xs
xsm
sm
md
lg

“นักการเมือง” ต้องทำเพื่อชาติ-ประชา? (ตอนสิบห้า) “คานธี” ยังอยู่ทุกที่ในโลก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”


ชีวิตกับผลงาน “คานธี” ที่ทำเพื่อชาติประชา มิใช่มีเพียงแค่ไม่กี่บทความให้ศึกษา..

“อมตวจนะ” ของบุคคลสำคัญของ “อินเดีย” และชาวโลก อย่าง “มหาตมา คานธี” มีให้อ่านเพื่อนำไปพลิกแพลงกระทำได้มิรู้จบ ดังจะเผยแพร่ต่อไปนี้..

“คานธี” เริ่มด้วยสัจธรรมที่ว่า “ประชาธิปไตยมิใช่สภาพที่ประชาชนประพฤติเยี่ยงฝูงแกะ”

“ประชาธิปไตยเป็นสถาบันอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นประชาธิปไตยจึงมักจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดอย่างฉกรรจ์”

“เจตนารมณ์ประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ”

อืม..“ความรู้” ต้องนำมาซึ่งความเข้าใจอย่างถึงแก่น และลึกซึ้งเป็นระบบ ถ่องแท้ทั้ง “ร่างกาย” กับ “จิตใจ” ตาม “วิถีทางประชาธิปไตยแท้จริง” เท่านั้น

มิใช่เรื่องง่ายดัง“นักการเมืองไทย” ชอบโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง เชิดชู “ตนเอง” กับ“พรรคการเมือง” ที่สังกัด โดยเฉพาะสรรเสริญเยินยอ “นายทุนพรรค” ที่ทุ่มลงทุนแจกจ่าย“เงินทอง” มหาศาล ให้กับ “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” รวมทั้งใช้ “เงินไม่อั้น” ซื้อเสียงในสนามเลือกตั้ง เพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง ฯลฯ

บางที่บางแห่งถึงขนาดใช้ “เงิน” ซื้อบุคคลที่ส่งผล “ได้-เสีย” ต่อการเลือกตั้ง ในนาม “ตัวบุคคล” และ “พรรค” เพื่อสะดวกในการ “ซื้อเสียง” กับ “โกงสารพัด” โดยบรรดา“เจ้าหน้าที่”จะแสร้งทำเป็น “มองไม่เห็น” แม้จะ“เห็นทำผิดตำตา” ก็ “ไม่จับ” ทำไม่รู้ไม่ชี้ เสมือนเป็น“ ทองไม่รู้ร้อน” เรียกว่า.. “เงิน-จ้างผีโม่แป้ง” ได้ และ “จ้างผี” ให้พิการหูหนวกตาบอดได้อีกด้วย “เลือกตั้งไทย” จึงสกปรกโสมมอย่างยิ่งเช่นนี้แล..

ส่วนเรื่องอำนาจรัฐชั่วช้า “คานธี” ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อใดที่การปกครองเกิดความชั่วร้ายขึ้น จนถึงกับทนไม่ไหว เมื่อนั้นมนุษย์ก็ต้องยอมเสียสละแม้แต่เสรีภาพส่วนตัว เข้าต่อสู้ด้วยวิธีการอหิงสา” เพราะ “กฎหมายที่มืดบอด จะควบคุมความประพฤติของผู้มีชีวิตไม่ได้” และ “ความบริสุทธิ์ภายใต้รัฐบาลที่ชั่วร้าย จะมีความสุขก็แต่บนตะแลงแกงเท่านั้น”

อืม..สิ่งที่ “คานธี” คิดและทำคือ “สัจธรรม” มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะของ “ชาวอินเดีย” ที่วันนี้มี“ประชากร” มากที่สุดในโลก! หากแต่เป็นเรื่อง “ชาวโลก” กับทุกชาติในโลก เป็นแรงบันดาลใจอันแรงกล้า ซึ่งทำให้หลายชาติมี“คานธี”อยู่เคียงข้าง และกำลังเดินหน้าต่อสู้แบบ “อหิงสา” ทั่วทุกหนแห่งบนโลกใบนี้..

“ความรู้” เป็นเรื่อง “สากล”! บางคราปราชญ์อินเดียอย่าง“ คานธี” ยกคำสอนของปราชญ์จีนโบราณอย่าง “ขงจื้อ” มาอ้างอิงและสอนสั่งดังนี้

“ในบ้านเมืองมีสภาพเรียบร้อยนั้น ความเจริญมิใช่วัดกันด้วยทรัพย์สิน ความบริสุทธิ์ของประชาชนและผู้นำต่างหาก ที่เป็นสมบัติอันแท้จริงของประเทศชาติ”

“ความรู้ปราชญ์”ที่ ดีเป็นสมบัติของสากล! “ความดีประชาชน”เป็นสมบัติของชาติ! “ผู้นำดี ”เป็น “ความโชคดี” ของชาติกับประชาชน!

แต่ที่ผ่านมา..“ผู้นำชาติไทย” ส่วนใหญ่ มีแต่ “คนชั่วละโมบโลภมาก” มุ่งแต่จะกอบโกย “อำนาจ-เงินทอง-ผลประโยชน์” อย่างไม่รู้จัก “พอเพียง” ตลอดมา นับเป็น “ความโชคร้าย” ของชาติกับประชาชนไทยว่ะ!

“คานธี” มิใช่คนคลั่งชาตินิยมจิตใจคับแคบ เพราะ “เขา” มอง “คนต่างชาติ ”ด้วยใจเป็นธรรม อีกทั้งมีมุมมองที่เข้าใจในความเป็น “มนุษย์”

“คานธี” ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “ชาวต่างประเทศผู้ใดเข้ากับชาวพื้นเมืองได้สนิทสนม เหมือนน้ำตาลเข้าได้กับนม ชาวต่างประเทศผู้นั้นสมควรได้รับการต้อนรับฉันญาติ” และ “คานธี” ยังได้พูดถึงหลักการด้วยว่า “หลักการอันใดที่ไม่เพียบพร้อมด้วยความดีงาม หลักการอันนั้นหาได้ชื่อว่าเป็นหลักการไม่”!

“ความคิด” และ “คำพูด” ชุดนี้ของ “คานธี” ถือเป็น “หลักการ” ที่ไม่สลับซับซ้อน แต่มีความเป็น “มนุษย์” ที่แยกแยะความ “ถูก-ผิด” ด้วยมโนธรรม และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกมอง ชนิดที่ “มนุษย์” พึงให้เกียรติต่อ “มนุษย์” ด้วยกันเอง

เรื่อง “ความอดอยากหิวโหย” ของ “มนุษย์ส่วนใหญ่”ที่ ยากไร้นั้น “คานธี”ทั้ งเห็นกับได้ยินเสียงร่ำไห้มาตลอด เพราะ “อินเดีย” เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามี “คนยากจน” มากมาย ใน“อินเดีย”มีคนอดตายมิใช่น้อยทุกวัน ชีวิต “คน” ไร้ราคาค่างวด เพราะ“คนจนแข่งกันตาย” การ “เผาศพ” แบบเปิดเผยเห็นคาตา คือ“ บทเพลงเปลวไฟเหนือร่างมนุษย์”!

“คานธี” จึงเคลื่อนไหวทางการเมืองมิได้ขาด ทั้งในเมืองและชนบท บังเกิด “อมตวจนะคานธี” ว่า..

“ผู้อดอยากหิวโหยจำนวนล้าน เรียกร้องคำไพเราะเพียงวลีเดียว..อาหารที่มีคุณค่า” และ “สำหรับผู้ที่กำลังหิวโหยแล้ว พระเจ้าจะปรากฎพระองค์ให้เห็นในรูปของอาหารเท่านั้น”

ใช่เลย! “ความหิว” ทำให้ “มนุษย์” ไม่ต้องการ “พระเจ้า” หรือสิ่งอื่นใด นอกจาก “อาหาร” กับ “เงินตรา” ที่ใช้ซื้อ “อาหาร” ทำให้ท้องอิ่มรอดตายได้!

“ถ้าความหวังดีไม่สามารถช่วยให้คนมีกำลังใจ อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้ ความหวังดีนั้นก็ไร้ค่า”

คานธี” ยังพูดถึงการ “ตีตรวน”ไว้ว่า “พันธนาการที่ทำด้วยทองคำ สร้างความขมขื่นให้แก่ผู้ที่เคารพตนเอง ไม่น้อยไปกว่าพันธนาการทำด้วยเหล็ก”

เมื่อพูดถึงเรื่องข่าวสาร ยุค “คานธี” คงมิได้ต่างไปจากยุคนี้ ที่ข่าวสารเต็มไปด้วยการโกหกมดเท็จ และสร้างความวุ่นวาย มากกว่านำความสงบสู่สังคม “คานธี”จึงมีคิดว่า “อ่าน” กับ “ไม่อ่าน” หนังสือพิมพ์ ไม่เห็นจะเป็นไรนี่หว่า!..
“การอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ ทำให้เกิดความวุ่นวายมาก เพราะข่าวที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ มักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง การไม่อ่านหนังสือพิมพ์ จึงจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายอะไรขึ้น”

อืม.. “คานธี” จึงสรุปว่า “กูไม่อ่านหนังสือพิมพ์ก็ได้!” เพราะมักลงแต่ “ข่าวสาร” ไม่ตรงกับความเป็นจริง!

ว้าว! นี่ถ้า “คานธี” ไม่ถูกยิงตาย และยังอยู่จนถึงวันนี้! “ปู่คานธี” คง “หัวจะปวด” อย่างแรงกับ “สื่อยุคดิจิทัล” ที่ “นายกฯ ตู่” เคยพูดว่า “ถ้าไม่อ่านก็โง่-ถ้าอ่านแล้วเชื่อ ยิ่งโง่ใหญ่”

อืม.. “คำ” ของ “ตุ๊ดตู่” นี่..“คมกว่ามีดอรัญญิก”เสียอีกว้อย..!

“คานธี” ยังได้เผย “ความลับ” วิธีเอาชนะ “ศัตรู” ที่แท้จริงของ “มนุษย์” แค่ “พิชิตศัตรู 6 เรื่อง” เท่านั้น..
“ศัตรูที่แท้จริงของมนุษย์นั้นมีอยู่ 6 คือ กาม โกรธ โมหะ เมา อหังการ และโศก หากเอาชนะศัตรูทั้ง 6 นี้ได้ ก็ย่อมง่ายที่จะเอาชนะศัตรูอื่นด้วย”

อ่ะ.. “คานธี” เฉลยความลับนี้แล้วว่าไงกันบ้างครับ? อ้าว! ทำไมเงียบกริ๊บล่ะ? เพราะมันยากจะทำตาม “คานธี” ชี้นำใช่ไหม?

แค่ละเรื่อง “กาม” ก็ยากจะปฏิบัติแล้ว! ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ“กาม” นั้น ทำให้ “มนุษย์” ต้องล้มตายกันมากมหาศาล! ชาติบ้านเมืองต้องวินาศสันตะโรนับไม่ถ้วน! สงครามเกิดขึ้นอย่างไร้ความปรานีครั้งแล้วครั้งเล่า ฯลฯ เพียงเพราะ “ชายผู้มีอำนาจ” อยากได้ “หญิงงาม”มาครอบครองเท่านั้น ฯลฯ

“คานธี” จึงมีวิธีคิดว่า “มีคนเปรียบชีวิตกับดอกกุหลาบ ทั้งนี้เพราะว่า ชีวิตก็เต็มไปด้วยหนามเช่นเดียวกับกุหลาบ” แต่ “คานธี ”มีหลักการสรุปว่า “วัตถุประสงค์ของการมีชีวิตคือ อยู่ให้ถูกต้อง คิดให้ถูกต้อง กระทำให้ถูกต้อง”

อืม..เรียบง่ายน่ะเรียบง่ายจริงว่ะ! “คานธี” มีชีวิตเรียบง่ายมาตลอด จึงทำได้ และทำได้จนวันตาย! “มนุษย์” ยุคดิจิทอลในวันนี้จะทำได้หรือ? ถ้าทำได้..ก็ขอ“ แสดงความนับถือ” ไว้ ณ ที่นี้ครับ!..

“คานธี” ใช้ชีวิตเรียบง่ายเยี่ยงสามัญชน มุ่งทำงานเพื่อชาติกับประชาชนอินเดีย นำมวลชนต่อสู้กับนักล่าอาณานิคม “อังกฤษ” ด้วยวิธี “สันติอหิงสา” จนได้ชัยชนะ!

“คำคิดคำคม” อันละเอียดอ่อนของ “คานธี” ที่พูดถึง “ศิลปะ” และ “ดนตรี” เป็นสิ่งที่ละเลยมิได้..

“สำหรับข้าพเจ้า ศิลปะที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง จะต้องเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป” และ “ศิลปะที่แท้จริงจะต้องสามารถช่วยจิตใจให้เกิดสัจการแห่งตนเอง”

“คานธี” ยังเปรียบ “มนุษย์” กับ “ดนตรี”.. ดังนี้..

“อันที่จริง ชีวิตของเราควรจะเต็มไปด้วยดนตรี หากเป็นไปได้เช่นนั้น การงานของเราทั้งหมดคงจะมีแต่ความนุ่มนวลและไพเราะเพราะพริ้ง”

คานธี” ได้พูดถึง “ความตาย” ที่ต้องเจอว่า “จะไปกลัวทำไมกับความตาย ในเมื่อเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า “ความตายเป็นมิตรผู้ช่วยให้รอดพ้นจากความทุกข์”..

“ความกลัวตายทำให้เราสูญสิ้นความกล้าหาญ”

และ “บทจบ” ของ “คานธี” ก็คือ..

“ความตายนั้น ไม่ว่าจะในกรณีใด ย่อมเป็นการหลุดพ้นจากความทุกข์โทมนัสมิใช่หรือ ถ้าเช่นนั้นแล้วจะไปโศกาอาดูรทำไม เมื่อความตายมาถึง”..!?


กำลังโหลดความคิดเห็น