xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายประชานิยมในสายตาของคนมีรายได้ดีและมีการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ประธานเครือข่ายการเมืองสะอาด
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาสถิติ
คณะสถิติประยุกต์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เครือข่ายการเมืองสะอาดร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ “นโยบายแจกเงินหรือจัดสวัสดิการของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง” ซึ่งได้สำรวจในวันที่ 20-24 เมษายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง ผลการสำรวจแสดงในอินโฟกราฟิกด้านล่างนี้

ประการแรก ตัวอย่าง ร้อยละ 66.72 มีความเห็นเกี่ยวกับวงเงินที่ใช้สำหรับนโยบายแจกเงิน/สวัสดิการของแต่ละพรรคการเมือง ว่าไม่ทราบ และ/หรือ ไม่เคยทดลองคำนวณวงเงินที่จะต้องใช้

ประการสอง ตัวอย่างมีความเห็นเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะต้องใช้สำหรับนโยบายแจกเงิน/สวัสดิการของแต่ละพรรคการเมืองว่า ต้องจัดเก็บภาษีประชาชน/บริษัท/ห้างร้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 49.62 รองลงมาให้ตัดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นจากกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ร้อยละ 27.86

ประการสาม ตัวอย่างมีความเห็นต่อคำถามว่าใครควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหาย/ภาระหนี้ที่เกิดจากนโยบายแจกเงิน/สวัสดิการของแต่ละพรรคการเมือง ตัวอย่างร้อยละ 44.35 ระบุว่า พรรคการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ รองลงมา ร้อยละ 41.68 ระบุว่า นักการเมืองที่คิดและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในคราวนี้

สิ่งที่น่าสนใจมากคือเมื่อเรา drill down ลงไปว่าระดับรายได้และระดับการศึกษาของตัวอย่างมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายประชานิยมหรือนโยบายแจกเงิน/สวัสดิการของแต่ละพรรคการเมืองเหล่านี้หรือไม่อย่างไร เราได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจมากว่าคนที่มีการศึกษาสูงกว่ามีระดับรายได้ดีกว่า จะมีสติฉุกคิดและรับผิดชอบทางสังคมมากกว่าต่อนโยบายแจกเงิน/สวัสดิการของแต่ละพรรคการเมือง


ความคิดเห็นที่มีต่อการคิดคำนวณวงเงินที่จะต้องใช้สำหรับนโยบายแจกเงิน/สวัสดิการของแต่ละพรรคการเมืองแสดงดังรูปข้างล่างนี้ เราจะพบว่ายิ่งผู้ตอบมีระดับการศึกษาสูงขึ้นคำตอบที่ว่าไม่ทราบ และ/หรือไม่เคยทดลองคำนวณจะลดลงไป เช่นเดียวกันกับคำตอบว่าทราบ และ/หรือเคยคำนวณรายละเอียดไว้จะสูงขึ้นมาก


ในทางเดียวกัน ตัวอย่างที่มีระดับรายได้สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะแสดงความรับผิดชอบมากขึ้นในการคำนวณวงเงินที่ต้องใช้สำหรับนโยบายประชานิยมที่แจกเงิน/จัดสวัสดิการต่างๆ ของพรรคการเมือง โดยเราพบว่าคำตอบว่าเป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะต้องคำนวณเงินและแจ้งให้ประชาชนทราบมีแนวโน้มจะลดลงไปตามระดับรายได้


สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อการหาแหล่งเงินสำหรับนโยบายแจกเงินและจัดสวัสดิการของพรรคการเมือง นั้นพบแนวโน้มที่น่าสนใจดังนี้ ตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะมีความคิดเห็นว่าการจัดเก็บภาษีประชาชน/บริษัท/ห้างร้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ ลดลงไปตามระดับการศึกษาที่สูงกว่า แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาสูงเห็นด้วยกับการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนโยบายประชานิยมนั้นมีไม่มากเท่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมีเหตุผลมาจากคนมีการศึกษาสูงมีแนวโน้มจะมีรายได้สูงกว่าและต้องเสียภาษีมากกว่าก็เป็นไปได้

ในทางเดียวกัน ตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาสูงกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่จะเห็นด้วยกับการตัดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นว่าควรระมัดระวังในการใช้เงินสำหรับนโยบายประชานิยม


เราได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจมากกว่าประชาชนที่มีระดับรายได้สูงกว่า มีระดับการศึกษาสูงกว่ามีแนวโน้มที่จะฉุกคิดและระมัดระวังต่อนโยบายประชานิยมมากกว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาจจะพอสันนิษฐานและอธิบายได้สามแนวทาง

แนวทางแรก ผู้มีการศึกษาสูงและระดับรายได้สูงจะได้รับผลกระทบทางลบจากนโยบายประชานิยมมากกว่า เช่นต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น

แนวทางที่สอง อาจจะอธิบายได้ว่าผู้ที่มีรายได้สูงและระดับการศึกษาสูงกว่าจะมีความแตกฉานทางการเงิน (Financial literacy) มากกว่าทำให้รอบคอบ คำนวณวงเงิน ระมัดระวังต่อนโยบายประชานิยมเพิ่มมากขึ้น

แนวทางที่สาม อาจจะอธิบายได้ว่า คนที่มีรายได้สูงกว่าและมีระดับการศึกษาสูงกว่า พึ่งพาตนเองได้ ความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงต่อนโยบายประชานิยมอาจจะมีน้อยกว่าและทำให้ระมัดระวังรอบคอบกับนโยบายประชานิยมมากกว่า

ทั้งนี้นโยบายประชานิยมที่แจกเงิน/จัดสวัสดิการของแต่ละพรรคการเมืองอาจจะเข้าข่ายการสัญญาว่าจะให้และอาจจะผิดกฎหมายการเลือกตั้งได้ ซึ่งกกต. อาจจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองบางพรรคหลังการเลือกตั้งได้เช่นกัน ดังนั้นการออกนโยบายในแนวทางประชานิยมที่สัญญาว่าจะให้ แจกเงิน/จัดสวัสดิการให้ประชาชนอาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อพรรคการเมืองต่างๆ เสมอไป ในขณะเดียวกันประชาชนที่มีรายได้สูงและมีระดับการศึกษาสูงก็มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังเกี่ยวกับนโยบายเหล่านี้มากกว่าประชาชนที่มีรายได้และการศึกษาต่ำกว่าอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น