ปชป.ชูโมเดลแลนด์มาร์คท่องเที่ยวชายแดนใต้ ลุยร่วมพัฒนา “เบตง” สู่เมืองเศรษฐกิจสำคัญ ดัน “สตูล” เป็รเมืองท่าหลักรับสินค้าเกษตรตีตราฮาลาล
วันนี้ (11 พ.ค.66) ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ทีมเศรษฐกิจและผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ว่า ได้ไปพบปะหารือร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อแลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา อ.เบตง สู่เมืองเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชายแดนใต้ ที่จัดโดยเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนอำเภอเบตง ทั้งนี้สิ่งที่ ปชป. จะทำทันทีหากได้เป็นรัฐบาล คือ การดูแลปากท้องของประชาชน เช่น การประกันรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง การส่งเสริมสนับสนุนฟาร์มไก่ฮาลาลให้เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถส่งออกยังตลาดใหญ่อย่างประเทศมาเลเซียและประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการเดินทางมาในพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการค้าชายแดน เป็นต้น
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวต่อว่า เบตงเป็นเมืองที่สวยงาม มีวัฒนธรรมเฉพาะ มีอาหารที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องลงทุนด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการขยายถนนให้กว้างขึ้น พัฒนาเส้นทางรองที่สามารถย่นระยะทางได้มากกว่าเส้นทางหลัก การสร้างจุดพักรถระหว่างเส้นทางยะลา-เบตง เพราะวิวสองข้างทางมีความสวยงามของลำน้ำที่อยู่กลางผืนป่าฮาลาบาลา เทียบได้กับริเวียร่าในประเทศฝรั่งเศส ไปจนถึงการศึกษาแนวทางการเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาเพื่อความปลอดภัยและทำให้คนเดินทางมา อ.เบตงได้ง่ายขึ้น โดยเบื้องต้นพบว่า อุโมงค์ดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 2-3 กม. ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาทต่อระยะทาง 1 กม. ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
“ด้านคมนาคมถือเป็นหัวใจสำคัญในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ฉะนั้นรัฐต้องลงทุนในด้านนี้ จากสนามบินหาดใหญ่มา จ.ยะลา ใช้เวลาประมาณ 4 ชม. ดังนั้น การขยายถนน การเจาะอุโมงค์ การพัฒนาถนนสายรองจึงมีความจำเป็น อันที่จริงแล้วเมืองเบตงก็มีท่าอากาศยานนานาชาติที่สามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์แบบใบพัดได้ แต่เปิดได้ 6 เดือนก็ยกเลิกไป ดังนั้น หาก ปชป.ได้เป็นรัฐบาล เราอยากเร่งรัดให้เกิดการขยายสนามบินให้เสร็จทันในรัฐบาลหน้า เพื่อรองรับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่นำนักท่องเที่ยวบินตรงมาลงเบตงได้ สำหรับระยะแรกนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจสนับสนุนเที่ยวบินราคาประหยัดให้ก่อน เมื่อบรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มคึกคักแล้ว ค่อยให้พื้นที่สนับสนุนต่อไป” ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าว
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวอีกว่า ทราบจากสมาคมท่องเที่ยวว่า ชาวฮ่องกงและชาวจีน นิยมเดินทางมา อ.เบตง โดยบินไปลงที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย แล้วนั่งรถประมาณ 1 ชม. เข้ามา แต่ปัญหาหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวประสบคือการผ่านด่านมีความล่าช้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า จะทำเอกสารเสร็จ เนื่องจากพอข้ามมาด่านไทยวีซ่าที่ถือมาไม่สามารถใช้ได้ ฉะนั้น จึงควรสนับสนุนการเดินทางข้ามชายแดนของนักท่องเที่ยวให้สะดวกมายิ่งขึ้น ทั้งระยะเวลาในด้านเอกสาร หรืออาจทำความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจากปีนังมาเบตง หรือเบตงไปปีนัง
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวด้วยว่า นอกจาก อ.เบตง จ.ยะลาแล้ว จ.สตูล ก็ควรได้รับการสนับสนุนในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย เพราะเป็นจังหวัดที่ร่ำรวยด้านทรัพยากรธรรมชาติ นักท่องเที่ยวให้ความชื่นชอบ หากสามารถยกระดับการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวให้กว้างขึ้นลึกขึ้นบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ ที่สำคัญคือเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการค้าขายจะสร้างงานในพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ๆ มีงาน มีรายได้ โดย ปชป. มีนโยบายโครงการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดท่องเที่ยวต้องการ เพื่อสนับสนุนให้เขาเหล่านี้มีอาชีพ มีรายได้ และไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อทำมาหากิน
“รัฐบาลและประชาชนในพื้นที่ต้องช่วยกันยกระดับสินค้าพื้นบ้านให้ได้คุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชนมากยิ่งขึ้น นโยบายการจัดตั้งธนาคารชุมชนและหมู่บ้านสนับสนุนเงินทุนแห่งละ 2 ล้านบาท ของเราจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น สามารถลงทุนต่อยอดกิจการที่ทำให้ขยายใหญ่ขึ้นได้ดี ทั้งนี้ สตูลเป็นแหล่งอารยธรรมและค้าขายของ 3 ประเทศ มีมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นคู่ค้าสำคัญ เราสามารถทำให้สตูลเป็นเมืองท่าหลักที่รับสินค้าเกษตรมาตีตราฮาลาล ส่งต่อไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อค้าขายกับอีกฝั่งนึงได้ พร้อมกันนี้ เราจะให้เกิดการศึกษาโครงการ Land bridge ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของการทำประมงท้องถิ่น เรื่องนี้ต้องร่วมงานร่วมหาทางออกกัน ทั้งภาครัฐและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นถนน ระบบราง หรือ ท่อส่งน้ำมัน อาจจะพิจารณาพื้นที่ทุ่งหว้า ซึ่งอยู่ตอนบนของสตูล เชื่อมเข้ากับท่าเรือน้ำลึกที่สงขลา โครงการนี้จะเกิดการพัฒนาด้านการค้าและขนส่งสินค้าแบบใหม่ แทนที่จะต้องเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน” ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าว