หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ถึงวันนี้ผมฟันธงว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถือครองหุ้นสื่อขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3)
ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ไอทีวีไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีมาเป็น10ปีแล้ว ทรัพย์สินในการทำทีวีถูกโอนไปให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแล้ว ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่เบาบางมาก เพราะบริษัทไอทีวียังเปิดดำเนินการอยู่จะกลับมาทำสื่อเมื่อไหร่ก็ได้ แม้จะไม่สามารถจดทะเบียนเป็นโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้เพราะช่องเต็มหมดแล้วก็สามารถทำสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแบบวอยซ์ทีวี ท็อปนิวส์ หรือนิวส์วันได้ ขั้นตอนการขออนุญาตไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไร หรือไปซื้อใบอนุญาตจากผู้ได้รับสัมปทานทีวีดิจิทัลก็ได้ตอนนี้มีคนอยากขายเต็มไปหมด
ส่วนข้ออ้างว่าทรัพย์สินถูกโอนไปให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะบริษัทมีฐานะดีพอมีผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งที่จะจัดหาได้โดยไม่ยาก และเทคโนโลยีในการทำสื่อโทรทัศน์นั้นทุกวันนี้ถูกลงและต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ
ที่สำคัญคนที่จะตอบคำถามว่า บริษัทไอทีวียังประสงค์จะทำสื่ออยู่หรือไม่คือผู้บริหารบริษัทไอทีวี ไม่ใช่คนนอกที่ไปคาดการณ์แทน และผู้บริหารก็เคยตอบผู้ถือหุ้นไปแล้วว่า ยังทำกิจการสื่ออยู่
เราคงทราบกันว่าตอนที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งหุ้นของบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ร่วงทันที เพราะคนกลัวพรรคก้าวไกลเข้ามารื้อโครงสร้างพลังงาน และบริษัทกัลฟ์กับพรรคก้าวไกลมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ เพราะก้าวไกลเอากัลฟ์มาชำแหละในสภาอย่างหนัก
คนอาจจะเข้าใจว่าไอทีวีเป็นของทักษิณ แต่จริงวันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะไอทีวีเป็นของเสี่ยกลาง สารัชต์ รัตนาวดี คู่ปรับของพรรคก้าวไกลนั่นเอง เพราะกัลฟ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อินทัช ส่วนอินทัชเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไอทีวี โดยพบว่า 10 อันดับผู้ถือหุ้นของ ITV อันดับ 1 คือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือ 638,602,846 หุ้น คิดเป็น 75.18% ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่อินทัชก็คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของเสี่ยกลางถือหุ้นอยู่ 41.13%นั่นเอง
อย่างนี้ถึงเวลาผู้บริหารไอทีวีซึ่งอาจจะต้องไปให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วยืนยันว่า ถึงวันนี้ไอทีวียันมีจุดมุ่งหมายที่จะทำธุรกิจสื่ออยู่ แค่นั้นทุกอย่างก็จบแล้ว เมื่อไอทีวีเจ้าของตัวจริงคือเสี่ยกลาง แล้วลองคิดดูสิว่าพิธาจะรอดไหม
ประเด็นที่โต้แย้งว่าเมื่อไอทีวีปิดสถานีโทรทัศน์ในระหว่างที่พิธาถือหุ้นเข้ามาเป็นนักการเมืองนั้นไม่ได้ออกอากาศเลย แล้วจะไปใช้ไอทีวีมาเป็นประโยชน์หรือได้เปรียบคู่แข่งอย่างไรนั้นก็ฟังไม่ขึ้น เพราะกฎหมายเขาเขียนไว้ว่า ห้ามถือหุ้นธุรกิจสื่อ เมื่อถืออยู่ก็มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายแล้ว
และเมื่อดูแนวคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีบรรทัดฐานเอาไว้แล้วก็ยิ่งบอกว่าโอกาสรอดไม่มีเลย แม้จะมีคนอ้างแนวคำพิพากษาของศาลฎีกากรณีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ที่ศาลบอกว่าถือหุ้นน้อยไม่มีอำนาจในการตัดสินใจก็ไม่ได้มีผลผูกพันกับศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นกรณีของนายชาญชัยนั้นเป็นการถือหุ้นสื่อทางอ้อมคือบริษัทเอไอเอสที่นายชาญชัยถือหุ้นนั้นไม่ได้ทำสื่อโดยตรงแต่ไปถือหุ้นในบริษัททำสื่ออีกต่อหนึ่ง จึงแตกต่างกับกรณีของพิธามาก
แม้พิธาจะอ้างว่าเขาตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้เขาถือครองหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็นมรดกของพ่อไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้เขาจัดการแบ่งมรดกหุ้นไอทีวี ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัทไอทีวี ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้ ถ้าศาลชี้ว่าเป็นการถือหุ้นสื่อเพราะมีความผิดเกิดขึ้นแล้ว
และที่ประหลาดมากก็คือจะเห็นว่า พิธาพยายามอ้างว่าเขาถือหุ้นแทน”ทายาทอื่น” ทั้งที่ถ้าเป็นทรัพย์สินจากกองมรดกหุ้นไอทีวีก็จะเป็นของเขาส่วนหนึ่งในฐานทายาทด้วย
หากถามว่าหากพิธาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจะมีผลให้การทำธุรกรรมก่อนหน้านั้นของพิธาเป็นโมฆะไหม เช่นการเซ็นรับรองส.ส.ของพรรคเพื่อลงสมัครทั้งที่ตัวเองมีคุณสมบัติต้องห้าม ผมคิดว่าคงไม่ออกมาแนวที่อาจารย์วิษณุ เครืองามบอกนะว่าต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศซึ่งน่าจะหมายถึงเขตที่ส.ส.ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าไม่มีผลไปถึงขั้นนั้น เพราะการตัดสินน่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาไม่ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น
แต่ออกตามแนวที่อาจารย์วิษณุว่า ก็จะวุ่นวายไม่น้อยเพราะจะส่งผลถึงคะแนนบัญชีรายชื่อทั้งหมดของพรรคก้าวไกลด้วยว่าจะเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะต้องถือว่าได้คะแนนมาโดยไม่ชอบทั้งหมด
ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่า ขั้นตอนที่พิธาจะถูกพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญกับการโหวตนายกรัฐมนตรีในสภาอะไรจะเกิดขึ้นก่อนเท่านั้นเอง ถ้าถูกพิพากษาก่อนส.ว.ก็ไม่ต้องออกแรง แต่ถ้ามีปาฏิหาริย์ทางกฎหมายผ่านศาลรัฐธรรมนูญมาได้ ก็เชื่อว่าพิธาจะไม่ผ่านด่านส.ว.อยู่ดี
ดังนั้นฟันธงเลยว่า พิธาจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจากถูกศาลตัดสินหรือไม่ผ่านมือส.ว.ก็ตาม
มีคำถามที่ตามมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนี้พิธาแสดงตัวเหมือนกับเขาเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว มีการเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล มีการเรียกและเข้าพบทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อขอข้อมูลก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือรับปากว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้หากได้รับตำแหน่ง หรือพยายามพูดว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของตัวเองนั้นเป็นฉันทามติของประชาชนทั้งที่ได้รับเลือกตั้งมาเพียง 151 เสียงจาก 500 เสียงและเป็นเพียงพรรคอันดับ 1 ซึ่งกติกาเขียนไว้แล้วว่าจะต้องได้เสียงในสภา 376 เสียงซึ่งยังห่างไกลจากความจริงอีกมาก ไม่ใช่ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 1 แล้วจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที แม้ตอนนี้จะรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นอีก 7 พรรคได้แล้ว 312 เสียงก็ยังต้องการเสียงสนับสนุนอีกมาก ซึ่งพิธาก็รู้กติกานี้มาแต่ต้นแล้ว
การแสดงออกของพิธาว่าตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็เพื่อต้องการสร้างกระแสให้มวลชนของตัวเองออกมาต่อต้านหากสุดท้ายไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่แสดงอยู่นั่นเอง สิ่งที่ตามมาก็คือจะกล่าวหาว่า ศาลใช้นิติสงครามในการตัดสิทธิ์ตัวเอง หรือไม่ก็กล่าวหาว่าฝ่ายอำนาจเก่าหรือมือที่มองไม่เห็นกลั่นแกล้งเพื่อปลุกมวลชนให้ลงถนน
ทั้งๆ ที่ต้องยอมรับความจริงว่าเป็นความผิดพลาดของพิธาเอง และเคยมีบทเรียนจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจมาแล้ว แต่ถึงไม่มีบทเรียนจากธนาธร พิธาจะไม่รู้ได้อย่างไรว่าเขาห้ามถือหุ้นธุรกิจสื่อ แต่จริงๆรู้นั่นแหละแต่พยายามปกปิดจนถูกเปิดเผยออกมาจึงยอมรับสารภาพว่าถือหุ้นจริงซึ่งถึงตอนนี้แม้จะโอนออกไปก็คงไม่สามารถลบล้างความผิดได้แล้ว
แต่หากมวลชนของพรรคก้าวไกลจะลงถนน จะต้องเจอกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เพราะหากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แล้ว พรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก็คือพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนห่างจากพรรคก้าวไกลเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้นเอง และพรรคเพื่อไทยมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายกว่าพรรคก้าวไกล เพราะสามารถจับมือกับพรรคที่เป็นขั้วรัฐบาลเดิมและมีโอกาสเรียกเสียงของส.ว.ได้มากกว่าหากมีพรรคร่วมรัฐบาลเช่นพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม
แต่ความก้าวร้าวของด้อมส้มอาจจะเบาบางลงถ้าหากว่าพรรคก้าวไกลยอมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและรอคอยโอกาสใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ขณะเดียวกันหลายคนหวั่นว่าหากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นรัฐบาลเที่ยวนี้การเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะยิ่งได้รับเลือกเข้ามามากขึ้น อาจจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยพรรคเดียว เพราะครั้งต่อไปไม่มีเสียงของส.ว.มาช่วยโหวตแล้ว แต่ก็มีความเห็นว่าสถานการณ์ข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนไป ถ้ารัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารสามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พอใจได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล
แต่หากให้พรรคก้าวไกลขึ้นมามีอำนาจในวันนี้นั้นชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะพาประเทศสุ่มเสี่ยงมากโดยเฉพาะจุดยืนของประเทศต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน และการรักษาสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายชัดเจนว่าจะยืนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาซึ่งเขียนไว้อย่างชัดแจ้งในนโยบายของพรรค และประเด็นสำคัญคือนโยบายของพรรคก้าวไกลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ล้มเหลวแล้วอนาคตข้างหน้าถ้าเกิดปรากฏการณ์ส้มเต็มเมืองยิ่งกว่าครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับผลร่วมกัน
สิ่งที่สังคมไทยหวาดกลัวคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนที่มีความคิดและอุดมการณ์ต่างกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งไหม หลังจากเราติดหล่มนี้มาแล้วเกือบสองทศวรรษ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan