คำว่า ประชาธิปไตยเป็นสนธิประกอบด้วย 2 คำคือ ประชาหมายถึงพลเมืองซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศ และคำว่า อธิปไตยหมายถึงความเป็นใหญ่ เมื่อรวมกันเข้าก็หมายถึงประชาชนเป็นใหญ่หรือความเป็นใหญ่เป็นของประชาชน
ในคำสอนของพุทธศาสนาแบ่งอธิปไตยออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. อัตตาธิปไตยคือ การถือตนเองเป็นใหญ่เปรียบได้กับเผด็จการ
2. โลกาธิปไตยคือ การถือโลกเป็นใหญ่เปรียบได้กับประชาธิปไตย
3. ธัมมาธิปไตยคือ การถือธรรมหรือการถือความถูกต้องเป็นใหญ่
ในการปกครองสังฆมณฑล พระพุทธเจ้ายึดโลกาธิปไตยบวกกับธัมมาธิปไตย ทั้งนี้จะเห็นได้จากบทบัญญัติพระวินัย ที่ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์และการนำสังฆกรรมต่างๆ จะยึดหลักความถูกต้อง และเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมในการระงับอธิกรณ์ และเสียงเอกฉันท์ของผู้เข้าร่วมในพิธีกรรม
ดังนั้น ถ้านำเอาคำสอนของศาสนาพุทธในส่วนที่เป็นพระวินัยมาเปรียบกับหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาวโลกแล้ว จะเห็นข้อเด่นข้อด้อยดังต่อไปนี้
1. พระภิกษุหรือนักบวชในพุทธศาสนามีธรรมอันเกิดจากการฝึกจิต จึงง่ายต่อการทำตามพระวินัย ตัวอย่างเช่น เป็นผู้มีเมตตาธรรมจึงง่ายต่อการรักษาศีล 5 ข้อที่ 1 คืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น
ส่วนประชาชนคนทั่วไปส่วนใหญ่มีจิตใจเต็มไปด้วยกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง เป็นต้น จึงยากต่อการรักษากฎหมาย แต่ง่ายต่อการล่วงละเมิดกฎหมาย เพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้ประโยชน์
2. พระวินัยบัญญัติโดยพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ โดยการบรรลุธรรมและโพธิญาณรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งเป็นละกิเลสได้แล้วโดยสิ้นเชิง ดังนั้น พระวินัยที่บัญญัติไว้จึงมีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะใช้ปกครองสงฆ์ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขเฉกเช่นกฎหมายของบ้านเมือง ซึ่งออกโดยคนมีกิเลส และมีเจตนาแอบแฝงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง เฉกเช่นรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 เป็นตัวอย่าง
เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแม่บทในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ออกโดยคนมีกิเลสก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเปิดโอกาสให้นักการเมือง ซึ่งเป็นปุถุชนคนมีกิเลสใช้เป็นเครื่องมือขึ้นสู่อำนาจในการปกครองประเทศ และใช้อำนาจนั้นแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมประเทศไทยด้วย
ในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างรอคอยการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ และในการเลือกตั้งในครั้งนี้ เชื่อได้ว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยและประชาชนคนไทยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากนัก ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พรรคการเมืองและผู้สมัครจากพรรคต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิม รวมไปถึงนโยบายก็ยังมุ่งเน้นการขายฝัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าทำได้ตามที่พูดไว้ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ และทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของการอยู่ดีกินดีและมีความสุขของประชาชน
2. ไม่มีพรรคใดเน้นนโยบายการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ทั้งตัวบุคคลบางคนที่เข้ามาสมัครมีพฤติกรรมในอดีตด่างพร้อย ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่ก็มีโอกาสได้เป็นผู้แทนบัญชีรายชื่อ ถ้าพรรคได้รับคะแนนมากพอ และถ้าบังเอิญบุคคลได้เข้ามาเป็น ส.ส.จำนวนมาก ก็จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ผู้นำที่ประชาชนไม่ยอมรับได้
3. ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทุกครั้งได้มีข่าวการทุจริตการเลือกตั้ง โดยการซื้อเสียง แต่ในทางปฏิบัติไม่ปรากฏว่าคนทำผิดถูกดำเนินคดี และได้รับโทษอย่างทั่วถึงทุกคนโดยเสมอภาคกัน
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น ทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ของนักการเมืองโกงมาเป็นระยะๆ และการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้คนโกงชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นรัฐบาลนี้เอง ทำให้เกิดวงจรทางการเมืองระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยได้สลับกัน หลายครั้งหลายครา