่ใช่คนที่ทำผิดต่อข้าฯ แต่คือคนที่เจตนาจะทำผิดต่อข้าฯ มนุษย์ใช้โชคชะตาเป็นข้ออ้างต่อความโง่เขลาของตนเอง บัดนี้ พระเจ้าซึ่งชราภาพลง ได้มอบสิ่งดีงามทั้งมวลแก่มนุษย์ ยกเว้นแต่ผู้ไร้ประโยชน์และผู้ที่ทำลายล้าง หรืออาจจะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
บัดนี้ เมื่อมนุษย์ได้ชราภาพลงแล้ว จึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของขวัญจากพระเจ้า แต่เป็นเพราะมนุษย์ได้บังเอิญพบกับสิ่งเหล่านี้ด้วยความโง่เขลา และบอดมืดของตนเอง
เมื่อโยนความอดกลั้นทิ้งไปในอากาศ ความพึงพอใจที่ยิ่งใหญ่ จะนำมาซึ่งความเจ็บปวดที่ยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าอยากพบความจริงทางวิทยาศาสตร์สักประการหนึ่ง มากกว่าการเป็นพระราชาแห่งเปอร์เซีย ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่จริง นอกจากอะตอม และพื้นที่ที่ว่างเปล่า ทุกสิ่งนอกเหนือจากนี้ เป็นเพียงแค่ความเห็น
“เฮอราคลิตุส” ทุกสิ่งอย่างแลกมาได้ด้วย “ไฟ” และไฟก็เป็นทุกสิ่งอย่าง เหมือนเช่นสินค้าแลกกับทอง และทองแลกกับสินค้า
สายฟ้าฟาดนำทางให้กับทุกสิ่ง
“สงครามเป็นบิดาของทุกสิ่ง” เป็นราชาของทุกสิ่ง ในบางครั้งสงครามแสดงตนเป็นพระเจ้า ส่วนคนอื่นเป็นเพียงมนุษย์ สงครามทำให้บางคนกลายเป็นทาส และบางคนเป็นอิสระ
โรคร้ายทำให้สุขภาพพึงใจและดี ทำให้ความหิวโหยอิ่มเอม และทำให้ความอ่อนล้าได้พักผ่อน
แม้จะก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกัน แต่สายน้ำที่ไหลผ่านก็แตกต่างกันไปครั้งแล้วครั้งเล่า ถนนที่ทอดตัวสูงขึ้น แล้วลาดลงต่ำ ก็ยังเป็นถนนเส้นเดียวกัน
“พิทากอรัส” “มนุษย์เป็นมาตรวัดของทุกสิ่ง” ทุกสิ่งที่เป็นอยู่ และทุกสิ่งที่ไม่ได้เป็นอยู่ หากต้องการอ่อนแอลง จงโต้เถียงกับคนที่เข้มแข็งกว่า คำถามทุกคำถามมีสองด้านเสมอ
“แอนติโฟน” เวลาคือความคิด หรือไม่ก็คือมาตรวัด แต่ไม่ใช่ความเป็นจริง
นั่นคือเรื่องราวของการครุ่นคิดโต้เถียงกัน ของบรรดา “นักปรัชญายุคก่อนโสเครตีส” ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “มนุษย์” กับ “จักรวาล” ในแวดวงของ “นักปรัชญาตะวันตก” ที่เกิดขึ้น และมีการจดบันทึกเรื่องราวเพียงเศษเสี้ยว ให้ได้รู้ได้ศึกษาได้โต้เถียงกันในวันนี้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดก็เพื่อเป็นมรดกทางการศึกษา แก่ “คนในยุคดิจิทัล” ซึ่งไม่ได้ต่างจาก “คนในยุคโบราณ” ที่มีทั้ง “คนฉลาดดุจอัจฉริยะ” และ “คนโง่เง่าเต่าตุ่น”.. จริงไหม..???