xs
xsm
sm
md
lg

“ทอม-กษิติ” ขอใช้ความรู้ประสบการณ์อาสาดูแล “หัวใจห้องที่ 4 ของ กทม.” (คลองเตย-วัฒนา)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัมผัสตัวตน-ความคิด “พี่ทอม-กษิติ กมลนาวิน” อดีตผู้ประกาศข่าวแถวหน้าเมืองไทย สวมเสื้อ “เสรีรวมไทย” อาสาดูแลชาวคลองเตย-วัฒนา เขต 4 กทม. ที่เจ้าตัวยกเป็น “หัวใจห้องที่ 4 ของ กทม.” มองการพัฒนา CBD ที่คลองเตยเป็นหัวใจ นำสู่การแก้ไขปัญหา-พัฒนาพื้นที่ 2 เขตที่บริบทแตกต่างกันลิบ

เป็นผู้สมัคร ส.ส.อีกรายที่ที่พกโปรไฟล์ระดับแชมเปี้ยนมาลงสนามเลือกตั้ง 2566 งวดนี้
“พี่ทอม” กษิติ กมลนาวิน อดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ชื่อดัง ที่พกประสบการณ์ใช้ชีวิตทำงานอยู่ในประเทศฝรั่งเศสร่วม 10 ปี และซึมซับแนววิธีการระดับสากล มาเสนอตัวขอเป้นผู้แทนราษฎร สวมเสื้อพรรคเสรีรวมไทย ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขต 4 (คลองเตย-วัฒนา)
เป็นพื้นที่เขต 4 ที่ในวงการยอมรับว่าถือเป็นเขตหิน ทั้งการแข่งขันสูงจากผู้สมัครมีชื่อหลายราย รวมไปถึงบริบทที่แตกต่างกันอย่างมากของ เขตคลองเตย ที่เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ และเขตวัฒนา ที่มีความเป็นเขตเมืองมากกว่า
แต่ในมุมมองของ “กษิติ” เห็นว่า ความแตกต่างกันของพื้นที่ รวมไปถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่กำลังจะเข้าสู่เขตคลองเตย เป็นโอกาสในการนำความรู้และประสบการณ์ตลอดจนความเข้าใจในบริบทชุมชน และเมือง มาอาสารับใช้พี่น้องประชาชน


วันนี้ Manager Online ของนำทุกท่านไปสัมผัสตัวตน และแนวคิดของ “พี่ทอม-กษิติ” รวมถึงความตั้งใจที่จะเข้ามาดูแลประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 4 กทม. คลองเตย-วัฒนา ที่เขาเปรียบว่าเป็น “หัวใจห้องที่ 4 ของ กทม.” ด้วย
“กษิติ” เปิดประเด็นว่า ขณะนี้กำลังจะมีการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือคลองเตยให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ กทม. โดยจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Central Business District (CBD) อันเป็นที่ศูนย์รวมทั้งอาคารสำนักงาน, คอนโดมิเนียม, ศูนย์การค้า, พาณิชย์นาวี และอื่นๆอยู่ที่นี่ เรียกว่า มิกซ์ยูส (Mixed-Use) คือ โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นเพื่อการอยู่อาศัย และพาณิชยกรรมบนพื้นที่เดียวกัน
“ซึ่งเรื่องนี้ชาวชุมชนคลองเตยรับทราบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูล และรายละเอียดของโครงการเท่าที่ควรจะเป็น ผมจึงเสนอตัวเป็นผู้เจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับชุมชนคลองเตย”
อดีตผู้ประกาศข่าวที่ผันตัวสู่ถนนสายการเมืองเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ย่านฝั่งธนบุรี กทม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่พลาดหวัง เล่าต่อว่า การจะแก้ปัญหาของชุมชนคลองเตยนั้นควรต้องเรียนรู้บริบท สภาพแวดล้อม และปัญหาเป็นอย่างดี ต้องให้เหตุผลที่มีน้ำหนักเพียนงพอว่า เหตุใดชุมชนคลองเตยที่อยู่มานานหลายสิบปี หรือตั้งแต่เกิดจนชั่วชีวิตต้องย้ายออกไป ต้องให้เขารู้ว่า ใครจะมาเอาพื้นที่ดังกล่าวไปเพื่อทำอะไร ทำผลกำไรมหาศาลขนาดไหน ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร
“คนที่จะเป็นผู้นำการเจรจาควรมีความรู้ด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงินการคลังพอสมควร ตลอดจน มีความรอบรู้ในระดับสากล ซึ่งผมเช่ือว่า ตัวเองมีคุณสมบัติทุกประการที่กล่าวไป พร้อมทั้งได้มีการศึกษาปัญหาทั้งหมด และมั่นใจว่า จะสามารถเจรจาให้เกิดผลที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้ชุมชนคลองเตยมีชีวิต และอนาคตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่ใน กทม. สร้างโอกาสมากๆให้นักธุรกิจรุ่นใหม่” ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งจบการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งในเมืองไทย และประเทศฝรั่งเศส ระบุ
เขาบอกอีกว่า จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องชาวชุมชนคลองเตย ที่มีราว 1.2 หมื่นครัวเรือน บนอาณาเขตประมาณ 432 ไร่ ทราบว่า มีการยื่นข้อเสนอ 3 แนวทางให้ชาวชุมชนเลือก คือ 1.รื้อย้ายแล้วเข้าอยู่ในอาคารสูงที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะสร้างให้, 2.ย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณแถววัชรพล มีนบุรี และ 3.รับเงินชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่ หรือกลับภูมิลำเนา ซึ่งเบื้องต้นชาวชุมชนเกือบทั้งหมดไม่รับข้อเสนอดังกล่าว
“จากการคำนวณราคาพื้นที่ตามราคาประเมินตารางวาละ 5 แสนบาท ซึ่งปกติจะซื้อขายกันแพงกว่านั้น อย่างน้อยก็ 2-3 เท่า รวมเนื้อที่ทั้งหมด ก็จะเป็นราคาไม่น้อยกว่า 2-3 แสนล้านบาท แค่ตัวเลขนี้ หากใครเป็นชาวชุมชนคลองเตยก็คงไม่รับข้อเสนอ ยังไม่รวมผลกำไรมหาศาลที่เอกชนจะได้จากการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตอีก”


“กษิติ” กล่าวย้ำว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย เองก็ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน (The Owner) ไม่เช่นนั้นก็สามารถประกาศขายแล้วนำเงินมาแบ่งกันเองในหมู่พนักงานได้เลย แต่ การท่าเรือแห่งประเทศไทยบ เป็นเพียงผู้ดูแล ที่เรียกว่า คัสโตเดี้ยน (The Custodian) แทนกระทรวงคมนาคม ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ดำเนินการแทนรัฐ และรัฐก็คือประชาชน ดังนั้น ที่ดินเป็นของประชาชน การที่จะขับไล่ผู้คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่หลายสิบปี หรือชั่วชีวิตนั้น จะต้องมีสิ่งทดแทนให้อย่างคุ้มค่า ตามหลัก Beneficiary Pays Principle คือ หลักการผู้รับประโยชน์เป็นผู้จ่าย
“นั่นก็คือ การท่าเรือฯ หรือบริษัทผู้เข้ามารับสัมปทาน 30 ปี 50 ปี 100 ปี ที่จ่อจะเข้ามาพัฒนาที่ดินผืนยักษ์ผืนนี้จะฟันกำไรมหาศาลเป็นหลายแสนล้านหรือล้านล้านบาท โดยตามหลักจุดคุ้มทุน (Break Even Point) เช่นโรงแรม จะอยู่ที่ระยะเวลา 6 ปี ดังนั้น ตามหลักการผู้รับประโยชน์ในการยกชุมชนคลองเตยออกไปจากพื้นที่ ก็ควรจะเป็นผู้จ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 1.5-2 ล้านบาท ไม่ใช่เสนอให้เพียงครัวเรือนละ 4-5 แสนบาทอย่างที่ผ่านมา”
“กษิติ” ที่มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... กล่าวถึงทางเลือกที่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จะสร้างบ้านให้ชุมชนย้ายไปอยู่แถววัชรพล มีนบุรี หนองจอก หรือแฟลตนั้น ทางชุมชนซึ่งคุ้นเคยกับการอาศัยอยู่ในคลองเตย จำนวนไม่น้อยมีอาชีพใช้แรงงานขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ หรือทำพาเล็ต ก็จะต้องสูญเสียอาชีพไป ในขณะที่คนอื่นๆก็จะต้องไปดิ้นรนหาอาชีพหรือค้าขายในที่แห่งใหม่อีก นี่ก็เป็นสาเหตุที่คนในชุมชนไม่อาจยอมรับข้อเสนอแม้จะเป็นการมอบบ้านให้ฟรีก็ตาม
“การท่าเรือฯ ต้องไม่เอาเปรียบผู้พักอาศัยในชุมชนคลองเตย ต้องทำให้อย่างครบวงจรคือสร้างทั้งเมืองเพื่อให้พวกเขาพบกับอนาคตได้จริงๆ นั่นคือ นอกจากบ้านพัก ยังต้องมีตลาดที่ทำมาค้าขาย โรงเรียน โรงพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือ รพ.สต. สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และในช่วง 5 ปีแรกก็ควรประกันการทำงานให้กับผู้ที่มีอาชีพในท่าเรือให้สามารถทำงานต่อได้ เช่น จัดรถรับ-ส่ง นอกจากนั้น ยังควรมีเงินก้อนเพื่อสำรองในการตั้งต้นชีวิตใหม่ให้กับทุกครัวเรือนอีกด้วย”


“กษิติ” แสดงความสนับสนุนการย้ายออกไปเพื่อสร้างชีวิตใหม่ เพราะจะทำให้ทุกคนไปมีอนาคตที่ดี ไม่ต้องจมปลักอยู่กับพื้นที่แออัดที่เต็มไปด้วยปัญหาทะเลาะวิวาท อาชญากรรม ลักขโมย ยกเค้า และเป็นการจบปัญหายาเสพติดอย่างสิ้นเชิง แต่ละคนสามารถลืมตาอ้าปากและยังมีโอกาสเขยิบฐานะทางสังคมให้สูงขึ้นอีกด้วย
“พื้นที่อันเป็นหัวใจห้องที่ 4 ของ กทม.นี้ ก็จะได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างมาก ส่งผลต่อไปยังผู้คนทางฝั่งสุขุมวิททั้งซอยเลขคี่และเลขคู่ พลอยได้รับผลดีจากการพัฒนาพื้นที่ไปด้วย ได้อาศัยอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัยจากปัญหาต่างๆ และมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายรออยู่”
ไม่เพียงแต่ความสนใจในพื้นที่เขตคลองเตยเท่านั้น “กษิติ” ยังมองพื้นที่ ถ.สุขุมวิท ในเขตวัฒนาที่อยู่ในเขตเลือกตั้งของเขาว่า มีความสลักสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเป็นย่านที่มีธุรกิจมากมาย ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ และอื่นๆ ซึ่งส่วนตัวก็มีนโยบายส่งเสริมให้ทำได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะสถานบันเทิงต่างๆ ที่ควรให้เปิดได้เช้า โดยเฉพาะช่วงวันศุกร์-เสาร์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีสิ่งที่ต้องเคารพอยู่ด้วย เช่น พื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นที่อยู่อาศัย ที่ต้องจำกัดเรื่องมลภาวะทางเสียง แต่ละร้านต้องติดตั้งเครื่องวัดความดังเสียง (Sound Level Meter) มักเรียกว่าเครื่องวัดระดับความดันของเสียง (SPL) ที่แสดงค่าบนจอแสดงผลในหน่วยเดซิเบล (decibel - dB) หรือปัญหาการจราจร ที่แต่ละร้านต้องมี VALET PARKING หรือให้ลูกค้าไป-กลับด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือ GRABCAR ในขณะที่สารเสพติด การพกพาอาวุธ ที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายต้องไม่ให้มีอยู่แล้ว
“ผลลัพธ์จากการดูแลผลประโยชน์ของชาวคลองเตย จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการส่งเสริมธุรกิจการค้าในพื้นที่เขตวัฒนา ก็จะทำให้พื้นที่เขต 4 กทม. หรือหัวใจห้องที่ 4 ของ กทม.เป็นพื้นที่แห่งโอกาส พื้นที่แห่งการสร้างรายได้ ยกระดับคุณชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แล้วยังมีผลพวงไปถึงการปัญหายาเสพติดที่ระบาดในพื้นที่ด้วย”
ที่ผ่านไปเป็นหลักคิดในการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่เขตคลองเตย-วัฒนา ของ “พี่ทอม-กษิติ” ที่มองผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง
ส่วน “ทอม-กษิติ กมลนาวิน” จะได้พกความรู้ประสบการณ์ที่มีเข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรให้กับชาวคลองเตย-วัฒนา อย่างที่หวังหรือไม่ อีกไม่กี่วันได้รู้กัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น