ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นโยบายพรรคก้าวไกลที่จะเสนอกฎหมายให้การทำธุรกิจสุราเสรีขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสุราเสพติดง่ายกว่ากัญชา และเป็นโทษที่รุนแรงทั้งต่อสุขภาพและสังคมยิ่งกว่ากัญชา
โดยงานวิจัยในปี 2554 เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ 15,918 คน, แอลกอฮอล์ 28,907 คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง 7,389 คนพบว่า นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่สูงสุด 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้าสูงสุด 22.7% และหากสูบกัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียง 8.9%[1]
กัญชามีโอกาสติดได้ 8.9% น้อยกว่าการติดเหล้า 2.5 เท่าตัว และน้อยกว่าบุหรี่ 7.5 เท่าตัว อีกทั้งเหล้ารวมทั้งบุหรี่สามารถซื้อขายได้ตามร้านค้าทั่วไปและร้านสะดวกซื้อ ทำไมเหล้าและบุหรี่ไม่ต้องทำให้เป็นยาเสพติด ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับโดยตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรายาเสพติดแต่ประการใด
การดื่มสุราจน “เมาสุรา” มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย และมีโอกาสก่ออาชญากรรมได้มากกว่าการเมากัญชาอย่างเทียบกันไม่ได้เลย เพราะกัญชาหากบริโภคเกินจะทำให้เกิด “ความหวาดกลัว” และ “ทำให้นอนหลับ”
สอดคล้องกับงานค้นคว้าและงานเขียนของ “นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว” ซึ่งได้ทำงานค้นคว้าภาษิตโบราณของคนนครศรีธรรมราช ซึ่งทำให้เห็นว่าการดื่มเหล้ากระตุ้นทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือความรุนแรงได้ง่าย แต่ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นผู้ที่ไม่ต้องการก่อความรุนแรงกับใครความว่า
“เหล้าว่าเอาวา กัญชาว่าอย่าก่อน ฝิ่นว่าคิดให้แน่นอน ท่ม(กระท่อม)ว่าหาบคอนยกให้ฉาน”[2]
โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ 7.1 ลิตร/คน/ปี เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย คนที่ดื่มอายุน้อยที่สุดคือ 9 ปี โดยการดื่มสุราเป็นประตูไปสู่ปัญหาอย่างอื่นที่รุนแรง[3] โดยผลการศึกษาเทียบกับนักเรียนที่ดื่มสุรากับนักเรียนที่ไม่ดื่มสุราพบว่า
“นักเรียนดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงในการพกพาอาวุธ 2.96 เท่า,
นักเรียนดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงชกต่อยตบตีทะเลาะวิวาท 3.38 เท่า,
คนที่ถูกแฟนของนักเรียนดื่มสุราตบตีทำร้ายโดยจงใจ 3.08 เท่า,
โดยเฉพาะเด็กเยาวชนดื่มเหล้ามีผลทำให้มีการกระทำที่รุนแรงรวมถึงคดีทำร้ายร่างกาย และโทรมหญิงถึงในระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ 34.8% และมากกว่า 50% กระทำความผิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 ชั่วโมงซึ่งขณะทำผิดยังมีอาการมึนเมาด้วย”[3]
คำถามมีอยู่ว่า “กัญชา”ซึ่งมีโอกาสติดยากกว่า “เหล้า”ประมาณ 2.5 เท่าตัว[1] แต่กัญชากลับไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการ “ก่อความรุนแรง” หรือเสี่ยง “ก่ออาชญากรรม” เหมือนการติดเหล้าด้วย เราควรจะเป็นห่วงเรื่องอะไรมากกว่ากันระหว่าง “แอลกอฮอล์” หรือ “กัญชา”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงสุรานั้น “ง่ายกว่า” การเข้าถึงกัญชาอย่างเทียบไม่ได้เพราะอยู่ในร้านสะดวกซื้อทุกร้าน และอยู่หน้าโรงเรียน และศาสนสถานด้วย ทำไมสังคมจึงไม่ห่วงเรื่องสุราที่มีปัญหามากกว่ากัญชา
โดยผลการศึกษาพบบว่าคนไทยใช้เวลา 4.5 นาที ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระยะทางเฉลี่ย 342 เมตร อีกทั้งรอบสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร มีร้านจำหน่ายเฉลี่ยมากถึง 57 ร้านในทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถซื้อแอลกอฮอล์สำเร็จ 98.7%[3]
ไม่เพียงแต่เรื่องของสุราต่อปัญหาที่มีต่อสังคมในมิติการง่ายต่อการเสพติด และการก่อปัญหาความรุนแรงทางสังคมเท่านั้น แต่สุรายังมีปัญหาทำลายต่อสุขภาพด้วยอย่างชัดเจน
สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 59 ปี ได้ประกาศว่าพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ[4]
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิดเช่นกันได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบน มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก[4]
ความน่าสนใจคือตลอดระยะเวลา 58 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีรายการสารก่อมะเร็งหรือเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เลย
นอกจากนั้น ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปเอาไว้เป็นบทความ “โรคยอดฮิตจากฤทธิ์แอลกอฮอล์” ได้แก่
กลุ่มโรคระบบสมองและระบบประสาท ได้แก่ โรคสมองเสื่อม และการพัฒนาสมองบกพร่อง ประสาทหลอน และระบบประสาทเสียสมดุลโรคซึมเศร้า ชาตามปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า
กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง
กลุ่มระบบทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคตับแข็ง โรคไขมันพอกตับ โรคมะเร็งตับ
กลุ่มโรคเรื้อรังและความผิดปกติอื่น ๆ โรคเบาหวาน โรคเกาต์ โรคพิษสุราเรื้อรังต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ ทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติขาดสารอาหาร
โดยคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มถึง 1.2-5 เท่า และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียงมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม [5]
แต่ตรงกันข้ามกับกัญชาที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ อาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก และลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน
กัญชามีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับกัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆ นอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84
ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ส่วนใหญ่ใช้อย่างผิดกฎหมาย เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายกัญชา
แต่ผลการศึกษาพบว่าหลังใช้กัญชาโรคที่เป็นมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ93[6]
นอกจากนั้นผู้ที่ใช้กัญชาลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้ถึงร้อยละ 58[6] ซึ่งแปลว่าน่าจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากยอดขายยาแผนปัจจุบันที่ตกลงด้วย
สอดคล้องกับวารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่ งานวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง 22 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2562 พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”
โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง”ปร ะมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า 16 มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆลดลงไปประมาณร้อยละ 11[7]
เช่นเดียวกับวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ 11.1, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป 12.2, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ 8, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ 9.5, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ 10.7, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ 10.8[8]
นอกจากนั้นการสำรวจทางระบาดวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น2.4 เท่า โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเปนเบาหวาน ร้อยละ 8.7 ในขณะที่คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือน เป็น เบาหวาน ร้อยละ 4.2 และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไป เป็นเบาหวาน เพียงร้อยละ 3.2[9]
กัญชายังช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด โดยการวิจัยเรื่อง การใช้กัญชากับการโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ในประเทศอังกฤษ พบว่าคนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 4, คนที่เคยใช้กัญชาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงร้อยละ 2 หรือต่างกัน 2 เท่า; มะเร็งไต: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งไต ร้อยละ 0.16, คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 0.08 หรือต่างกัน 2 เท่า[10]
อย่างไรก็ตาม “กัญชา” ไม่เพียงติดได้ยากกว่า “แอลกอฮอล์” เท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม “กัญชายังอาจจะมีโอกาสส่วนช่วยในการลดการดื่มแอลกอฮอล์” ได้ด้วย
โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Sciencedirect ผ่านวารสารเกี่ยวกับนโยบายยาระหว่างประเทศชื่อว่า International Journal of Drug Policy ฉบับเดือนธันวาคมพ.ศ. 2563 ซึ่งได้เผยแพร่งานวิจัยของคณะวิจัยชาวแคนนาดา พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ในแคนนาดานั้นมีแนวโน้มที่จะลดการดื่มสุราลงด้วย[11]
โดยผลสำรวจพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ประมาณ 44% ลดความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 30 วัน, อีกประมาณ 34% ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์จากมาตรฐานที่เคยดื่มในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา, และประมาณ 8% ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยตลอด 30 วันที่ผ่านมา[11]
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวสรุปความเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
“คำแนะนำจากการค้นพบของพวกเราพบว่าการเริ่มใช้กัญชาทางการแพทย์อาจสัมพันธ์กับการลดและการเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่แอลกอฮอล์คือสิ่งมีการใช้เพื่อนันทนาการอย่างชุกชุมที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ และการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการก่ออาชญากรรม อัตราการป่วย และอัตราการเสียชีวิต การค้นพบครั้งนี้อาจจะช่วยทำผลลัพธ์ต่อสุขภาพดีขึ้นในกลุ่มผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการทำให้การสาธารณสุขและความปลอดภัยของสาธารณะโดยภาพรวมดีขึ้น”[11]
งานวิจัยที่นำเสนอจากประเทศแคนนาดาคาดหวังต่อกัญชาในการลดการดื่มแอลกออล์และนำไปสู่การก่อความรุนแรงและลดอาชญากรรมในสังคมนั้น ยังได้ปรากฏตัวอย่างกรณีศึกษามาแล้วที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีการให้ใช้กัญชาจัดให้เป็น“ยาอ่อน”(Soft drug) ทั้งพื้นที่ทางการแพทย์และนันทนาการ เพื่อไปลดยาเสพติดที่ส่งผลกระทบรุนแรง(Hard Drug) และนำไปสู่การลดปัญหาการก่ออาชญากรรมในท้ายที่สุด จนกระทั่ง “คุกร้าง” และประเทศเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นต้องมีการนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ [12]
ที่เขียนมาทั้งหมดก็คงยังไม่เท่ากับผู้ป่วยโรคลมชักคนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องกัญชาอย่างดี ได้ลิ้มรสกัญชามีราคาแพงในต่างประเทศเพื่อรักษาตัวเอง และมีความตระหนักดีด้วยว่าในช่วงกัญชาเป็นยาเสพติดนั้น ผู้ป่วยจะเข้าถึงกัญชาได้ยากยิ่ง เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา
ผู้ป่วยคนนั้น ที่เคยระบุว่าตัวเองติดหนี้บุญคุณกัญชา ชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ได้ร่วมกิจกรรมที่ชื่อว่า “เดินเพื่อผู้ป่วย กัญชารักษาโรค” ระหว่างวันที่ 21 พ.ค.-9 มิ.ย.2562 จากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จ.พิจิตร ไปยังวัดบางปลาหมอ จ.สุพรรณบุรี นำการเดินโดยนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ “เพื่อรณรงค์ให้นำกัญชาออกจากบัญชี ยาเสพติดให้โทษ”
โดยในเหตุการณ์ครั้งนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญครั้งได้ตอบคำถามความตอนหนึ่งในระหว่างเดินรณรงค์ว่าปัญหาที่ทำให้กัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ในขณะนั้นว่า
“เป็นเพราะมายาคติเก่าๆ ใช่ไหมฮะ ต้องยอมรับว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่มันก็ต้องมีคนได้แล้วก็ต้องมีคนเสีย ไม่ต้องดูแค่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่ดูบริบทของโลกเลย ที่โคโรราโด เป็นต้น ยอดขายเบียร์กับยอดขายบุหรี่ตอนนี้น้อยกว่ายอดขายกัญชาไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องของอุตสาหกรรมยา คนมอมเมากับเหล้ากับบุหรี่มานาน พอมันมีอะไรที่เป็นสมุนไพรกว่า ที่มันไม่ติด ที่หยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้ถ้าไม่อยากจะใช้แล้ว ยากกว่าบุหรี่เยอะ ยากกว่ากาแฟอีก ถูกมั้ย”
เมื่อแน่ใจแล้วว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า “กัญชาเสพติดยากกว่ากาแฟแล้ว… แล้ว เหตุใดจึงจะเสนอนโยบายเอากัญชาเป็นยาเสพติดอีก?
หรือความจริงแล้วนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความอำมหิตหรือโหดเหี้ยมในจิตใจเพียงใด ที่ไม่ได้สนใจว่าผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะหมอไม่จ่ายกัญชาให้กลายเป็นอาชญากรผู้ผลิต ผู้ครอบครองยาเสพติด และต้องนำไปติดคุกให้หมด เพียงเพราะหมอไม่ได้จ่ายกัญชา?
หรือเป็นการทำให้การใช้กัญชาถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนแพทย์และบริษัทยา ใอยู่ในอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่มาพร้อมกับสิทธิบัตรยาข้ามชาติให้ยากัญชามีราคาแพง และไม่ให้ประชาชนได้พึ่งพาตัวเองได้
ทั้งๆ ที่เพียงแค่ผลักดัน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ให้เดินหน้าในการใช้ประโยชน์ควบคุม และมีบทลงโทษอย่างรอบด้าน ก็ไม่ต้องทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกเช่นกัน
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
1 มิถุนายน 2566
อ้างอิง
[1] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0376871610003753?via%3Dihub
[2] นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, กัญชากับภูมิปัญญาชาวบ้านไทย, นิตยสารสารคดีฉบับที่404, ตุลาคม 2561
[3] เมตตา คำพิบูลย์ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค, การประเมินและจัดการพฤติกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สไลด์ลำดับที่9
http://envocc.ddc.moph.go.th/uploads/ประชุม/20-21_11_61/AL_01.pdf
[4] The International Agency for Research on Cancer (IARC), monographs 2019.
https://monographs.iarc.who.int/wp-content/uploads/2019/12/OrganSitePoster.PlusHandbooks.pdf
https://monographs.iarc.who.int/monographs-available/
[5] วนะพร ทองโฉม, สายดื่มควรรู้ โรคยอดฮิตจากฤทธิ์แอลกอฮอล์, เว็บไซต์รามาแชนแนล, 7 มกราคม 2563
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic/สายดื่มควรรู้-โรคยอดฮิต/
[6] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565
[7] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable
[8] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519
[9] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494. doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494.
[10] Huang J, Huang D, Ruan X, Huang J, Xu D, Heavey S, Olivier J, Na R. Association between cannabis use with urological cancers: A population-based cohort study and a Mendelian randomization study in the UK biobank. Cancer Med. 2022 Aug 17. doi: 10.1002/cam4.5132. PMID: 35975633.
[11] Philippe Lucasab, et al., Reductions in alcohol use following medical cannabis initiation: results from a large cross-sectional survey of medical cannabis patients in Canada., Siencedirect, International Journal of Drug Policy, Volume 86, December 2020, 102963
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0955395920303017
[12] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ!?, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15, ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568