หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
เคยเขียนถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้งไปบ้างแล้ว แต่เมื่อวันเวลางวดมาสถานการณ์บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้างจึงขอเขียนถึงสมการการเมืองหลังเลือกตั้งในมุมมองของผมอีกครั้ง แต่เปิดหัวไว้เลยว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่สะท้อนถึงการเขียนรัฐธรรมนูญที่ซ่อนปมเอาไว้เพื่อรักษาอำนาจไว้ในมือฝ่ายอนุรักษนิยม
ชัดเจนว่าทุกคนเชื่อตรงกันว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ยากที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ แต่จะได้ที่นั่งเท่าไหร่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่าไม่น่าจะแลนด์สไลด์คือ พรรคเดียวได้ไม่เกิน 250 คน แต่น่าจะอยู่ในระดับ 200 บวกลบ เพราะพรรคเพื่อไทยกำลังเจอคู่แข่งที่มาแรงมากคือพรรคก้าวไกลที่เชื่อว่าจะห้ำหั่นกันในทุกพื้นที่จะตัดคะแนนกันเอง แต่ทั้งสองพรรคน่าจะได้ส.ส.กทม.เกินพรรคละ 10 คน
ต้องยอมรับว่าวันนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมได้สูญเสียพื้นที่กทม.ที่เคยเป็นฐานที่มั่นไปแล้ว และสะท้อนผลการเลือกตั้งออกมาตั้งแต่ครั้งที่แล้วที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสองพรรครวมกันได้ที่นั่งกทม.เกินครึ่ง และสะท้อนผ่านการเลือกตั้งสก.ที่ผ่านมาด้วย ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่า มีไม่กี่เขตที่พรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมจะรักษาที่มั่นไว้ได้ แถมฝ่ายอนุรักษนิยมยังมีพรรคที่แข่งขันตัดกันเองหลายพรรคกว่าฝ่ายที่อ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ทางเดียวที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมพอสู้ได้ก็คือต้องเข็นคุณลุงคุณป้า และปู่ย่าตายายออกมาใช้สิทธิ์ให้มาก แต่คนรุ่นนี้ก็ไม่มีความกระตือรือร้นและเป้าหมายที่เป็นแรงบันดาลใจเท่ากับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมาเลือกพรรคที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นเขา หรือไม่ก็ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยในเชิงยุทธศาสตร์เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการจะเปลี่ยนรัฐบาลให้ได้
เป็นไปได้มากที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลสองพรรคจะมีส.ส.รวมกันเกิน 250 คน นั่นเท่ากับว่าปิดทางขั้วรัฐบาลเดิมที่จะกลับมาจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ แต่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยถ้าขั้วอำนาจเดิมยังสามารถคอนโทรลเสียง 250 ส.ว.หรือส.ว.ส่วนใหญ่ได้แม้จะมีส.ว.จำนวนหนึ่งบอกว่าหากฝ่ายไหนชนะได้เสียงข้างมากจะยกมือให้ฝ่ายนั้นแต่ก็มีไม่มากนัก
แต่ถ้าขั้วรัฐบาลเดิมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยอย่างนั้นก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะมีเสียงส.ส.น้อยกว่าพรรคฝ่ายค้าน ผมจึงไม่เชื่อว่าจะออกประตูนี้ เพราะแม้นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจยุบสภาอยู่ในมือ ยุบแล้วไปเลือกใหม่ก็ใช่ว่าจะกลับมาชนะได้
แต่แม้ว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะรวมกันมีส.ส.เกิน 250 คนก็ไม่ใช่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้โดยง่าย เพราะเสียงที่จัดตั้งรัฐบาลได้คือ 376 เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสองสภาจากจำนวนส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คน
นอกจากพรรคเพื่อไทยซึ่งมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะต้องรวบรวมเสียงได้ถึง 376 คนแล้วยังมีคำถามว่า พรรคเพื่อไทยจะเอาพรรคก้าวไกลที่ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาร่วมรัฐบาลไหม ถ้าเป้าหมายของเจ้าของพรรคเพื่อไทยอย่างทักษิณ ชินวัตร คือกลับบ้านมารับโทษและขอพระราชทานอภัยโทษ
ผมขีดเส้นไว้เลยพรรคที่เป็นฝ่ายค้านแน่ๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นรัฐบาลก็คือ พรรคก้าวไกล
แม้วันนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะออกมาบอกว่าเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลปฏิรูปกองทัพ สมรสเท่าเทียม และสุราก้าวหน้า โดยไม่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ก็ตาม เพราะไม่สามารถไว้ใจได้เลยว่า ถึงเวลาจริงๆ แล้วจะสามารถควบคุมพรรคก้าวไกลให้อยู่ในแถวได้ หรือแม้แต่เร่งปฏิรูปกองทัพก็ล่อมือล่อตีนฝ่ายความมั่นคงมากอยู่แล้ว หรือเมื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคก้าวไกลจะแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ไหม
ทางออกของพรรคเพื่อไทยนั้นมีทางเดียวคือ ต้องดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคอื่นในฝั่งฝ่ายค้านเดิมอย่างพรรคประชาชาติ หรือพรรคไทยสร้างไทยของสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แต่เสียงที่ต้องการคือ 376 เสียง ถ้าหากว่านายกรัฐมนตรีเป็นอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรหรือเศรษฐา ทวีสิน โอกาสได้เสียงของพรรคก้าวไกลโหวตให้แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็พอจะมีสิทธิ์ลุ้นได้เสียง 376 เสียง โดยไม่ต้องพึ่งส.ว. ยกเว้นเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคประชาธิปัตย์มีเสียงรวมกันเกิน 126 เสียง เพราะหากเป็นเช่นนั้นยังไงก็ต้องมีเสียงส.ว.มาเติม
แต่ก็มี ส.ว.จำนวนหนึ่งนะที่ประกาศว่า หากฝ่ายไหนได้เกิน 250 คนจะยกมือให้ฝ่ายนั้นเป็นรัฐบาล
หรือถ้าเกิดการต่อรองจากพรรคพลังประชารัฐที่ขอให้พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะมีเสียง ส.ว.จำนวนหนึ่งยกมือให้เกิน 376 เสียง ตรงนี้มีความเป็นไปได้ทางเดียวคือ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 376 เสียงอำนาจต่อรองก็จะอยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร แต่ถ้ายอมให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลคงไม่โหวตให้พล.อ.ประวิตร แต่เมื่อรวมกับเสียง ส.ว.ฝั่ง พล.อ.ประวิตรก็น่าจะเพียงพอ
แต่ถ้าทักษิณจะยอมยกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้พล.อ.ประวิตรก็คงต้องถึงทางตันจริงๆ
ดังนั้นมีความเป็นไปได้ใน สมการที่ 1 คือ อุ๊งอิ๊งหรือเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรคขั้วฝ่ายค้านเดิมทั้งหมดนำโดยพรรคเพื่อไทย แล้วมีพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเข้าร่วมคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมด้วย สามารถรวบรวมเสียได้ 376 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่พึ่งเสียงของ ส.ว. ส่วนพรรคก้าวไกลก็ยกมือให้แต่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วย
สมการที่ 2 คือ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ มีพรรคเข้าร่วมคือพรรคเพื่อไทยและขั้วฝ่ายค้านเดิมรวมถึงพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยสร้างไทยพรรคชาติพัฒนากล้า สมการนี้พรรคก้าวไกลคงไม่โหวตให้ แต่จะได้เสียงส.ว.ฝั่งพล.อ.ประวิตรประมาณ 80-100 เสียงโหวตให้ก็สามารถเป็นรัฐบาลด้วยเสียง 376 เสียงได้
ทั้งสองสมการนี้มีพรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีโอกาสมากที่พิธาจะเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
ส่วนสมการที่ 3 คือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 คน ซึ่งผมกล่าวไว้แล้วว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากจนถึงไม่มีความเป็นไปได้เลย แม้วันนี้ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ยังแอบเชื่อว่าจะสามารถพลิกกลับมาชนะได้ แต่ส่วนตัวผมมองไม่เห็นหนทางเลยว่าจะกลับมาชนะได้อย่างไร
แต่ถ้าถามว่า หากพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตของพรรคได้ทักษิณจะเลือกใครระหว่างอุ๊งอิ๊งลูกสาวกับเศรษฐา ผมฟันธงเลยว่าทักษิณจะเลือกอุ๊งอิ๊ง เพราะเป็นสายเลือดของตัวเองที่สามารถครอบงำได้ 100 % และยังสามารถอ้างได้ว่าคะแนนนิยมของอุ๊งอิ๊งนั้นอยู่เหนือเศรษฐามาก ส่วนชัยเกษม นิติสิรินั้นเชื่อว่าจะถูกวางไว้ที่ตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมเพื่อกรุยทางกลับบ้านและกลับมาติดคุก
แม้วันนี้เราจะได้ยินพรรคพลังประชารัฐยืนกรานว่าจะไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่เราก็อย่าไปให้คุณค่ากับคำพูดของนักการเมืองที่บอกว่าจะๆ ไม่ร่วมกับพรรคโน้นพรรคนี้มากนัก ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐที่บอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และจากฝั่งพรรคเพื่อไทยที่บอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะถึงเวลานักการเมืองของหาเหตุผลมาเปลี่ยนแปลงคำพูดของตัวเองได้เสมอ
และไม่มีทางเลยที่พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลได้โดยอาศัยเพียงเสียงของพรรคขั้วฝ่ายค้านในปัจจุบัน หรือแม้อาจจะดึงพรรคภูมิใจไทยมาร่วมด้วยเสียงก็ยังยากที่จะถึง 376 เสียง ดังนั้นยังไงเสียก็ต้องดึงพรรคพลังประชารัฐมาร่วมด้วย แต่ก็จะเกิดการต่อรองจากพล.อ.ประวิตรอย่างที่ว่ามาหากมีเสียงส.ส.ยังไม่ถึง 376 เสียง
ส่วนอีกสถานการณ์หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงส.ส.เกิน 250 คน แต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้ถึง 376 คน แล้วบรรดา 250 ส.ว.หรือส.ว.ส่วนใหญ่งดออกเสียงในการโหวตนายกรัฐมนตรีทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ 376 เสียงได้นั่นก็จะมาถึงทางตันเช่นเดียวกัน สิ่งที่ตามมาก็คือความวุ่นวายที่อาจจะมีคนปลุกม็อบลงถนนเพราะพรรคฝ่ายตัวเองชนะเลือกตั้งแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้
ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญจึงเป็นหมากกลที่ซับซ้อนมาก แม้โอกาสของพรรคเพื่อไทยจะมีมากเมื่อฟังจากกระแสในเวลานี้แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะตั้งรัฐบาลได้โดยราบรื่น
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan