ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติ
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงกว่า 14 ล้านเสียงนั้นอาจจะทำให้หลายคนใจเสียว่าคนที่โหวตให้ก้าวไกลนั้นจะเห็นด้วยไปกับก้าวไกลไปเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 112 ป. อาญาและความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ คนที่เลือกก้าวไกลอาจจะมาจากสาเหตุที่เบื่อสามลุง ป. ที่ครองอำนาจมาเกือบสิบปี แต่ไม่มีการปฏิรูปประเทศไทยเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจที่ไม่มีอะไรขยับเลยแม้แต่น้อย
กระแสตีกลับอย่างรุนแรงจากกรณีน้องหยก ที่พรรคก้าวไกลสนับสนุนมาก่อน โดยเฉพาะในสิ่งที่น้องหยกกระทำเพื่อเรียกร้องให้ตนเองไม่ต้องอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน ไม่ไปมอบตัวตามกำหนดเวลา อยากแต่งชุด ไปรเวท อยากทำสีผมตามอำเภอใจ อยากเข้าเรียนวิชาไหนก็เข้า ไม่อยากเรียนวิชาไหนก็ไม่เข้าเรียน สุดท้ายสังคมก็ได้สติและกลับคืนสู่อนุรักษ์นิยมอีกครั้ง เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยสวิงกลับขั้วมาเป็นอนุรักษ์นิยมและได้สติว่าเสรีนิยมสุดโต่งแบบก้าวไกลนั้นไม่พึงปรารถนา ทำให้สังคมไม่สามารถอยู่รวมกันได้
ผลการสำรวจของนิด้าโพลล่าสุดทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,332 หน่วยตัวอย่าง จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อเครื่องแบบนักเรียน พบว่า
ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.15 ระบุว่า เพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย รองลงมา ร้อยละ 24.47 ระบุว่า เป็นการบ่งบอกถึงสถานศึกษาของนักเรียน ร้อยละ 7.96 ระบุว่า เป็นการป้องกันการแอบอ้างเป็นนักเรียน ร้อยละ 7.88 ระบุว่า เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ร้อยละ 6.31 ระบุว่า ทำให้ผู้ปกครองประหยัด ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียน / ผู้ปกครอง ร้อยละ 4.28 ระบุว่า เพิ่มภาระด้านการเงินให้ผู้ปกครอง ร้อยละ 3.83 ระบุว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพของนักเรียน ร้อยละ 1.35 ระบุว่า ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในทุก ๆ โอกาส ร้อยละ 1.13 ระบุว่า เป็นการแบ่งชนชั้นระหว่างโรงเรียน ร้อยละ 0.98 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 0.75 ระบุว่า ทำให้นักเรียนไม่ปลอดภัย และ ร้อยละ 0.60 ระบุว่า เป็นเครื่องหมายของการกดขี่ / อำนาจนิยม
ด้านความคิดเห็นต่อข้อเสนอของกลุ่มนักเรียนเลวที่ให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.67 ระบุว่า การบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนควรมีต่อไป รองลงมา ร้อยละ 12.09 ระบุว่า ในรอบสัปดาห์ควรอนุญาตให้ใส่ชุดอื่น ๆ (ชุดไพรเวต) ไปโรงเรียนได้บ้าง ร้อยละ 7.06 ระบุว่า ควรให้เรื่องการใส่เครื่องแบบนักเรียนอยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารแต่ละโรงเรียน ร้อยละ 5.10 ระบุว่า สมควรให้นักเรียนได้มีอิสระที่จะเลือกว่าจะใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนหรือไม่ ร้อยละ 3.23 ระบุว่า ควรให้เรื่องการใส่เครื่องแบบนักเรียนเป็นไปตามประชามติของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน ร้อยละ 2.40 ระบุว่า สมควรยกเลิกการใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน และร้อยละ 0.45 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ซึ่งเมื่อถามถึงจำนวนวันจากผู้ที่ระบุว่าในรอบสัปดาห์ควรอนุญาตให้ใส่ชุดอื่น ๆ (ชุดไพรเวต) ไปโรงเรียนได้บ้าง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.93 ระบุว่า 1 วันต่อสัปดาห์ รองลงมา ร้อยละ 37.27 ระบุว่า 2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 9.94 ระบุว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และร้อยละ 1.86 ระบุว่า 4 วันต่อสัปดาห์
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว พบว่า ร้อยละ 7.66 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ร้อยละ 13.51 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิของกลุ่มนักเรียนที่จะเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็น ร้อยละ 21.10 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากหน้าที่หลักของนักเรียนคือการเรียนหนังสือไม่ใช่ออกมาชุมนุมประท้วง ร้อยละ 51.50 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ควรใช้เวลาทุ่มเทให้กับการเรียนจะดีกว่า และร้อยละ 6.23 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
กระแสขวากำลังกลับมา และแน่นอนว่าการปะทะระหว่างขวากับซ้ายกำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย ขั้วแดงที่เคยถูกจัดว่าเป็นขั้วประชาธิปไตยเริ่มแสดงท่าทีของความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น
ในขณะที่ขั้วส้มกำลังถูกกระแสของคอนด้อมส้มที่ตนเองรังสรรค์ขึ้นมาจากปฏิบัติการไอโอและ cyber war room กำลังเกรี้ยวกราดขี่คอพรรคก้าวไกล ให้ปฏิบัติตามนโยบายสุดโต่งที่หาเสียงเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องแบบนักเรียน สหพันธรัฐหรือการกระจายอำนาจอันเป็นการแบ่งแยกดินแดนแปลงร่าง และสุดท้ายกระแสจากคอนด้อมส้มที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตรา 112 ก็อาจจะเกิดขึ้น โดยที่พรรคก้าวไกลก็อาจจะไม่อยากแตะต้องมาตรา 112 แล้วก็ได้ เพราะอยากเป็นรัฐบาลโดยสะดวกโยธิน ซึ่งมีขวากหนามมากมาย ไม่ได้ง่าย
กระแสขวาพิฆาตซ้าย กระแสอนุรักษ์นิยมตีกลับกระแสเสรีนิยมกำลังเกิดขึ้นในบ้านในเมืองนี้ เพราะสังคมเริ่มระอากับความสุดโต่งของการปลุกปั่น ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับสถานการณ์ก่อนเกิดการนองเลือดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหลือเกินที่สังคมไม่อาจรับได้กับขบวนการของนิสิตนักศึกษาในเวลานั้นที่แสดงอำนาจมากมาย ถึงกับเดินไปตรวจตาชั่งของแม่ค้าว่าโกงตาชั่งหรือไม่ โดยไม่ได้มีอำนาจรัฐใดๆ ในมือแต่ก็ทำ
วันนี้ขบวนการคอนด้อมส้มกำลังทำให้สังคมเกิดกระแสพลิกกลับ กระแสดังกล่าวจะรุนแรงแค่ไหน และจะนำไปสู่การนองเลือด การฉวยโอกาสของบุคคลที่สามหรือต่างชาติ และอาจจะนำไปสู่ภาวะที่ว่าอำนาจรัฐนั้นก็อยู่ที่ปลายกระบอกปืนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดและต้องติดตามกันอีกต่อไป