หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้แล้วที่เราจะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกัน ช่วงเย็นวันนั้นคงจะรู้แล้วว่าพรรคไหนจะชนะ และคงจะประเมินได้ทันทีว่า พรรคไหนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขั้วรัฐบาลเดิมจะกลับมาไหม หรือเปลี่ยนเป็นรัฐบาลจากขั้วฝ่ายค้าน และผลการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโพลไหม
ผมอยากให้เราจดจำโพล 3 โพลที่เผยแพร่ไปก่อนเส้นตาย 7 วัน โพลแรกคือนิด้าโพล ต่อมาคือ เนชั่นโพล และตามด้วย มติชน-เดลินิวส์โพล ทั้งสามโพลต่างคาดการณ์กันว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสองพรรครวมกันจะมีส.ส.มากกว่า 300 คน คือขั้วฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทั้งเนชั่นโพลและนิด้าโพล บอกว่าพรรคเพื่อไทยจะมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยพรรคก้าวไกล แต่มติชน-เดลินิวส์บอกว่า พรรคก้าวไกลจะมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยพรรคเพื่อไทย
ถ้าผลเป็นไปตามนิด้าโพลแม้ว่ายังต้องการเสียงอีกจำนวนหนึ่งจะถึง 376 คน แต่พรรคเพื่อไทยก็น่าจะเป็นแกนนำรัฐบาลได้ไม่ยากตามนิด้าโพลนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรหรือไม่ก็เศรษฐา ทวีสิน
ถ้าผลเป็นไปตามเนชั่นโพลที่จะถือว่าถล่มทลายมากหากสองพรรคนี้สามารถจับมือกันตั้งรัฐบาลได้เลยและนายกรัฐมนตรีจะเป็นอุ๊งอิ๊งหรือเศรษฐา
แต่ถ้าผลเป็นไปตามมติชน-เดลินิวส์โพลหากสองพรรคจะจับมือกันตั้งรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน แต่นายกรัฐมนตรีจะเป็นพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ผลจากทั้งสามโพลที่ออกมามีความแม่นยำนั้นเท่ากับปิดทางขั้วรัฐบาลเดิมกลับมาอย่างแน่นอน เหลือแต่ว่าพรรคการเมืองบางพรรคเช่นพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยจะมาร่วมรัฐบาลกับฝั่งนี้ไหม แม้ว่าแต่ละพรรคจะอ้างเงื่อนไขในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเอาไว้ก็ตาม
หรือไม่พรรคขั้วรัฐบาลเดิมต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหากมีเสียงส.ส.รวมกันเกิน 126 คนและได้รับการสนับสนุนจากส.ว.ครบทั้ง 250 คน แต่ทางนี้ก็เป็นทางที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะยังไงรัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ และจะเกิดการต่อต้านรุนแรงจากมวลชนอีกฝั่งเพราะเท่ากับเป็นการฝ่าฝืนมติของมหาชน
แต่คำถามที่ตามมาก็คือเป็นไปได้เหรอที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสองพรรคจะรวมกันได้ถึง 300 กว่าคนหรือรวมกันได้ถึง 400 กว่าคน เหลือที่นั่งให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมน้อยมาก
โพลต่างๆ อาจจะมีค่าคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ไม่มีวันที่จะถูกต้องแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ๆ แต่ผลก็น่าจะออกมาบวกลบไม่มาก ดังเช่นเนชั่นที่อ้างว่า 7 % แต่ถ้าผลออกมาต่างกับที่โพลคาดการณ์มากถามว่าสำนักโพลต่างๆจะรับผิดชอบอย่างไร โดยเฉพาะสำนักโพลที่เป็นสถานศึกษาอย่างนิด้าโพลที่จะสะท้อนความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาการของนิด้าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิด้าโพลใช้การสำรวจเพียง 2000 ตัวอย่างเท่านั้นเอง ส่วนโพลของสื่อนั้นพูดกันตามความเป็นจริงเลยว่าไม่มีความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
ต้องยอมรับนะครับว่าผลโพลที่แต่ละสำนักนั้นมีผลอย่างมากต่อจิตวิทยาในการเลือกตั้ง เพราะมันสามารถชี้นำสังคมได้ มันน่าจะมีผลในการตัดสินใจของคนจำนวนไม่น้อยเช่นว่าเมื่อเห็นโพลแล้วก็เชื่อว่าเลือกพรรคนี้ไปก็คงไม่ชนะ เลยเปลี่ยนไปเลือกอีกพรรคหนึ่งที่คิดว่าจะสู้ได้
แต่ถามว่าจะเป็นไปได้จริงหรือที่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสองพรรคจะรวมกันจนแลนด์สไลด์เอาชนะฝ่ายอนุรักษนิยมหรือขั้วรัฐบาลเดิมอย่างราบคาบชนิดที่ชนะกันอย่างไม่เห็นฝุ่นเลย ทั้งๆ ที่ดูฐานมวลชนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มวลชนสองฝั่งจะมีความแตกต่างกันไม่มาก และแม้ว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกเข้ามา 4 ล้านกว่าคน ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะชนะกันถล่มทลาย
แม้ว่าตัวผมเองก็เชื่อมาตลอดนะครับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สองพรรคคือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลน่าจะมีโอกาสชนะรวมกันสองพรรคเกิน 250 คน แต่ผมไม่คาดว่าจะชนะกันถล่มทลายอย่างที่สามโพลว่ามา
นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์และเชื่อกันว่าพรรคเพื่อไทยต้องชนะเป็นอันดับ 1 อย่างแน่นอน แม้ว่าโพลบางโพลบอกว่าพรรคก้าวไกลจะชนะแต่ถึงตอนนี้ก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะแม้พรรคก้าวไกลจะมีกระแสที่มาแรงในเขตเมืองและเราเห็นคนหลั่งไหลไปฟังคำปราศรัยของพรรคก้าวไกลมากในหลายเขต แต่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เมืองใหญ่โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือนั้นเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ยังคงศรัทธาในตัวทักษิณ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศล่าสุดของทักษิณว่าจะกลับบ้านก่อนถึงวันเกิดในเดือนกรกฎาคมนั้น ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มวลชนที่รักทักษิณเห็นว่าจะต้องช่วยลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ไม่เช่นนั้นความหวังที่จะกลับบ้านของทักษิณอาจจะพังทลายลงหากไม่ได้ถือครองอำนาจรัฐ
แต่อย่างที่กล่าวมาว่าถ้าผลออกมาตามที่เนชั่นโพลและนิด้าโพลและสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็คงจะมาจากแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ซึ่งความเห็นของผมเชื่อว่า ทักษิณเจ้าของพรรคตัวจริงจะเลือกลูกสาวของตัวเองคือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะทักษิณต้องการคนที่ไว้ใจได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์หากเขาจะกลับมาประเทศไทยเพื่อเลี้ยงหลานอย่างที่ลั่นวาจาเอาไว้
แม้ว่าสัญญาต่างๆ จากทักษิณนั้นทำให้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่เอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ถ้าเราอ่านใจทักษิณที่ทวิตเตอร์ขออนุญาตกลับบ้านล่าสุด โดยเฉพาะการกล่าวถึง “เจ้านาย” ทักษิณไม่น่าจะยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลที่ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เชื่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลพรรคก้าวไกลก็น่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีให้พรรคเพื่อไทย
แต่ถ้าเป็นไปตามมติชน-เดลินิวส์โพลที่พรรคก้าวไกลจะมาเป็นอันดับ 1 นั้น หากนายกรัฐมนตรีชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะเกิดความท้าทายต่อสังคมไทยอีกครั้งว่าจะเกิดปรากฏการณ์ไม่คาดฝันหรือไม่เพราะพรรคก้าวไกลนั้นชัดเจนและว่าสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป้าหมายคือการลดบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ และประกาศว่าจะจัดการปฏิรูปกองทัพ แกนนำของพรรคบางคนถึงกับพูดว่าการทำสงครามเวลานี้เขาใช้เรือประมงสู้กัน แล้วลงนึกภาพตามไปว่ากองทัพไทยจะถูกปฏิรูปไปอย่างไร
หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลแล้วรุกคืบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การตัดงบประมาณของสำนักงานส่วนพระมหากษัตริย์ การยกเลิกมาตรา 112 อย่างที่พิธาลั่นวาจาไว้ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์อย่างที่พรรคก้าวไกลมีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นช่องทางไปสู่กับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเหิมเกริมของคนหนุ่มสาวที่ออกมาท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะเกิดความขัดแย้งกับมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมหรือไม่ และสุดท้ายจะนำมาสู่ความรุนแรงในสังคมไทยหรือไม่
รัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะแสดงจุดยืนอย่างไรในภูมิรัฐศาสตร์โลก เขาจะพาประเทศไทยไปยืนข้างสหรัฐอเมริกาไหม เขาจะประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าจนขัดแย้งกับรัฐบาลพม่าไหม เขาจะสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง สนับสนุนอิสรภาพของไต้หวันจนขัดแย้งกับประเทศจีนไหม ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามหากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาล
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ จะมีพรรคการเมืองร่วมกับพรรคก้าวไกลเพื่อให้ได้เสียงถึง 376 เสียงโดยไม่ต้องพึ่งส.ว.หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปได้ยากมากโดยเฉพาะถ้าพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วยก็จะปิดประตูเลย
และอาจเป็นไปได้ว่าถ้าพรรคก้าวไกลชนะเป็นอันดับ 1 จะบีบให้พรรคการเมืองอื่นทุกพรรคหันไปจับมือกันตั้งรัฐบาลเพื่อสกัดกั้นพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล เพราะรู้ว่า หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้วนโยบายสุดโต่งของพรรคก้าวไกลอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงในชาติหากพรรคก้าวไกลไม่ลดนโยบายที่ท้าทายต่อสถาบันหลักของชาติและกองทัพลง
ดูเหมือนว่า หลังการเลือกตั้งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การเมืองในประเทศราบรื่น ความขัดแย้งต่างๆจะยังคงดำรงอยู่และรอวันที่จะปะทุเป็นความรุนแรง ถ้าเราไม่อาจหาทางออกที่จะให้เกิดความยอมรับร่วมกันได้ของคนต่างสีเสื้อและคนต่างรุ่นที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันจนยากจะประนีประนอมกันได้