“ว่าที่รัฐบาล” ติดอยู่ในโลกเสมือนจริงยังเดินหน้า จัดทีมงานเปลี่ยนผ่านได้มากกว่า 10 คณะ รับผิดชอบงานต่างๆ เป็นประสบการณ์ใหม่ของนักเลือกตั้งรุ่นเก่าที่ถูกกำกับบทโดยคนรุ่นใหม่ลำพองในอำนาจที่ยังไม่มี และยังไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะได้มีหรือไม่
นักเลือกตั้งเขี้ยวยาวต้องจำใจรับบทการเมืองสมัยใหม่ ก้าวเร็ว ต่างจากยุคที่ผ่านมา ผู้ชนะมุ่งได้อำนาจเพื่อถอนทุน บวกกำไร เสริมสร้างฐานอำนาจให้อยู่ได้นาน
ถ้านักเลือกตั้ง หรือพวกผสมในรัฐบาลทหารเป็นใหญ่ ไม่หวังกอบโกยความมั่งคั่งจากทรัพยากรแผ่นดิน บ้านเมืองคงไปไกลกว่านี้ ไม่มีทุจริต คอร์รัปชันเรื้อรัง
คำประกาศของ “ว่าที่นายกฯ” เรื่องจะจัดการปัญหาทุจริตในรัฐบาลที่หวังว่าจะเป็นจริง จึงไม่เป็นเหตุจูงใจ ในการแสวงหาผลประโยชน์สำหรับนักเลือกตั้งรุ่นเก่า
ที่ทำเป็นร่วมนั่งแถลงข่าวด้วย แสดงออกเหมือนมีอุดมการณ์สูงส่ง มุ่งทำงานเพื่อบ้านเมือง จึงเป็นเพียงการเล่นละครให้สมบทบาท รอวันเข้าร่วมกุมอำนาจ
วันนั้นแหละ พฤติกรรมการถอนทุน จัดสรรแบ่งปันส่วนผลประโยชน์ กระทรวงใครกระทรวงมันจะเป็นเหมือนเดิม “ว่าที่นายกฯ” จะไม่มีปัญญาทำอะไรได้ การถอนตัวจะทำให้รัฐบาลล่ม การหักหลังทรยศถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองชิงอำนาจ
ก่อนจะถึงวันนั้น พรรคนายห้างดูไบจำต้องแสดงบท กล้อมแกล้ม ไม่ให้ดูน่าเกลียด หัวหน้าพรรคของนายห้างดูไบบางครั้งแสดงอาการเบื่อหน่ายในบทละคร
เอาเถอะ ผ่านด่าน กกต.หลายเรื่อง ทำให้ดูเหมือนอุปสรรคขวากหนามไม่สามารถต้านทานแรงบุญวาสนาของ “ว่าที่นายกฯ” ได้ แต่ยังมีอีกหลายบทให้เล่น
บทที่กำกับโดยว่าที่นายกฯ พรรคอื่นๆ ก็ร่วมเล่นด้วย ยังไม่ถึงบทที่พรรคนายห้างดูไบ และพวกที่ซ่อนดาบในรอยยิ้มจะขอมีส่วนนำเสนอบ้าง แน่นอนต้องมีบทโหด
เหมือนดูหนังบู๊ผสมลึกลับ เร้าใจ ต้องลุ้นแทบทุกตอน ดนตรีประโคมจากแผ่วเบาไปสู่ระดับเสียงแรงขึ้น จนถึงจุดดังสูงสุดที่เรียกว่า crescendo นั่นแหละบทสำคัญที่จะมีการชักมีดออกมาจ้วงใส่กัน ตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะในฉากสุดท้าย
จูเลียส ซีซาร์ โดนจ้วง 23 แผลด้านหลังโดยกลุ่มวุฒิสมาชิกสมรู้ร่วมคิดกันมากกว่า 60 คน ยุคจักรวรรดิโรมัน ก่อนตาย ซีซาร์ อุทานว่า Et tu Brutus?
“บรูตุส เจ้าก็เอากับเขาด้วยหรือ?” มีนักแทงข้างหลังแบบบรูตุส เยอะ การเมือง น้ำเน่าแบบไทยๆ เรียกว่า “งูเห่า” นิยม “กินกล้วย” อาหารผิดธรรมชาติของงู
พวกนี้จัดอยู่ในกลุ่ม “งูพิษในพงหญ้า” ตามคำเปรียบเปรยของฝรั่ง
ดูตามสภาพแล้ว “อำนาจเพื่อผลประโยชน์” คือตัวประสานให้ 8 พรรคน้อยใหญ่เกาะกลุ่มกัน พรรคย่อยเป็นเพียงตัวประกอบ ที่สำคัญคือพรรคส้มกับพรรคนายห้างดูไบ ต้องพึ่งกัน ผลประโยชน์ต่างกัน แต่พรรคส้มต้องพึ่งพรรคนายห้างดูไบมาก
ถ้าพรรคนายห้างดูไบถอนตัวอ้างว่า “ขัดแย้งกันด้านแนวคิด นโยบาย ไม่อยากร่วมกับแผนล้มเจ้า ปรับโครงสร้างงานความมั่นคงของประเทศ” หรืออะไรก็สุดแล้วแต่
พรรคนายห้างดูไบถอนตัว พรรคส้มก็จอดไม่ต้องแจว แต่อย่างว่านั่นแหละ ยังไม่ถึงละครฉากนั้น ต้องซ่อนมีดไว้ก่อน ถ้าถอนตัวตอนนี้ หักหลังเร็วเกินไป จะมีผลกระทบต่อความนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ช่วงนี้ต้องเกาะกันแน่นไว้
ขั้นตอนสำคัญ หลังจากทุกสิ่งผ่านไป รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องมีอย่างนั้น ก็คือบรรดาวุฒิสมาชิก อดีตข้าราชการ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่า สายความมั่นคง
พรรคนายห้างดูไบต้องรอแผน “ยืมดาบฆ่าคน” ไม่จำเป็นต้องลงมือด้วยตัวเอง ปล่อยให้ว่าที่นายกฯ เล่นบทสนุกกับอำนาจในโลกเสมือนจริงต่อไป ดำรงกระแสเด็กเจี๊ยวให้คึกคักกับความฝันกลางวัน ผลสุดท้ายจะเป็นฝันเปียกแฉะ บทจะจบอย่างนั้น
ฉากต่อไป จะเป็นบทให้เด็กเจี๊ยวอาละวาดบนท้องถนนหรือไม่ ตามคำขู่ของผู้นำเด็กที่ก็โดนหลอกให้ออกมาเดินถนน ติดคุกสะสมคดีอาญา ตัวเองแทบจำไม่ได้
ทุกวันนี้ต้องลุ้นว่าพรรคส้มจะเป็นรัฐบาลตามฝันหรือไม่ หวังจะได้นิรโทษกรรม ไม่อย่างนั้นมีโอกาสติดคุกสะสมคดีอีกนาน ที่ผ่านมามีประสบการณ์ในคุกไม่น้อย
การปั่นกระแสโซเชียล ให้กลุ่มเด็กเจี๊ยวคึก ยังถูกเสริมด้วยนักวิชาการ นักกฎหมายแอบจิตพวกส้ม แสดงความเห็นเชิงอวยด้วยตรรกะสารพัด
อย่างที่รู้กันอยู่ ถ้ามีนักกฎหมาย 5 คน นั่งถกกัน จะมีอย่างน้อย 7-8 ความเห็น ถ้าถกเถียงกันนาน จะมีความเห็นกว่า 10 ประเด็น เอาแน่นอนไม่ได้
อย่างเช่นนักกฎหมายจบคณะเดียวกัน 4 คน เป็นตำรวจ ทนายความ อัยการ ตุลาการ พิจารณาคดีเดียวกัน สำนวนทำโดยตำรวจ ผ่านอัยการ สู้กันในศาล
ก็ยังต้องเถียงกันเรื่องหลักฐาน ผลสุดท้าย ผู้ชนะคดีอาจเป็นอัยการ หรือทนายความ โดยคำพิพากษา ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับสำนวนและหลักฐานประกอบ
ผู้ต้องหาหลุดพ้นจากอาญา ผู้บริสุทธิ์ติดคุก ก็เคยมีมาแล้ว
ในเรื่อง “ว่าที่รัฐบาล” ของ “ว่าที่นายกฯ ส้ม” มีความเห็นนักกฎหมายเยอะ ทั้งที่มีกฎหมายเขียนให้ศึกษาเหมือนกัน ต่างอ้างมีเหตุผล ทำเอาชาวบ้านเคลิ้ม
ถ้าไปลงเอยที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้เห็นมาแล้วว่าบางครั้งมีมติไม่เอกฉันท์ บางยุคอ้างว่าจะใช้นิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้รัฐศาสตร์ประกอบด้วย
อ้อ! ยังมีความเห็นของนักกฎหมายแนวศรีธนญชัยศาสตร์ ใช้อภินิหารทางกฎหมายได้ด้วย ดังนั้น ความเห็นของนักกฎหมายต้องดูว่าคนพูดเป็นใคร
“นิติสงคราม” มันมี “นิติโวหาร” ผสมด้วย “โว” แล้วต้อง “หาร” หลายรอบ