xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้ง 14 พฤษภาคมไม่ใช่ทางออกประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

ประเทศไทยจะเข้าสู่ขบวนการเลือกตั้งของระบอบประชาธิปไตยที่ทุลักทุเลอีกครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ แต่คนไทยส่วนใหญ่คงไม่สามารถจะคาดหวังได้ว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ทางออกของประเทศไทย

แม้ว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แต่มองโดยภาพรวมแล้ว คนไทยส่วนใหญ่จะยังคงไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรืออาจจะเลวร้ายลงไปด้วยซ้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังตามมา

ที่สำคัญไปกว่านั้น เสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศต่อไปจะแขวนอยู่บนเส้นด้าย

มองดูนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองแล้วจะเห็นได้ว่ายังคงยึดติดในประชานิยมของการใช้จ่ายอย่างเหนียวแน่นเพื่อเอาใจคนไทยที่กาบัตรเลือกตั้ง จะได้ชนะเลือกตั้งแล้วมีโอกาสเข้ามาร่วมฟอร์มรัฐบาล

แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดนำเสนออุดมการณ์ทางการเมือง หรือแนวทางการบริหารประเทศผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเงิน การเมืองและสังคมเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ยั่งยืนที่แท้จริง

พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อหัว

พรรคก้าวไกล เน้นการแก้กฎหมาย ม. 112

พรรคพลังประชารัฐ สัญญาที่จะเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

พรรคภูมิใจไทย เน้นการพักหนี้

พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอแนวนโยบายตั้งกองทุนฉุกเฉินวงเงิน 30,000 ล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงตั้งกองทุน 300,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประการธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลาง

พรรคชาติพัฒนากล้า เน้นการแก้ปัญหาการหนี้สินด้วยการยกเลิกแบล็กลิสต์ของบริษัทเครดิตบูโร

พรรคชาติไทยพัฒนา หาเสียงแบบขอไปที เสนอแผนสร้างงาน สร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการเดือนละ 3,000 บาท

มีแต่แผนใช้เงิน แต่ไม่มีแผนหาเงิน

ไม่ต้องมีแว่นวิเศษก็สามารถมองเห็นได้ว่า ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม นโยบายของรัฐบาลใหม่จะยังคงอยู่ยึดติดในประชานิยมรูปแบบเดิมๆ คือเน้นการใช้จ่าย หรือการสร้างหนี้เพื่อการบริโภค แต่ว่าไม่มีแผนว่าจะหารายได้จากไหนมาใช้จ่าย

แทบจะทุกพรรคการเมืองคิดว่า เมื่อชนะการเลือกตั้ง และได้อำนาจในการบริหารประเทศแล้ว จะเดินหน้าก่อหนี้ในงบประมาณแผ่นดินต่อไปเพื่อการใช้จ่าย จะได้แสวงหาผลประโยชน์จากการคอร์รัปชันเพื่อตนเองและพวกพ้อง ทำให้มีความเสี่ยงว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่ขยับไปเกิน 60% ต่อจีดีพี แล้วจะพุ่งไปเรื่อยๆ จนทำให้ฐานะการคลังของประเทศมีความเสี่ยงต้องล้มละลายในอนาคต เหมือนประเทศส่วนมากในโลกที่เดินตามอุดมการณ์ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมทุนนิยม

รัฐบาลใดที่ไม่มีรายได้ที่สมดุล หรือเกินดุล แต่มีแต่รายจ่ายที่เกินตัว ในท้ายที่สุดจะนำพาประเทศชาติสู่หายนะ

การที่รัฐบาลไม่มีรายได้เพียงพอในการใช้จ่าย เพราะว่าหวังพึ่งรายได้จากการเก็บภาษีอย่างเดียว ในขณะที่ภาระการใช้จ่ายสูงขึ้น จึงต้องหันมาก่อหนี้ จนในที่สุดหนี้จะพอกพูนจนก่อให้เกิดวิกฤตการคลังของประเทศเหมือนสหรัฐฯ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเผชิญอยู่จากการเดินแนวทางระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน แต่รัฐบาลกลับมัดมือมัดเท้าตัวเอง ทำให้ไม่สามารถดูแลสวัสดิการของประชาชนได้

มีแนวโน้มว่าภาระการใช้จ่ายของรัฐบาลจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ยิ่งจะทำให้มีฐานการเก็บภาษีเล็กลง เงินที่จะมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการลงทุนเพื่อการจ้างงานและการดูแลสวัสดิการสังคมจะมีไม่พอ ความเจริญก้าวหน้าของประเทศจะสะดุด หรือถอยหลังเข้าคลอง

ปรากฏว่าเมื่อติดตามเรื่องการเงินแล้ว (follow the money) ไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงการหารายได้ของรัฐบาล หรือความมั่นคงในฐานะการคลังของประเทศแม้แต่น้อย มีแต่สัญญาของการใช้จ่ายในโครงการประชานิยมที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่มีผลทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

วิธีเดียวที่รัฐบาลจะมีรายได้พอกับรายจ่ายคือรัฐบาลต้องกลับมาเป็นผู้นำในการบริหารเศรษฐกิจ เป็นเจ้าของกิจการเอง (ownership) หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการเงิน&การธนาคาร น้ำมัน พลังงาน โทรคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ เป็นต้น

พูดง่ายๆ ประเทศชาติจะเจริญและมั่นคงได้ รัฐบาลต้องรวย ต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทหรือธนาคาร ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการลงทุนเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ไม่ใช่คอยแต่เก็บภาษีขาเดียว และต้องมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแน่นอน

ในทางตรงข้าม ถ้าหากรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ มีฐานะยากจน หรือมีหนี้สินมากมาย ปล่อยให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ผูกขาดธุรกิจ มีอำนาจเหนือตลาด หรือมีอำนาจเหนือระบบการเมืองจากการใช้เงินปรนเปรอนักการเมืองและข้าราชการ จะทำให้โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจถูกบิดเบือน ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และประชาชนคนเดินดินธรรมดา จะถูกเอาเปรียบ การพัฒนาประเทศจะไม่มีเป้าหมายหรือทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากเอกชนจะไม่ลงทุนในกิจการที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีระดับสูง

ในที่สุด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะด้อยลงไปเรื่อยๆ และรัฐบาลจะไม่สามารถแบกภารกิจอันใหญ่หลวงในการดูแลการกินดีอยู่ดีของประชาชนไทยทั้ง 70 ล้านคนตามที่คนไทยทุกคนคาดหวังได้

ไม่มีพรรคการเมืองใดเห็นความผิดปกติเมื่อประเทศไทยมีจำนวนพ่อค้า นักธุรกิจมีเงินหลายหมื่นล้านหลายแสนล้านบาทเพิ่มขึ้น มีความมั่งคั่งติดอันดับมหาเศรษฐีโลกของนิตยสาร Forbes ในขณะที่รัฐบาลไทยกลับมีหนี้ และมีภาระในการใช้จ่ายเพิ่ม

ส่วนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องพูดถึง ต้องปากกัดตีนถีบ ค่าครองชีพสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีสัดส่วนเกือบ 90% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงติดอันดับแนวหน้าของโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลไทย ทรัพยากรประเทศไทย โครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และคนไทยทั้งประเทศอุดหนุน (subsidize) ความมั่งคั่งให้พ่อค้านักธุรกิจ รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติ ให้นับวันมีแต่จะรวยยิ่งขึ้นจากการผูกขาด หรือจากการมีอำนาจเงิน หรืออำนาจทางการตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่ง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จนมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติสงคม เพราะว่านับวันคนจนยิ่งจะจนลง

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้

ได้เวลายูเทิร์น

ได้เวลาแล้วที่จะกลับมาทบทวนบทบาทของรัฐบาลว่าในทางอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจจะเป็นผู้นำเอง หรือจะให้เอกชนเป็นผู้นำแทนตามระบบเสรีนิยมทุนนิยมที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าให้โทษมากกว่าให้คุณ

นโยบายของการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ชนชั้นระดับผู้นำและปัญญาชนไทยได้รับอิทธิพลจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่แนะนำประเทศต่างๆ ให้เลือกเดินในแนวทางเสรีนิยมและทุนนิยม ให้เปิดเสรีทั้งระบบเศรษฐกิจและการเงิน โดยให้เอกชนเป็นผู้นำ และให้รัฐบาลเป็นผู้ตาม เพราะเชื่อว่าเอกชนมีความสามารถในการบริหารดีกว่า และมีความคล่องตัวกว่าในการปรับตัวกับกลไกตลาดและการเปลี่ยนแปลงของโลก ในขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่คอยกำกับดูแลข้างหลัง

สิ่งที่ตามมาคือ มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือปล่อยให้เอกชนธุรกิจเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในกิจการที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาล ซึ่งเคยถือว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การธนาคาร พลังงาน น้ำ ไฟฟ้า โทรคมนาคม มิหนำซ้ำมีการออกนโยบายเอื้อธุรกิจขนาดใหญ่ และต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาจากการเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจ โดยไม่ปกป้องธุรกิจขนาดเล็ก และภาคการเกษตร

การให้สัมปทาน การขายกิจการ หรือขายหุ้นของรัฐบาลออกไปที่ดูเหมือนว่าจะดีเมื่อแรกเริ่ม แต่เวลาผ่านไปจะเห็นว่าสิ่งที่ได้ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสีย เพราะเกิดสภาพที่เรียกว่ารวยกระจุกจนกระจาย คนไทยส่วนใหญ่แทบไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

นโยบายเสรีนิยมทุนนิยม ที่ชื่อของมันก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า ให้สิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่กับนายทุนกับนักลงทุนที่มือยาวสามารถกอบโกยเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงส่วนรวม ทำให้เกิดความโลภ ความเห็นแก่ตัว เมื่อประสบความสำเร็จ หรือรวยขึ้นก็จะพยายามเอาเปรียบสังคม และคู่แข่งมากยิ่งขึ้นผ่านการผูกขาด และการมีอำนาจเหนือตลาด ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเดือดร้อน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้คนไทยทุกคนอยู่ดีกินดี

ระบบเสรีนิยมทุนนิยมได้พิสูจน์ให้เห็นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้วว่า ล้มเหลวในการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และสร้างความเหลื่อมล้ำ จนมีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดวิกฤตสังคมหรือการปฏิวัติที่รุนแรง

รัฐบาลเป็นตัวปัญหาจริงหรือ?

เมื่อพูดถึงรัฐบาลที่ควรต้องกลับมาเพิ่มบทบาทในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ คนส่วนมากจะส่ายหัว เพราะถูกล้างสมองให้คิดถึงระบบสังคมนิยมอันล้าหลังที่รัฐบาลควบคุมปัจจัยการผลิต แต่ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการบริหารจัดการ เห็นได้จากความล้มเหลวในกิจการของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาที่เต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น และความด้อยประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่กิจการของรัฐอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเพราะว่ามีการผูกขาด (monopoly)

เรื่องนี้ก็มีส่วนจริง แต่มันเกิดจากระบบการเมืองที่อ่อนแอ ผู้นำไม่เข้มแข็ง ไม่มีความเด็ดขาด ไม่ได้รับการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้เอาคนเก่งมีความสามารถมาบริหารจัดการ มักจะมองผลประโยชน์ของตัวเอง และพวกพ้องในระยะสั้น หรือพูดง่ายๆ ว่ามีการโกงกินทุกระดับ

ไทยตกหลุมพรางของแนวความคิดเสรีนิยมทุนนิยมซึ่งต่อต้านบทบาทของรัฐบาลในเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมที่ถูกมองว่าโบราณเต่าล้านปี โดยอ้างความล้มเหลวของสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออก ที่เดินในแนวทางสังคมนิยมในยุคสงครามเย็น ทำให้รัฐบาลไทยทุกสมัยที่มาจากการเลือกตั้งหรือยึดอำนาจ ต่างก็เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน ทำให้แทนที่รัฐบาลจะรวยเอง กลับให้นายทุนรวยแทน

ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน 70 ล้านคนทั้งประเทศ ในขณะที่นายทุนดูแลแต่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ความรับผิดชอบไม่เหมือนกัน

ถ้ารัฐบาลไม่รวย ไม่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง แล้วจะไปดูแลความอยู่รอดของประเทศชาติได้อย่างไร

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นทางออก

ในขณะที่ระบบเสรีนิยมทุนนิยมที่นอกจากจะสร้างความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังสร้างวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินทุกๆ 7 หรือ 10 ปีเข้าสู่ยุคเสื่อม โมเดลของเศรษฐกิจใหม่ที่มีการผสมผสานระหว่างอุดมการณ์สังคมนิยมและระบบการตลาด ที่ทั้งจีนและอินเดียได้นำมาปรับใช้กำลังเข้ามาแทนที่ เพราะว่าเป็นระบบที่ให้คำตอบที่แท้จริงสำหรับการพัฒนาประเทศและดูแลผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม

นายเซอร์เก กลาซเยฟ นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซีย และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างพิมพ์เขียวสำหรับเงินสกุลร่วมของกลุ่ม BRICS ได้อธิบายว่า โมเดลของจีนรวมทั้งอินเดียที่มีการเอาจุดแข็งของการวางยุทธศาสตร์จากส่วนกลาง (centralized strategic planning) และเศรษฐกิจการตลาดเข้ามารวมกัน โดยรัฐบาลจะควบคุมธุรกิจด้านการการเงิน และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจ กำลังก้าวขึ้นมากำลังจะกลายเป็นระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่แทนระบบเสรีนิยมทุนนิยมที่มีการบริหารเชิงแนวดิ่ง สั่งการลงมาจากข้างบน และไม่มีส่วนรวมของพนักงานหรือแรงงาน ซึ่งจะล้าหลังและไม่มีความสามารถในการแข่งขันต่อไป

ในระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ มีอุดมการณ์สังคมนิยมและชาตินิยมเป็นพื้นฐาน และมีการใช้ระบบการบริหารที่มีความคล่องตัวสูง มีองค์กรเครือข่ายการผลิต โดยที่รัฐบาลทำหน้าที่เป็นตัวประสานในการดึงเอาพลังต่างจากสังคมทุกภาคส่วนเพื่อเป้าหมายเดียว คือการฟื้นฟูสวัสดิการทางสังคม ต่างจากระบบเสรีนิยมทุนนิยมที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างเดียว และไม่ให้ความสนใจกับการอยู่รอดของส่วนรวม


เงินไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดในระบบเศรษฐกิจใหม่ แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการนำไปสู่การฟื้นฟูสวัสดิการสังคม รัฐบาลจะทำหน้าที่หลักในการจัดสรรเงินเครดิตในระบบเพื่อให้ธุรกิจเอกชนสามารถเข้าถึงเงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ยต่ำโดยไม่จำกัดวงเงินถ้าหากเป็นโครงการที่จะทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมดีขึ้น โดยธุรกิจที่ดีอยู่แล้วจะนำพาสังคมไปข้างหน้า ทั้งในเรื่องการจ่ายภาษี การจ้างงาน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนได้เติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากกว่า 3 เท่า นอกจากนี้ จีนยังแซงหน้าสหรัฐฯ ในด้านประสิทธิภาพการผลิต การส่งออกสินค้าไฮเทค และอัตราการเจริญเติบโต ทำให้อีกประมาณ 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

จีนฉลาดสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว เพราะว่าให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วยเงื่อนไขที่รัฐบาลขอมีหุ้นส่วนด้วย และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้คนจีนสามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีได้ จนทุกวันนี้จีนมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองที่นำหน้าตะวันตกและไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์

การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกทางเศรษฐกิจได้ เพราะว่าจีนมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ การบริหารประเทศจึงทำได้อย่างต่อเนื่อง มีการเดินตามวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว การตัดสินใจต่างๆ เป็นไปตามฉันทามติภายในพรรค สามารถปราบคอร์รัปชันได้ ต่างจากระบบประชาธิปไตยที่มาควบคู่กับเสรีนิยมทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การแก่งแย่งผลประโยชน์และอำนาจ รัฐบาลอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน ไม่มีการบริหารแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว การคอร์รัปชันระบาดหนัก

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเป็นเจ้าของระบบแบงก์ และรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งถือหุ้นในทุกบริษัทที่เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบิน น้ำมัน พลังงาน ประกันภัย ไอที ไฮเทค การก่อสร้าง โทรคมนาคม ค้าปลีก สื่อดั้งเดิม โซเซียลมีเดีย เรียกได้ว่าไม่มีธุรกิจอะไรที่รัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อสร้างธุรกิจให้เจริญแล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยให้เอกชนจีนเข้ามารับช่วงต่อ แม้แต่การส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน รัฐบาลจีนก็ให้เงินอุดหนุนเพื่อให้ขายของในราคาถูก หรือบางครั้งต่ำกว่าทุนเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด

การบริหารธุรกิจของจีนเป็นไปแบบแนวนอน (horizontal) ที่เปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมสูง ทั้งในการบริหาร หรือแสดงแนวทางความเห็น

ต่างจากแนวดิ่ง (vertical) ของเสรีนิยมทุนนิยม ที่พนักงานเป็นเพียงลูกจ้างที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บริหารอย่างเคร่งครัด ทำให้พนักงานขาดความรู้สึกผูกพันกับองค์กร

ตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 เป็นต้นมา โลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในวงจรรอบใหม่ โดยเงินทุนจำนวนมากมายมหาศาลถูกระดมเข้าสู่การพัฒนานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะปฏิวัติโลกเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาโนไบโอเอนจิเนียริ่ง และไอทีการสื่อสาร

ประเทศที่จะมีความสามารถในการแข่งขันต่อไป ต้องมีรัฐบาลที่สามารถไฟแนนซ์ธุรกิจด้วยเครดิตระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาหรือรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่

จีนอยู่ในฐานะที่จะทำอย่างนี้ได้ เพราะว่ารัฐบาลกับเอกชนร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อเป้าหมายในการยกระดับสวัสดิการสังคม และเอาชนะตะวันตก จะได้ไม่ถูกรังแก หรือถูกล่าอาณานิคมอีกต่อไป

ส่วนสหรัฐฯ และยุโรปนั้น เม็ดเงินส่วนมากจะไหลไปไฟแนนซ์การใช้จ่ายที่เกินตัวของรัฐบาลผ่านงบประมาณขาดดุล และจะเข้าไปเก็งกำไรในตลาดการเงิน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจถูกแปรไปเป็นระบบการเงิน (financialization) ไปเกือบหมด โดยการผลิตในเศรษฐกิจที่แท้จริงถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ

เนื่องจากจีนมีการบริหารเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูง เงินหยวนที่ถูกปล่อยเข้าไปในระบบสร้างมูลค่าเกินให้กับเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะว่าเงินหยวนถูกนำเอาไปลงทุนเพื่อเพิ่ม productivity

เมื่อเศรษฐกิจมี productivity สูง เงินเฟ้อจะต่ำ ต่างจากระบบของสหรัฐฯ ที่เงินเฟ้อสูง เนื่องจากดอลลาร์ที่ไหลเข้าไปในระบบมุ่งไปสู่การบริโภคและการเก็งกำไรในตลาดการเงิน ทำให้สหรัฐฯ จะยิ่งถูกจีนทิ้งห่างในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะเวลาข้างหน้า

รัสเซีย อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย หรือแม้แต่สิงคโปร์ ต่างก็มีรัฐบาลที่ค่อนข้างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซียที่แม้ว่าจะถูกตะวันตกแซงชั่น แต่สามารถยืนหยัดได้ ไม่ได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากรัฐบาลเป็นเจ้าของธุรกิจพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ และใช้เป็นเครื่องมือในสงครามเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และอียูได้

ถ้าหากเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในมือเอกชนเป็นส่วนใหญ่เหมือนประเทศไทย ป่านนี้รัสเซียคงต้องล้มละลายไปแล้ว เพราะว่ารัฐบาลไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการต่อรอง

บทสรุป

ได้เวลาแล้วที่พรรคการเมืองไทย นักการเมืองไทย หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนบริหารประเทศ ต้องเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลใหม่ และอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่ต้องสลัดทิ้งเสรีนิยมทุนนิยมให้ได้ โดยระบบการเมืองไทยต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีคุณธรรม เลือกคนเก่งที่เสียสละมาทำงาน ยกเลิกการผูกขาดในภาคธุรกิจ และการฮั้วกันในระบบการเงิน ปราบคอร์รัปชันให้ได้ทุกระดับด้วยมาตรการที่รุนแรง เด็ดขาด

รัฐบาลต้องมีการนำเอาจุดแข็งของระบบสังคมนิยมและทุนนิยมมาผสมผสานกัน ผ่านการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจากส่วนกลาง (centralized strategic planning) และนำเอาเศรษฐกิจการตลาดเข้ามารวมกัน โดยรัฐบาลจะควบคุมธุรกิจด้านการการเงิน และอุตสาหกรรมพื้นฐานทั้งหมดผ่านการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมทั้งช่วยสร้างผู้ประกอบการธุรกิจหน้าใหม่หรือหน้าเก่าที่มีศักยภาพ ผ่านการให้เงินเครดิตดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจที่มุ่งเน้นในการสร้างนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ก้าวทันโลก

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีสำนึกในชาตินิยม มีคุณธรรม และมีความตั้งใจที่จะยกระดับสวัสดิการสังคมเพื่อให้คนไทยทุกคนอยู่ดีกินดี

ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ใช้อำนาจเงินหรืออำนาจที่เหนือตลาดมาเอาเปรียบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำ และเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติต้องไม่ถูกกลไกของทุนนิยม ระบบนายหน้าเอาเปรียบอีกต่อไป

การที่รัฐบาลจะดูแลภาคสังคมที่อ่อนแอได้ รัฐบาลต้องรวย มีฐานะการคลังที่มั่นคง หรือมีทรัพยากรเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมในการบริหารเศรษฐกิจผ่านการคิดใหม่ทำใหม่ เพราะว่าการเก็บภาษีคนรวยเพื่อมาดูแลคนจนจะไม่มีวันเวิร์ค

การที่จะทำเช่นนี้ได้ ต้องมีฉันทามติในประเทศที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศอย่างแท้จริง แทนที่จะอยู่ไปวันๆ เหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อว่าประเทศไทยจะได้เกิดใหม่

มิเช่นนั้นประเทศไทยจะตกเป็นสมบัติของนายทุนไม่กี่คน รวมทั้งนายทุนต่างชาติที่มุ่งหวังยึดครองประเทศไทยผ่านการผูกขาด ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นจนคนไทยโดยรวมอยู่ไม่ได้

การปฏิรูปจะครอบคลุมถึงการปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรมหรือดูแลภาคประชาชน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และการเงิน การปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการปฏิรูปธุรกิจแบงกิ้งและเครดิต โดยที่รัฐบาลจะกลับมาเป็นผู้นำในภาคเศรษฐกิจอีกครั้งในรูปแบบไฮบริดระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยมที่มีความคล่องตัว คำนึงถึงสวัสดิการและความเจริญก้าวหน้าของคนไทยทุกคน

อนึ่ง เรากำลังอยู่ในห้วงของประวัติศาสตร์ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง โดยที่จีนและรัสเซียกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกแทนมหาอำนาจขั้วเก่าของสหรัฐฯ และอังกฤษ ผ่านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ การเงิน และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ทำให้จะมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าและทิ้งห่างคู่แข่งตะวันตกข้างหลัง

ศูนย์กลางการเจริญเติบโตของโลกจะอยู่ที่จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากโอกาสและสถานที่ รอเพียงเงื่อนไขของเวลาที่จะมาถึง

แต่ก่อนอื่น ไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อน ผ่านการยกระดับสถานภาพของประเทศผ่านการปฏิรูปโครงสร้างในรูปแบบไฮบริดที่นำเอาสังคมนิยมและทุนนิยมเข้ามาผสมผสานกัน โดยรัฐบาลเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม และธุรกิจ ประชาชนทุกภาคส่วนมีความพร้อมเพรียงกันในการส่งเสริมสวัสดิการสังคม และความก้าวหน้าของประเทศ โดยไม่เอาเปรียบกัน และไม่มีความเห็นแก่ตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น