xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเพิ่งดีใจว่าพิธาจะรอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ด้อมส้มตื่นเต้นกันใหญ่ที่รายการ 3 มิติ เอาเทปการประชุมกรรมการบริษัทไอทีวีมาเปิดเผยว่าไม่ตรงกับบันทึกการประชุมที่ถูกเอามาเปิดเผยก่อนหน้านี้ โดยในเอกสารการประชุมระบุว่า นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นสอบถามว่า บริษัทยังดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออยู่หรือไม่

ประธานในที่ประชุมตอบว่า “ปัจจุบันบริษัทยังมีการดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

แต่ในคลิปการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดในรายการ ข่าว 3 มิติ ปรากฏว่านายภาณุวัฒน์ ถามว่า “มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ”

นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า“ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”

แม้จะตอบไม่ตรงกันระหว่างบันทึกการประชุมกับเทปบันทึกการประชุม ซึ่งอาจจะมีผลทางกฎหมายต้องมีคนรับผิดชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องของกรรมการบริษัทที่จะต้องรับผิดชอบชี้แจงและพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ทั้งสองคำตอบแม้ไม่ตรงกันก็ล้วนตีความได้ว่า บริษัทไอทีวียังไม่ได้ปิดกิจการแต่อย่างใด

ผมจึงไม่ได้ตื่นเต้นกับคลิปที่ 3 มิติเอามาเผยแพร่ให้ด้อมส้มดีอกดีใจกันว่าพิธารอดแล้ว เพราะสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น

ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า การที่บริษัทไอทีวีจดบริคณห์สนธิชัดเจนว่าทำธุรกิจสื่อเคยเป็นสื่อโทรทัศน์เพียงแต่ตอนนี้ถูกถอนใบอนุญาตและเป็นกรณีพิพาทกันอยู่ และไอทีวีแม้ไม่ได้ออกอากาศแต่ยังไม่ได้ปิดกิจการยังถือเป็นธุรกิจสื่อหรือไม่ต่างหาก ถ้าศาลเห็นว่า ไอทีวียังเป็นธุรกิจสื่อตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบันทุกอย่างก็จบ

ตอนนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผลการดำเนินคดีของพิธา ตามมาตรา 151 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี และถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปีจะออกมาอย่างไร เพราะตอนนี้ กกต.ได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน หากผลการไต่สวนออกมามีมติให้ดำเนินคดีก็จะไปถึงขั้นตอนอัยการ หากอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป มีคนบอกว่าคดี 151 นั้นจะต้องสู้กัน 3 ศาลอาจจะใช้เวลาหลายปี แต่จริงแล้วแค่ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิดก็ส่งผลสะเทือนแล้วไม่ต้องรอถึงศาลฎีกา

เพราะคุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง(7) ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

จะเห็นได้ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดแค่ศาลชั้นต้นก็จบแล้ว นี่ว่ากันว่า หากพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วนะ

แต่ไม่ต้องห่วงหรอกว่าคดีนี้จะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญที่จะจบเร็วกว่าไหม หาก กกต.มีการรับรองพิธาเป็น ส.ส.แล้ว ก็ต้องมี ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่ๆ แต่จริงๆ แล้ว กกต.นั่นแหละที่น่าจะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเอง หาก กกต.มีความเชื่อตามมาตรา 151 ว่า พิธารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร

เมื่อไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็อาจสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ หากว่า ตอนนั้นพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วนะ

ดังนั้นถึงตอนนี้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะพ้นบ่วงหุ้นสื่อหรือไม่ก็ต้องลุ้นต่อไป

ส่วนกรณีที่บอกว่า พิธาโอนหุ้นไปให้ทายาทอื่นแล้ว ดังนั้นวันนี้พิธาไม่ได้ถือหุ้นสื่อแล้วนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่นะครับ เพราะน่าจะต้องดูว่า ณ วันที่พิธาสมัครรับเลือกตั้งว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ ไม่ใช่ว่าโอนออกไปแล้วหลังจากนั้นแล้วจบกัน

ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือ ที่พิธาอ้างว่า เป็นผู้จัดการมรดกถือไว้ในฐานะผู้จัดการมรดก ก็มีคำถามว่า ทำไมถึงวันนี้จากวันที่พ่อเสียชีวิตผ่านมา 17 ปีแล้วยังจัดสรรมรดกไม่เสร็จ จะอ้างว่า หุ้นไอทีวีไม่สามารถโอนไม่ได้ก็ไม่ใช่ แล้วการโอนไปให้ทายาทอื่นก็มีคำถามอีกว่า ในเมื่อพิธาก็เป็นทายาทด้วยหุ้น 48,000 หุ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธาในฐานะทายาทด้วย หรือว่าพิธาจะอ้างว่า ตัวเองได้สละมรดกก็มีคำถามตามมาอีกว่า สละมรดกจริงไหม

ไปดูกฎหมายแพ่งว่าด้วยการสละมรดก

มาตรา 1612 การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา 1613 การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้ การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้

มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

พูดง่ายๆ ว่าจะออกลูกว่าตัวเองไม่ได้ถือหุ้นไอทีวีไว้ตั้งแต่วันพ่อตายเพราะได้สละมรดกไปแล้วเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งต้องตอบคำถามว่าแล้วถือไว้ทำไมในชื่อตัวเอง เพิ่งมาโอนให้ทายาทอื่น

ผมปรึกษากูรูด้านกฎหมายมรดกได้ความว่า การสละมรดกมีแบบคือ ทำหนังสือมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำสัญญาประนีประนอมกับทายาทอื่น ตกลงกันไว้ (ไม่ต้องครบทุกคน) ที่สำคัญ สละมรดกต้องสละทุกชิ้นทุกอย่างของมรดก จะสละบางส่วนไม่ได้ ดังนั้นถ้ารับที่ดินหรือรับมรดกอื่น แต่ไม่รับแค่หุ้นไอทีวีไม่ใช่การสละมรดก คำถามว่ามีการทำหนังสือสละมรดกมั้ย

แต่หากตกลงกันรับบางส่วนไม่รับบางส่วนมันจะเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งก็ต้องทำสัญญามีการลงลายมือชื่อกับทายาทอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ก็ถามว่ามีการทำหนังสือไว้หรือไม่

แล้วตกลงพิธาสละมรดกหรือทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์กันแน่ แต่อย่าคิดทำเอกสารย้อนหลังเชียว เพราะจะดึงทายาทคนอื่นเดือดร้อนไปด้วย ตอนนี้ดูเหมือนยิ่งดิ้นยิ่งเหมือนลิงแก้แห

ผมจึงคิดว่า การไปเอาคลิปการประชุมบริษัทมาเปิดแล้วอ้างว่าไม่ตรงกับบันทึกการประชุมนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับที่ว่าพิธาจะรอดจากการถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นข้อต้องห้ามของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 98(3) ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ตอนนี้ก็ต้องลุ้นว่า หากพิธาผ่านการรับรอง ส.ส.มาได้ เรื่องจะไปจบในศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่รัฐสภาจะร่วมโหวตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าจบก่อนแล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ผิด บรรดา ส.ว.ที่ส่วนใหญ่จะไม่โหวตให้ก็จะรอดตัวไปจากอารมณ์คุกคามของด้อมส้มที่เกรี้ยวกราดหากพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะรับความเกรี้ยวกราดของด้อมส้มแทน

แต่หากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่จบหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าพิธาไม่ผิด เมื่อเข้าไปโหวตในสภาฯ แล้ว ส.ว.ไม่ยกมือให้ พิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส.ว.ก็รับอารมณ์ของด้อมส้มไป

สรุปก็คือไม่ว่าคดีหุ้นไอทีวีจะออกลูกไหนสุดท้ายพิธาก็จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละครับท่านผู้ชม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น