xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิและเสรีภาพ สังคมไทยได้รับรู้แค่ไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คมสัน โพธิ์คง



คมสัน โพธิ์คง

ในช่วง ๑ เดือนที่ผ่านมา สังคมไทยได้เสพข่าวเกี่ยวกับเด็กนักเรียนคนหนึ่งซึ่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนในการเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษามีชื่อแห่งหนึ่ง โดยกล่าวอ้างสิทธิส่วนตัวที่จะแต่งกายอย่างไรหรือทำสีผมอย่างไรก็ได้ และจะเข้าเรียนวิชาที่ตนสนใจ และไม่เข้าเรียนวิชาที่ตนเห็นว่าไร้สาระ จนเป็นข่าวสองฝ่ายทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย สนับสนุนและไม่สนับสนุนการกระทำของเด็กคนนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ก็แกว่งไปมาจนสุดท้ายเกิดผลกระทบกับตัวเด็กเองและกระทบต่อความเข้าใจของสังคมที่สับสนจนกลายเป็นเรื่องก่อความแตกแยกทางความคิด

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนและถกเถียงกันว่า เด็กมีสิทธิและเสรีภาพมากน้อยเพียงใด แต่ที่สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้สอนในวิชากฎหมายมหาชนและสอนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาเกือบ ๒๐ ปี และในการเรียนการสอนชั่วโมงแรกและชั่วโมงที่สองของผู้เขียนในวิชาสายกฎหมายมหาชนทุกภาคการศึกษาในทุกที่ที่ได้ไปสอน จะมีคำถามมาตรฐานที่ผู้เขียนอยากรู้พื้นฐานของผู้เรียนว่า ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจใน สิทธิและเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน และการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสอนในเรื่องดังกล่าวอย่างไร เพราะการศึกษาในวิชากฎหมาย เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ ที่มีผลทางกฎหมายทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ซึ่งในภายหลังจึงมีความเห็นและมีข้อสรุปในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับรู้ของคนจำนวนมากและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างรู้กันว่า ตนมีสิทธิและเสรีภาพแต่ทั้งหมดที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า “สิทธิ” คืออะไร และ “เสรีภาพ”คืออะไร ผู้เขียนจึงมีคำถามในใจว่า ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนรวมทั้งในมหาวิทยาลัย นั้น มีความเข้าใจในเรื่อง “สิทธิ”และ “เสรีภาพ” แบบไหน และถ่ายทอดการสอนเรื่องดังกล่าวออกมาอย่างไร จึงเกิดความสับสนมากมาย

คำตอบที่ประมวลได้เมื่อถามว่า “สิทธิ” คืออะไร คำตอบที่ได้คือ เรื่องที่จะกระทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อถามต่อไปว่า ถ้า “สิทธิ”คือเรื่องทำอะไรก็ได้แล้วต่างกับคำว่า “เสรีภาพ”” อย่างไร ส่วนใหญ่จะไม่สามารถตอบได้ และเมื่อถามย้ำอีกว่า “สิทธิ” คืออะไร ก็มักจะตอบกันว่า เป็นเรื่องสิทธิคสามเป็นส่วนตัว สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิตร่างกาย ผู้เขียนก็จะถามว่า กำลังถามว่า คืออะไร ไม่ได้ถามว่ามีสิทธิ อะไรบ้างและไม่ได้ถามถึงประเภทของ “สิทธิ” ส่วนใหญ่ก็จะนิ่งไปและไม่สามารถตอบคำถามได้

สำหรับคำตอบที่ประมวลได้เมื่อถามว่า “เสรีภาพ” คืออะไร คำตอบที่ได้คือ เป็นเรื่องที่จะกระทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อถามต่อไปว่า เสรีภาพคือเรื่องทำอะไรตามใจก็ได้ทุกเรื่องโดยไม่มีขอบเขตหรือไม่ เสรีภาพเรื่องใดมีข้อจำกัด เสรีภาพเรื่องใดไม่มีข้อจำกัด ส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบได้

จากคำตอบที่ได้ทำให้สะท้อนความเป็นจริงว่า คนจำนวนมากรู้ว่าตนมีสิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า “สิทธิ” คืออะไร และ “เสรีภาพ”คืออะไร ผู้เขียนมักจะตั้งคำถามกับนักศึกษา เสมอๆว่า เมื่อไม่รู้ว่า“สิทธิ” คืออะไร และ “เสรีภาพ”คืออะไร แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่า ที่ใช้กันอยู่ และที่เรียกร้องกันนั้นมันเป็นการเรียกร้องใน “สิทธิและเสรีภาพ” เพราะถ้าไม่รู้ความหมายแล้วกำลังเรียกร้องอะไรกัน ซึ่งก็เป็นคำถามในใจของผู้เขียนเช่นกันว่า เด็กอายุแค่ ๑๕ ปี จะมีความรู้ความเข้าในลึกซึ้งเกี่ยวกับ “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” แค่ไหน และเข้าใจอย่างกัน ซึ่งก็ไม่เคยมีใครหาคำตอบว่าที่เด็กตอบนั้น เด็นคนนั้นเข้าใจแค่ไหน แต่สื่อและผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนมากก็ออกมาปกป้องเด็ก โดยไม่ได้ให้ความเห็นอย่างถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพที่เด็กเรียกร้องนั้นคืออะไร เป็นอย่างไร และที่เรียกร้องนั้นใช่หรือไม่

ความเข้าใจในหลักวิชาเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ นั้นมีนักคิดและเจ้าทฤษฎีหลากหลายที่ให้ความหมายมากมาย แต่ผู้เขียนจะทำความเข้าใจแบบอธิบายง่ายๆ เพราะหากอธิบายโดยอาศัยหลักวิชาการจากที่ต่างๆ มากล่าว จะยิ่งทำให้สังคมสับสนมากขึ้น เพราะคำอธิบายบางอย่างเหมาะที่จะอธิบายในทางวิชาการ ไม่เหมาะที่จะอธิบายแก่คนทั่วไป

ในการอธิบายความหมายถึงผลของการใช้สิทธิและเสรีภาพว่า “สิทธิ” กำหนดผู้อื่น แต่ “เสรีภาพ”กำหนดตนเอง ซึ่งหากอธิบาย ก็หมายความว่า “สิทธิ”ของบุคคลนั้น ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องปฏิบัติหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรองรับการใช้สิทธิ ส่วน “เสรีภาพ”นั้น บุคคลผู้ใช้เสรีภาพ เป็นผู้กำหนดตนเองว่าจะใช้เสรีภาพนั้นอย่างไร

ดังนั้น หากจะกล่าวความหมายอย่างรวบรัดก็อาจกล่าวได้ว่า การใช้สิทธิจึงเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีกฎหมาย(หรือรัฐธรรมนูญ)รับรองหรือคุ้มครองให้ผู้นั้นสามารถเรียกร้องให้บุคคลอื่นกระทำการหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามลักษณะและประเภทของสิทธินั้นเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้บุคคลอื่นทำ “หน้าที่”ตอบสนองการเรียกร้องสิทธินั้น ตัวอย่างเช่น สิทธิเลือกตั้ง มีความหมายว่า ข้อเรียกร้องของประชาชนให้รัฐ(มีหน้าที่)จัดการเลือกตั้ง ส่วนประชาชนผู้ใช้สิทธิจะเลือกผู้ใดย่อมเป็นเสรีภาพที่จะเลือกบุคคลใดเข้าไปใช้อำนาจรัฐ ตามที่ผู้นั้นประสงค์ หรือ สิทธิในชีวิตหรือร่างกาย มีความหมายว่า ข้อเรียกร้องให้บุคคลอื่นเคารพหรืออย่ารุกล้ำในชีวิตหรือร่างกายของผู้เรียกร้อง ส่วนเจ้าของชีวิตและร่างกายจะใช้ร่างกายหรือชีวิตของตนอย่างใดย่อมเป็นเสรีภาพของบุคคลนั้น หรือการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในทางแพ่ง จึงเป็นการใช้ข้อเรียกร้องให้ลูกหนี้ต้องปฏิบัติหรือมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ดังนั้น หากจะกล่าวถึงความหมายของ “สิทธิ” แล้วอาจต้องกล่าวว่า คือ ข้อเรียกร้องเชิงผลประโยชน์(หลากหลายประเภทหรือรูปแบบ)ของบุคคลที่มีกฎหมายหรือกฎกติกาสังคมคุ้มครองหรือรองรับให้บุคคลอื่นกระทำการตอบสนองข้อเรียกร้องนั้นด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

ผู้เขียนเคยได้รับคำถามจากผู้พิพากษาท่านหนึ่งในการให้การคดีหนึ่งในฐานะพยานนักวิชาการฝ่ายจำเลยว่า มีผู้กล่าวว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพต้องไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นนั้นจริงหรือไม่ ผู้เขียนตอบว่าเป็นจริงแค่บางส่วน เพราะเมื่อ “สิทธิ” เป็นข้อเรียกร้องที่ก่อให้เกิดหน้าที่แก่ผู้อื่น การใช้สิทธิจึงต้องกระทบต่อสิทธิของผู้อื่นหรือเกิดการกระทบหรือรอนสิทธิของผู้อื่นเกิดขึ้น เพียงแต่การกระทบหรือรอนสิทธินั้นอยู่ในขอบเขตที่ผู้ถูกกระทบสามารถยอมรับได้ หรือเป็นเรื่องที่มีกฎหมายหรือกติกาของสังคมรองรับให้กระทบกับสิทธิของผู้อื่น ดังนั้นคำว่า ไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น จึงอาจแปลได้ว่า ต้องไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เกินกว่าขอบเขตที่เขาจะยอมรับได้หรือเกินกว่ากฎหมายหรือกฎกติกาของสังคมจะยินยอมให้ทำได้ การใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินขอบเขตคือการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินสัดส่วนที่จะยอมรับได้ ดังนั้น เราจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ในสังคมเรายังมีความเข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง

เมื่อกลับมาดูเรื่องที่เด็กอายุ ๑๕ ปีเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพต่างๆ แล้ว ผู้เขียนก็มีคำถามในใจว่า เด็กคนนั้นหรือผู้สนับสนุนให้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพต่างๆ นั้น มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ มากน้อยเพียงใด และเข้าใจถึงหลักการที่เรียกร้องนั้น อยู่ในขอบเขตของการสิทธิเพียงพอที่ไม่ทำให้เกิดการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นหรือไม่ และหากเป็นการเรียกร้องและใช้สิทธิและเสรีภาพตามอำเภอใจ ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคล จะเรียกว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินสัดส่วนหรือไม่ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของการเรียกร้องเป็นกรณีไป ไม่สามารถเหมารวมทั้งหมดได้ว่าเป็นการใช้สิทธฺและเสรีภาพโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญหรือหลักนิติรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น