ตอนนี้ถ้าติดตามโพลสำนักต่างๆ (ยกเว้นซูเปอร์โพล) ล้วนแล้วแต่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยนำมาเป็นอันดับ 1 พร้อมด้วยความนิยมในตัวของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร และอันดับ 2 คือพรรคก้าวไกล และตัวพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทยและอุ๊งอิ๊งนั้นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่คำถามว่าพรรคก้าวไกลและพิธานั้นมาแรงจริงๆ ตามโพลหรือไม่ แล้วสัดส่วนของฐานเสียงสองขั้วการเมืองนั้นแตกต่างกันขนาดนั้นจริงหรือ เพราะถ้าเราไปดูโพลของมติชน-เดลินิวส์ อันดับ 1 คือพรรคเพื่อไทยร้อยละ 38.89, อันดับ 2 พรรคก้าวไกลร้อยละ 32.37 สองพรรคนี้มีคะแนนนิยมรวมกันถึงร้อยละ 71.26 ยังไม่รวมพรรคเล็กไปฝั่งนี้ เป็นไปได้หรือที่เสียงของพรรคฝั่งอนุรักษนิยมหรือขั้วรัฐบาลเดิมทุกพรรครวมกันจะมีเพียงร้อยละ 28.74
มันเป็นไปไม่ได้เลยครับที่เสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะรวมกันมากขนาดนั้น เพราะถ้าผลดังกล่าวถูกต้องจะเท่ากับ 356 ที่นั่งโดยยังไม่รวมพรรคในขั้วนี้อย่างพรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย แล้วอย่างนี้เหลือให้ฝั่งอนุรักษนิยมทุกพรรครวมกันเพียง 100 กว่าเสียงมันจะเป็นไปได้หรือ ดังนั้นโพลจึงไม่น่าจะถูกต้อง
เพราะความเป็นจริงเสียงของสองฝั่งการเมืองไม่น่าจะแตกต่างกันขนาดนั้น และแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 เสมอมา แต่เมื่อรวมคะแนนของสองฝั่งก็ไม่ได้ห่างกันมากในแบบที่โพลชี้นำออกมา ดังนั้นเชื่อว่าผลโพลจะมีความผิดปกติจากความเป็นจริงไม่มากก็น้อย
มีความเป็นไปได้ว่าคะแนนเสียงและฐานมวลชนของขั้วฝั่งที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย อาจจะมีมากกว่าหลังนักการเมืองที่เคยถูกกวาดต้อนมาอยู่พรรคพลังประชารัฐกลับไปสู่พรรคเพื่อไทย และยิ่งมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะเป็นคุณต่อฝั่งตรงข้ามรัฐบาลมากกว่า โดยครั้งนี้มีคนที่เลือกตั้งครั้งแรกมากถึงกว่า 4 ล้านคน แต่สัดส่วนมันก็ไม่น่าจะแตกต่างกันขนาด 350 ต่อ 150 มันน่าจะเหลื่อมกัน 260 ต่อ 240 หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 270 ต่อ 230 เท่านั้น
ยอมรับนะครับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ก็มีความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขนาดจะเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทยหรือขนาดมีคะแนนไม่ห่างจากพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังขา เพราะทั้งสองพรรคตั้งอยู่บนฐานมวลชนเดียวกัน แม้พรรคก้าวไกลจะได้เสียงของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ตาม
สดับฟังเสียงของสังคมได้ว่า คนรุ่นใหม่จะลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลโดยไม่ได้สนใจเลยว่าพรรคก้าวไกลส่งใครลงสมัครมีประวัติความเป็นมาอย่างไร แต่คิดเพียงว่าจะเดินเข้าคูหาไปกาพรรคนี้เท่านั้น แถมมีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายจะออกไปลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล รวมไปถึงผู้ปกครองพ่อแม่ของคนหนุ่มสาวไม่น้อยที่จะออกไปเลือกตามลูกของตัวเอง นี่กำลังเป็นอุปสรรคที่ท้าทายต่อเป้าหมายแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย
ไม่มีใครตระหนักว่า หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้วประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตามคำประกาศหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่บอกว่าเลือกพรรคก้าวไกลประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม เราจะยังมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกไหม เราจะมีความเป็นกลางทางการเมืองในการเมืองระหว่างประเทศอีกไหม เราจะเป็นรัฐบาลที่ประกาศสนับสนุนการชุมนุมในพม่า ในฮ่องกง หรือเราประกาศจะสนับสนุนเอกราชของไต้หวันตามแนวคิดของแกนนำพรรคนี้ไหม และจะยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 แล้วจะสร้างความขัดแย้งกับคนไทยที่จงรักภักดีและศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม
แกนนำทั้งสองพรรคต่างก็รู้กันว่า ผลเลือกตั้งของสองพรรคนั้นมีผลแปรผันต่อกันในเค้กก้อนเดียวกัน ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ 70 พรรคก้าวไกลก็จะได้ 30 แต่ถ้าพรรคก้าวไกลได้ 40 พรรคเพื่อไทยก็จะเหลือ 60 คะแนน
ตอนนี้ต่างหาเสียงเพื่อให้เลือกพรรคของตัวเอง ทั้งอุ๊งอิ๊งและเศรษฐา ทวีสิน ก็ปลุกมวลชนว่า ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์อย่าปันใจให้พรรคอื่น เพราะรู้ว่ากระแสพรรคก้าวไกลกำลังมาแรงและมีคนไม่น้อยที่อาจจะเลือกพรรคเพื่อไทยใบหนึ่งและพรรคก้าวไกลใบหนึ่งและก่อนนี้ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ยอมรับว่า พรรคก้าวไกลต้องฝ่าการปลุกกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยให้ได้
ตอนนี้ความจริงของอินฟลูเอนเซอร์และปัญญาชนฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยต่างก็มีความคิดเป็นสองฝั่ง ทั้งฝ่ายที่บอกว่าต้องลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเป็นเอกภาพทั้งสองใบเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.และฝ่ายที่บอกว่าต้องลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลนั้นมีจุดยืนที่ท้าทายต่อขุนศึกศักดินามากกว่า ไม่ได้หมอบราบคาบแบบพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต่างมุ่งหวังว่าจุดยืนของพรรคก้าวไกลนั้นต่างหากที่ทำให้ความฝันของพวกเขาใกล้เคียงกับความเป็นจริง อย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถึงกับตั้งคำถามว่า ผมไม่เข้าใจว่าคนที่มีแบ็กกราวนด์กิจกรรมจะเลือกพรรคเพื่อไทยทำไม? เหตุใดจึงเลือกพรรคที่ทิ้งลูกน้องของตัวเอง? พวกเสื้อแดงติดคุกช่วยได้ไม่ช่วยรอให้มีจังหวะก็เสนอตัวเองเข้ามา (เหมาเข่ง) มิหนำซ้ำการตัดสินใจชุมนุมต่อเสี่ยงการถูกปราบนองเลือดเพื่อสร้างการต่อรองให้ตัวเอง (พฤษภา 53)
ก่อนหน้านั้นสมศักดิ์ก็วิจารณ์ถึงจุดยืนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของทักษิณบ่อยครั้ง และความไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยต่อมาตรา 112
การเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นเราต้องยอมรับนะครับว่า พรรคอนาคตใหม่ที่มาเป็นพรรคก้าวไกลวันนี้นั้นได้อานิสงส์จากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ พื้นที่ที่อนาคตใหม่ได้ ส.ส.เขตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งคนลงสมัคร แต่คราวนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างลงแข่งขันชนกันทุกเขตบนฐานมวลชนเดียวกัน เพียงแต่วันนี้พรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคใหม่อีกแล้ว แต่เป็นพรรคที่ท้าทายขุนศึกศักดินาและสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งอ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเช่นกันมาก
การเลือกตั้งครั้งนี้จึงน่าสนใจว่าพรรคก้าวไกลที่ขึ้นมาท้าทายพรรคเพื่อไทยโดยตรงนั้นจะสามารถแย่งชิงเสียงจากพรรคเพื่อไทยได้มากแค่ไหน แม้ครั้งนี้จะไม่มีส้มหล่นเหมือนครั้งก่อนแล้ว แต่มีความสดกว่าใหม่กว่าและแรงกว่าของพรรคก้าวไกลเป็นเครื่องมือให้ประชาชนตัดสินใจ
อีกอย่างที่มีคำถามจากฝ่ายเดียวกันก็คือ หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลจะดึงพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลไหม ซึ่งกองเชียร์ก้าวไกลส่วนใหญ่ก็ยังหวังว่าพรรคเพื่อไทยต้องดึงพรรคก้าวไกลไปร่วมด้วยเพราะอยู่ฝั่งเดียวกัน
แต่ผมฟันธงได้เลยว่า อย่างไรเสียพรรคก้าวไกลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะไม่มีใครอยากเอาระเบิดไปซุกไว้ข้างกายอย่างแน่นอน
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan