“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! วาจาที่ประกอบด้วย 5 นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติเตียนไม่ได้” คือ
1. วาจาที่กล่าว (ถูกต้อง) ตามกาล
2. วาจาที่กล่าวเป็นความจริง
3. วาจาที่กล่าวเป็นคำอ่อนหวาน
4. วาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์
5. วาจาที่กล่าวด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! วาจาที่ประกอบด้วยองค์ 5 เหล่านี้แล นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต อันผู้รู้ติเตียนไม่ได้ คือพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ควรพูดคือคำพูดที่เป็นสุภาษิต ประกอบด้วยองค์ 5 และสิ่งที่ไม่ควรพูดคือ วาจาที่เป็นทุพภาษิตคือ วาจาที่ตรงกันข้ามเช่น ไม่ถูกกาลเทศะ และไม่เป็นความจริง เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธ แต่ปรากฏว่าผู้คนในสังคมไทยวันนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวที่เป็นทุพภาษิตปรากฏให้ได้ยิน ได้ฟังทางสื่อ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง และธุรกิจขายข่าวในรูปแบบต่างๆ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในขณะนี้
อะไรเป็นเหตุให้สังคมไทยเกิดการพูดจาอันเป็นทุพภาษิตกันมากขึ้น ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองหันไปหาพฤติกรรมทางสังคมในประเทศไทย ก็จะพบว่าน่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. คนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับสาระความรู้น้อย จะเห็นได้จากจำนวนผู้อ่านบทความทางวิชาการ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้อ่านนิยายน้ำเน่า และเรื่องตลกไร้สาระ
2. สื่อมวลชนโดยเฉพาะสิ่งตีพิมพ์หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ จะนำเสนอเรื่องราวที่อ่านแล้ว ฟังแล้วไม่ก่อให้เกิดปัญหาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการสนองความต้องการผู้บริโภคตามข้อ 1
3. ผู้มีอำนาจในสังคมไทยชอบที่จะได้ยิน ได้ฟังคำยกย่อง ยกยอจากคนรอบข้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำพูดที่ไม่จริงหรือจริงครึ่งเดียว จึงทำให้คนรอบข้างที่ต้องการเอาใจนายจำใจต้องพูดเรื่องโกหกหรือบิดเบือนเพื่อเอาใจนาย
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้น การพูดวาจาอันเป็นทุพภาษิตจึงเกิดขึ้นดาษดื่นในสังคมไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบุคลากรทางการเมือง และผู้มีอำนาจที่ชอบฟังคำยกยอปอปั้นจากคนรอบข้าง