xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อประยุทธ์หลุดจากทุกโพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ช่วงสัปดาห์นี้มี 3 โพลที่ทำนายผลการเลือกตั้งออกมาโพลแรกคือ ซูเปอร์โพล ต่อมาคือ โพลมติชน-เดลินิวส์ ที่สองสื่อจับมือกัน และสุดท้ายคือ นิด้าโพล ทั้งโพลมติชน-เดลินิวส์และนิด้าโพลนั้นผลออกมาในทิศทางเดียวกัน แต่ซูเปอร์โพลนั้นผลสำรวจออกมาตรงกันข้าม ราวกับว่าสำรวจกันคนละโลก

ซูเปอร์โพลบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขตจำนวน 133 ที่นั่งบัญชีรายชื่อจำนวน 27 ที่นั่งรวมได้ 160 ที่นั่งอันดับที่สองได้แก่พรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.เขตจำนวน 101 ที่นั่งบัญชีรายชื่อจำนวน 20 ที่นั่งรวมได้ 121 ที่อันดับที่สามได้แก่พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 53 ที่นั่งบัญชีรายชื่อจำนวน 11 ที่นั่งรวมได้ 64 ที่นั่ง

อันดับที่สี่ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 44 ที่นั่งบัญชีรายชื่อจำนวน 8 ที่นั่งรวมได้ 52 ที่นั่ง อันดับที่ห้าได้แก่พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.เขต 35 ที่นั่งบัญชีรายชื่อ 8 ที่นั่งได้ 43 ที่นั่ง อันดับที่หกได้แก่ พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.เขต 10 ที่นั่งบัญชีรายชื่อได้อันดับสามคือได้ 12 ที่นั่งรวมได้ 22 ที่นั่ง

ถ้าเชื่อว่าซูเปอร์โพลถูกต้อง แสดงว่าพรรคเพื่อไทยแม้จะชนะเป็นอันดับ 1 แต่ไม่ได้ ส.ส.ตามที่คาดหมายและจะไม่แลนด์สไลด์ขั้วรัฐบาลเดิมจะเป็นฝ่ายชนะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติจะรวมกันได้ ส.ส.จำนวน 260 ที่นั่ง เกินครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. 500 คน

ถ้าเป็นไปตามโพลนี้จริง นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็จะชื่อว่า อนุทิน ชาญวีรกูล เพราะพรรคภูมิใจไทยมีที่นั่งเป็นอันดับ 1 จำนวน 101 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติที่คุยว่าจะได้เป็นร้อยได้ ส.ส.แค่ 43 คน ไม่มีทางเลยที่นายอนุทินจะยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นก่อน 2 ปี

ในขณะที่มติชน-เดลินิวส์โพล เมื่อถามว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีพบว่าในกลุ่ม 10 อันดับแรกผู้ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลร้อยละ 29.42, อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยร้อยละ 23.23, อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยร้อยละ 16.69, อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติร้อยละ 13.72, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจ (ว่าจะเลือกใคร) ร้อยละ 2.97, อันดับ 6 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทยร้อยละ 2.94, อันดับ 7 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากพรรคเสรีรวมไทยร้อยละ 2.25, อันดับ 8 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยสร้างไทยร้อยละ 1.90, อันดับ 9 นายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคชาติพัฒนากล้าร้อยละ 1.40 และอันดับ 10 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐร้อยละ 1.24

ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้นพรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือพรรคเพื่อไทยร้อยละ 38.89, อันดับ 2 พรรคก้าวไกลร้อยละ 32.37, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติร้อยละ 12.84, อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทยร้อยละ 3.30, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใดร้อยละ 2.21, อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 1.83, อันดับ 7 พรรคไทยสร้างไทยร้อยละ 1.73, อันดับ 8 พรรคเสรีรวมไทยร้อยละ 1.63, อันดับ 9 พรรคพลังประชารัฐร้อยละ 1.55 และอันดับ 10 พรรคชาติพัฒนากล้าร้อยละ 1.14

เมื่อเรามาคำนวณตัวเลขออกมา พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 194.5 คน พรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส. 161.85 คน หากโพลของมติชน-เดลินิวส์แม่นสองพรรคนี้จะได้ ส.ส.รวมกันถึง 356.35 คน ซึ่งเท่ากับว่าสองพรรคนี้รวมกันก็เกินกึ่งหนึ่งของ 500 คนมามาก แต่การตั้งรัฐบาลต้องการเสียง ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน 376 เสียงขึ้นไป ดังนั้นสองพรรคนี้ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อยู่ดีต้องหาเสียงสนับสนุนมาเพิ่ม

ส่วนนิด้าโพลล่าสุด บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 35.70 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร อันดับ 2 ร้อยละ 20.25 ระบุว่าเป็นนายพิธา อันดับ 3 ร้อยละ 13.60 ระบุว่าเป็นพลเอกประยุทธ์ อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้อันดับ 5 ร้อยละ 6.05 ระบุว่าเป็นนายเศรษฐา

เมื่อถามว่าจะเลือก ส.ส.เขตพรรคไหน อันดับ 1 ร้อยละ 47.20 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.20 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 10.80 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.75 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.75 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ อันดับ 7 ร้อยละ 2.15 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 2.10 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 9 ร้อยละ 2.05 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย อันดับ 10 ร้อยละ 1.50 ระบุว่าเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า

และเมื่อถามว่า เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไหน อันดับ 1 ร้อยละ 47.00 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.85 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.40 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.50 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.00 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.65 ระบุว่าเป็นพรรคเสรีรวมไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.35 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ อันดับ 8 ร้อยละ 2.10 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย อันดับ 9 ร้อยละ 1.80 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 10 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า

หากมาคำนวณทั้งสองระบบพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 235 คน พรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส. 106.65 คน สองพรรคนี้จะได้ ส.ส.รวมกัน 341.65 คน เกินครึ่งหนึ่งของ 500 คน แต่ต้องการเสียงทั้งรัฐบาลรวมกับ ส.ว.ที่ 376 คนดังนั้นยังตั้งรัฐบาลไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่ที่ไม่น่าเป็นไปได้คือนิด้าโพลและมติชน-เดลินิวส์โพลให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐได้ไม่ถึงพรรคละ 20 ที่นั่ง ซึ่งน่าจะต่ำจากความเป็นจริงมาก นี่เป็นจุดที่ทำให้ทั้งนิด้าโพล มติชน-เดลินิวส์โพลถูกตั้งคำถาม

พรรคประชาธิปัตย์อย่างไรเสียก็จะได้ ส.ส.ใต้เกิน 20 คนแน่ๆ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทยแค่บุรีรัมย์จังหวัดเดียวก็ได้แล้ว 10 ที่นั่ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้นยังมีบ้านใหญ่หลายจังหวัดอยู่ในพรรค เช่น กำแพงเพชร สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ พะเยา ฯลฯ

โพลไหนจะแม่นยำหรือใครจะเชื่อโพลไหนก็อยู่ที่ทัศนคติของแต่ละคน ถ้าซูเปอร์โพลแม่นยำพรรคร่วมรัฐบาลหลักก็คือ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ โดยมีอนุทินเป็นนายกฯ ถ้านิด้าโพลมติชน-เดลินิวส์โพลถูกพรรคร่วมรัฐบาลหลักคือเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ฯลฯ ส่วนนายกฯ จะเป็นใครนั้นอยู่ที่การต่อรอง ส่วนพรรคก้าวไกลที่ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเชื่อว่าฝ่ายไหนก็ไม่อยากจะรับเผือกร้อน

แต่ไม่ว่าความแม่นยำจะเป็นของซูเปอร์โพล มติชน-เดลินิวส์โพล หรือนิด้าโพล โอกาสของพล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะหมดลงแล้ว

ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น