xs
xsm
sm
md
lg

ทำดีให้ดูย่อมดีกว่าพูดดีให้ฟัง : ข้อคิดในการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



นับจากนี้ไปเหลือเวลาไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีโอกาสเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และด้านบริหารประเทศ ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดชะตากรรมของประเทศ และประชาชนคนไทยทั้งประเทศรวมทั้งตัวเขาเอง และญาติพี่น้องของเขาด้วย

ส่วนว่าการเลือกผู้แทนของใครจะมีส่วนให้ประเทศไทยและคนไทยโดยรวมได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้คือ

1. ความรู้ ความเข้าใจในหลักปกครองในระบอบประชาธิปไตยของผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่มีความรู้ มีความเข้าใจหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดีและเลือกผู้แทนโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวมเป็นหลัก ประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ก็จะได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้ง

2. ในการเลือกหรือไม่เลือกพรรคและผู้สมัครคนใด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องใช้สิทธิของตนเองโดยถูกต้องและชอบธรรม โดยพิจารณาจากพฤติกรรมองค์กรของพรรคว่าพรรคไหนมีพฤติกรรมองค์กรเป็นอย่างไรคือ มีการบริหารพรรคในรูปแบบของประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน และที่ผ่านมามีผลงานในการเป็นรัฐบาลเป็นอย่างไร (ถ้าเคยเป็นรัฐบาล) เคยมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชันหรือไม่ และที่สำคัญจะต้องดูจากนโยบายที่ปราศรัยหาเสียงไว้สอดคล้องกับความมีความเป็นของประเทศ และประชาชนโดยรวมหรือไม่มากน้อยแค่ไหน และสามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้หรือไม่

ถ้านำปัจจัย 2 ประการข้างต้นมาดูแล้วพบว่า พรรคใดและผู้สมัครคนใดมีองค์ประกอบ 2 ประการในทางบวกก็ควรจะเลือกพรรคนั้นและผู้สมัครคนนั้น ในทางกลับกัน ถ้าพบว่าพรรคใดและผู้สมัครคนใดเป็นไปในทางลบก็ไม่ควรเลือก และพิจารณาดูแล้วไม่มีพรรคใดและผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติดีพอก็จำใจต้องกาช่องไม่เลือก

ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน หลังจากที่ได้ติดตามข่าวการเมืองมาระยะหนึ่งได้พบว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงรูปแบบ ส่วนเนื้อหาตามนัยของวาทกรรมที่ว่า “โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ยังคงห่างไกล ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาครบ 91 ปีในวันที่ 24 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ประเทศไทยไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกคั่นด้วยการปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารมาเป็นระยะๆ หลายครั้งหลายหน จึงทำให้ความเป็นประชาธิปไตยไม่ต่อเนื่อง และที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งและที่สำคัญก็คือ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุจริต คอร์รัปชัน และไม่มีศักยภาพในการบริหารประเทศ ไม่ได้รับใช้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเท่าที่ควรจะเป็น จึงเป็นเหตุให้กองทัพนำมาอ้างเพื่อการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเข้ามาปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการแทน

2. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เลือกตั้งในชนบทห่างไกลไม่รู้ และไม่เข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีพอ จะเห็นได้จากการเลือกตั้งแต่ละครั้งพรรคและผู้สมัครที่มีทุนเงิน จะได้รับเลือกเข้ามามากกว่าพรรคและผู้สมัครที่มีทุนเงินน้อย ถึงแม้ว่าจะมีทุนทางสังคมเหนือกว่าก็ตาม จึงเป็นเหตุให้คนเก่ง คนดีแต่มีทุนเงินน้อยไม่ได้รับเลือก

ในการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ถ้าพิจารณาจากพฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมืองและพฤติกรรมอันเป็นปัจเจกของผู้สมัครส่วนใหญ่แล้ว อนุมานได้ว่าพรรคที่มีทุนเงินมาก จะมีโอกาสได้รับเลือกมากกว่าพรรคที่มีทุนเงินน้อยกว่า ถึงแม้จะมีทุนทางสังคมมากกว่าก็ตาม

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาในทำนองนี้ ประชาธิปไตยของไทยก็คงจะอยู่แบบเดิมไม่ก้าวไปมากกว่านี้แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น