xs
xsm
sm
md
lg

ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ตอนนี้กกต.ได้ประกาศรายชื่อส.ส.ครบ 500 คนแล้ว และรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งคิดว่าน่าจะตกในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมจากนั้นก็จะมีการเลือกประธานสภาต่อไป ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้

จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประธานสภาจะมาจากพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย แม้ว่าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะยอมถอยประธานสภาให้แต่ไปขอตำแหน่งรองประธานสภาสองตำแหน่ง แต่ต่อมาก็มีการเปลี่ยนคำพูดว่ายังไม่มีข้อตกลง ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นยืนยันมาตลอดว่า ประธานสภาต้องเป็นของพรรคอันดับ 1

ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นจนถึงตอนนี้ แหล่งข่าวก็ยังคงยืนยันว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่ยกมือให้กับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล จึงฟันธงได้ว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่ใช่พิธาส่วนจะเป็นใครนั้นต้องบอกว่า น้ำหนักไปอยู่กับแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย แต่ไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอใครระหว่างแพทองธาร ชินวัตรกับเศรษฐา ทวีสิน


การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นแน่หลังได้ประธานสภา แต่เมื่อพิธาไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 376 เสียงของรัฐสภา ก็จะเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยฟอร์มรัฐบาลเพราะถือว่าพรรคได้แสดงสปิริตสนับสนุนพรรคอันดับ 1มาจนสุดทางแล้ว ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้พรรคก้าวไกลจะยอมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไหม

ส่วนอุปสรรคในการถือหุ้นไอทีวีของพิธาก็ยังคงติดตัวอยู่ ก็ไม่รู้ว่า 50ส.ส.จะเข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือว่า กกต.จะเป็นผู้ร้องเสียเองเช่นเดียวกับกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้วต้องบอกว่ามีโอกาสมากทีเดียวที่พิธาจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา98(3)กรณีต้องห้ามถือหุ้นสื่อ

แต่เรามาพิจารณาดูฉากทัศน์ว่า หากพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะมีภาพที่เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับตอบเราว่า พรรคก้าวไกลได้รับการตอบรับจากคนเกือบทุกช่วงวัยในเขตเมืองใหญ่ไม่ใช่เฉพาะเสียงจากคนรุ่นใหม่อย่างเดียว ซึ่งไม่รู้ว่า เป็นผลมาจากการที่คนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายรัฐบาล 3 ป.ที่บริหารประเทศมาอย่างยาวนานแล้วต้องการเปลี่ยนขั้วตรงข้ามหรือไม่

ต้องยอมรับว่าเสียงของพรรคก้าวไกลนั้นได้มาจากคนกรุงเทพฯ ปริมณฑลและคนในเขตเมืองทั่วประเทศซึ่งเป็นคนชั้นกลาง คนกลุ่มนี้เคยมีบทบาทสำคัญคือ เป็นคนที่ตัดสินอนาคตของรัฐบาลในภาพของสองนคราประชาธิปไตย

ในอดีตนั้นรัฐบาลมักจะมาจากคนชั้นล่างจนกล่าวได้ว่าคนชนบทเป็นคนตั้งรัฐบาลขณะที่คนชั้นกลางเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาล แต่ผลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จากเสียงส่วนใหญ่ในเขตเมืองนั้น สะท้อนให้เห็นว่า คนชั้นกลางส่วนใหญ่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ซึ่งหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก็มีคำถามว่าคนชั้นกลางในเมืองซึ่งมีพลังมากนั้นจะแสดงพลังคัดค้านออกมาอย่างไร

ประเด็นสำคัญต้องรอดูว่า พรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หากพรรคเพื่อไทยพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากพิธาไม่ได้รับเสียงข้างมากจากรัฐสภา ถ้าพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาลอาจจะสยบความเคลื่อนไหวของมวลชนพรรคก้าวไกลไปได้ แล้วไปรอคอยโอกาสในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่า พรรคก้าวไกลอาจจะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากกว่านี้

แต่หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำรัฐบาลได้และเลือกไปเป็นพรรคฝ่ายค้านแน่นอนว่าจะต้องมีคนออกมาชุมนุมบนท้องถนน เพราะพวกเขาคาดหวังจากผลการเลือกตั้งว่า พิธาจะต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี และตลอดระยะเวลาที่รอผลการเลือกตั้งนั้น พิธาก็แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า เขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ด้วยการแสดงออกในการเรียกหน่วยงานต่างๆทั้งรัฐและเอกชนมาหารือเพื่อเตรียมการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หรือว่าพิธาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถือหุ้นสื่อแล้วถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเสียก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้มวลชนของพรรคก้าวไกลลงถนน เพราะตอนนี้พิธาเองก็เดินสายปลุกขวัญมวลชนของพรรคไปทั่วประเทศ เสมือนให้รับรู้ว่า หากพลาดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะมาจากการถูกอำนาจเก่าเล่นงาน

อานนท์ นำภา ผู้ต้องหาคดี 112 คนสนับสนุนคนสำคัญของพรรคก้าวไกลประกาศแล้วว่า หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะมีคนลงถนนเป็นแสนเป็นล้านคน โดยคนที่จะลงถนนจะเป็นคนชั้นกลาง นักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก

แต่ถ้าเกิดการชุมนุมของมวลชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล แล้วพรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทยไม่ว่าแพทองธารหรือเศรษฐาจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเท่ากับเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็จะต้องรับมือกับม็อบที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ซึ่งเราเคยเห็นภาพการรับมือม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของรัฐบาลเพื่อไทยมาแล้วในอดีตว่า พวกเขาจะใช้กำลังในการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อเล่นงานผู้ชุมนุม และสงครามสีเสื้อก็อาจจะเปลี่ยนไปเป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนเสื้อแดงและเสื้อส้ม

การเมืองไทยนับจากนี้ไปอาจจะเป็นการต่อสู้กันของสองพรรคคือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองอื่นๆ จะกลายเป็นตัวประกอบในการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งยากมากที่จะกลับมาเป็นพรรคใหญ่อย่างน้อยในช่วงสองสามทศวรรษนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์สูญเสียฐานเสียงไปหมดแล้วและยากที่จะสร้างความนิยมกลับมาได้ในเร็ววันหรืออาจจะยากที่จะกลับมาสู่ความรุ่งโรจน์ได้อีกตลอดไป

พรรคเพื่อไทยแม้จะมีภาพของพรรคการเมืองเมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลจนทำให้รัฐมนตรีของพรรคหลายคนถูกดำเนินคดีแต่เมื่อเปรียบกับพรรคก้าวไกลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปให้ไม่เหมือนเดิมและท้าทายต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ มวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะกลับมาฝากความหวังไว้กับพรรคเพื่อไทยเพื่อต้านทานพรรคก้าวไกลก็ได้

ต้องยอมรับว่าคนที่เคยเกลียดและกลัวทักษิณจำนวนมากหันมากลัวพรรคก้าวไกลยิ่งกว่า โดยเฉพาะมวลชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วเห็นได้ว่าทันทีที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งก็มีการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดน 3 จังหวัดใต้อย่างเปิดเผยท้าทาย เพราะได้รับการเกื้อหนุนจากนโยบายของพรรคก้าวไกลหรือบุคคลที่มีบทบาทในพรรคอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การออกมาเคลื่อนไหวท้าทายระเบียบโรงเรียนของหยกเด็กหญิงวัย 15ต่อกฎระเบียบของโรงเรียนก็ล้วนแต่มาจากการบ่มเพาะของพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนที่เลือกก้าวไกลจำนวนหนึ่งเพราะเบื่อรัฐบาล 3 ป.ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ไม่ได้ศึกษาว่านโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นอย่างไร แต่ออกไปเลือกพรรคก้าวไกลเพื่อต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่คาดว่าจะพบกับสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศและสังคมอย่างใหญ่หลวงหากปล่อยให้พรรคก้าวไกลเข้ามาบริหารประเทศ

อย่างไรก็ตามมีคนมองว่า หากปล่อยให้พรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาลความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นมากกว่า นโยบายการแก้ไข มาตรา 112ที่ไม่ต่างกับการยกเลิกนั้นส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน นโยบายต่างประเทศที่ประกาศชัดเจนว่าจะยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาและจะมีบทบาทในการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้านนั้นล้วนแล้วแต่นำประเทศไปเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งในภูมิภาคทั้งสิ้น

แต่มีคำถามว่า เราจะต้านทานการเติบโตของพรรคก้าวไกลไปได้นานแค่ไหน

มีคนกล่าวว่าหากปล่อยให้พรรคก้าวไกลเข้ามาบริหารประเทศในครั้งนี้ก็อาจจะส่งผลให้คนเห็นว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลหาเสียงเอาไว้นั้นไม่สามารถทำได้จริงไม่ว่าจะค่าแรง 450 บาท เงินผู้สูงอายุ 3,000 บาทฯลฯ และจะทำให้พรรคเสื่อมความนิยมได้เร็วขึ้น ถ้าพวกเขาไม่ได้เป็นรัฐบาลครั้งนี้จะยิ่งเติบโตแข็งแร่งขึ้นจนยากจะทัดทาน

แต่ก็มีคนมองว่ามันไม่คุ้มกับสิ่งที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศ ส่วนอนาคตข้างหน้าถ้าพรรคก้าวไกลจะเติบใหญ่ขึ้นก็ค่อยว่ากันอีกทีว่าจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น