ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“กัญชา” เป็นประเด็นทางการเมืองที่ภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวในการทวงคืนมาเพื่อให้กลับมาใช้เป็นเสรีทางการแพทย์ ตั้งแต่ยังไม่มีการนำเสนอจากพรรคภูมิใจไทยเสียด้วยซ้ำ
การกำหนดนโยบายการหาเสียงในปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทย ก็เป็นการเดินตามการเรียกร้องจากภาคประชาชน ต่อมาเมื่อพรรคภูมิใจไทยได้รับคะแนนเสียง3.7 ล้านคะแนนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นการพรรคการเมืองเก่าเพียงพรรคเดียวที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยในปี 2554 พรรคภูมิใจไทยมีคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 1.2 ล้านคะแนนเท่านั้น
ซึ่งแสดงให้เห็นจากนโยบาย “กัญชาเสรีทางการแพทย์” ได้รับการตอบสนองจากประชาชนในปี 2562
อย่างไรก็ตามพรรคภูมิใจไทยก็มีเสียง ส.ส. อยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่เริ่มต้นเพียง51 คนแม้ต่อมาจะมี ส.ส. เพิ่มขึ้นมาเป็น 61 คนจากเสียงของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากพรรคภูมิใจไทยเพียงพรรคเดียวจะทำให้เกิดการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดทุกประเภทได้
ใครที่คิดว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคเดียวทำให้เกิดกัญชาเสรีนั้น น่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
เพราะความจริงแล้ว “กระบวนการ” การปลดล็อกกัญชา เกิดขึ้นจากการเห็นชอบรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในนามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาเป็นลำดับ ทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้กัญชาถูกปลดล็อกออกจากยาเสพติด ดังนี้
ประการแรก นโยบายรัฐบาล (ซึ่งมาจากมติคณะรัฐมนตรี) เห็นชอบให้สนับสนุนกัญชา กัญชง ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 4 เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนากัญชา กัญชง ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งกำหนดกลไกการดำเนินงานในการควบคุมควบคู่กันไป[1]
ประการที่สอง คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีองค์ประกอบจากสัดส่วนของ ส.ส.ของสภาผู้แทนราษฎร มีทั้งผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชาชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยพรรคพลังธรรมใหม่ ฯลฯ
ผลการศึกษาแล้วเสร็จวันที่ 21 กันยายน 2563 สรุปว่าให้ปลดล็อกกัญชา กัญชงกระท่อม ออกจากกฎหมายเสพติดทุกฉบับ และเพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ ให้ใช้กฎหมายลำดับรอง เช่น ให้ออกเป็นประกาศหรือระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น[2]
ประการที่สาม เสียงข้างมากของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ตลอดจนสมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบ ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ 467 เสียง “โดยไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่คนเดียว”[3]
สาระสำคัญประการหนึ่งคือ ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ ไม่ได้กำหนดให้ “กัญชา และกระท่อม” เป็นตัวอย่างของยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกต่อไปแต่กำหนดให้มีคำว่า “พืชฝิ่น” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แทน [4]
สำหรับผู้ที่เห็นชอบใน 467 เสียงของรัฐสภากับประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับพ.ศ. 2564 ก็มีทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐพรรคเสรีรวมไทย พรรคภูมิใจไทย รวมอยู่ด้วย [3]
ประการที่สี่ 20 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดตามโครงสร้างที่กำหนดเอาไว้ตามมาตรา 25 ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564[5] คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด “เสียงข้างมากเกือบทั้งหมด” เห็นชอบกับ “ร่าง” ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด คงเหลือแต่เอาไว้แต่ “สารสกัด” จากกัญชาที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติดอยู่[7]
แต่ถึงกระนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังไม่มีอำนาจ แม้แต่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดก็ยังทำได้เพียง “เสนอแนะ” ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น[5]
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564[6] ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพรรคภูมิใจไทยแต่เพียงพรรคเดียว หรือเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุขแต่เพียงกระทรวงเดียว
แต่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดนั้นมีองค์ประกอบตามมาตรา 25 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดมากถึง 29 คน ซึ่งบัญญัติเอาไว้ในองค์ประกอบของคณะกรรมการดังนี้
“มาตรา 25 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนับสนนุบรการสุขภาพอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการ ป.ป.ส. นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจำนวน 10 คนจากผู้ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในด้านวิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ อายุรแพทย์เภสัชศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากภาคเอกชน ไม่น้อยกว่า 3คน
ให้เลขาธิการ อย. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการ อย. แต่งตั้งข้าราชการ ในสำนักงาน อย. จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”[5]
ประการที่ห้า 25 มกราคม 2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรายมยาเสพติด(คณะกรรมการ ป.ป.ส.)ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองามเ ป็นประธานฯ ตามมาตรา 4 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด[6] มีมติเห็นชอบกับร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดทุกประเภท คงเหลือแต่สารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติดอยู่ แต่ให้มีผลอีก 120 วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา[8]
ซึ่งต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงนามในประกาศฉบับดังกล่าวในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565[9] ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565[10] และมีผลบังคับใช้อีก 120 วันหลังจากนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2565[10]
คณะกรรมการ ป.ป.ส. นั้นก็มีองค์ประกอบ ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่เห็นชอบในการปลดล็อกนั้นผู้ที่ตัดสินใจไม่ใช่เพียงแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และไม่ใช่อำนาจของพรรคภูมิใจไทยด้วย
เพราะตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ทั้งหมด 34 มาจากกระทรวงสาธารณสุขเพียง 4 คนเท่านั้น ที่เหลืออยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจจากกระทรวงนอกโควตาของพรรคภูมิใจไทยทั้งสิ้นความว่า
“มาตรา 4 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาข้ันพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการ อย. และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งต้ังไม่เกินสามคน
ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่งต้ัง ข้าราชการในสำนักงาน ป.ป.ส. จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”[6]
การปลดล็อกในครั้งนั้นได้ทำให้ผู้ที่ใช้ “กัญชาทางการแพทย์” อย่างผิดกฎหมายกว่า 3.6 ล้านคน[11]-[12] ไม่ต้องถูกจับกุม ไม่ต้องถูกรีดไถ และไม่ต้องเสี่ยงต่อสารพิษในการซื้อกัญชาใต้ดินอีกต่อไป เพราะแม้กัญชามีประโยชน์ แต่ในความจริงแพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่จ่ายกัญชาให้กับคนไข้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก) ปี 2564 ยังพบด้วยว่าแม้ประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ส่วนใหญ่อย่างผิดกฎหมายโดยใช้นอกระบบกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94.4 และมีการใช้รักษาในโรคที่อยู่นอกประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 แต่ถึงกระนั้นประชาชนก็ยังได้รับประโยชน์ เพราะมีผู้ที่มีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมากร้อยละ 93 และมีผู้ที่ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 58[12]
ประการที่หก อย่างไรก็ตาม แม้กัญชาจะมีประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ก็มีโทษด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต้องมีการคุ้มครองเด็กและเยาวชนตลอดจนการคุ้มครองผู้ที่ไม่ต้องการใช้กัญชา
วันที่ 25 มกราคม 2565 พรรคภูมิใจไทยกลับเป็นฝ่ายที่ต้องการควบคุมกัญชา กัญชง ในระดับพระราชบัญญัติ จึงได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….เพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 25 มาตรา[9]
อย่างไรก็ตาม “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กัญชา กัญชง เป็นพระราชบัญญัติของพรรคภูมิใจไทย” เป็นการดำเนินการที่เข้มงวดกว่าผลการศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงและกระท่อมอย่างเป็นระบบ จากตัวแทนแทบทุกพรรคการเมืองสภาผู้แทนราษฎรที่เคยเสนอเอาไว้วันที่ 21 กันยายน 2563 ว่าไม่ต้องใช้ระดับพระราชบัญญัติ แต่ให้ใช้การควบคุมเพียงประกาศหรือระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น[2]
ผลปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าประชุมร้อยละ 92 เห็นชอบด้วยในวาระรับหลักการ (วาระที่ 1) กับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงพ.ศ…. ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ 372 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง งดอกเสียง 23 เสียง แสดงให้เห็นว่าว่า ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เกือบเป็นเอกฉันท์
โดยวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญง พ.ศ….ของพรรคภูมิใจไทยได้รับคะแนนจาก ส.ส.ของสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้นนั้น ได้ระบุเหตุผลในข้อความแรกอันเป็นหลักการสำคัญที่ว่า
“โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ”
หลังจากนั้นจึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้จากผู้แทนพรรคการเมือง 8 พรรคการเมือง อันได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสิ้น 25 คน โดยเป็นผู้แทนจากพรรคภูมิใจไทยเพียง 3 คนเท่านั้น (คิดเป็นร้อยละ 12 ของคณะกรรมาธิการ)[11]
ต่อมา เมื่อคณะกรรมาธิการฯพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง แล้วเสร็จ เห็นควรให้เพิ่มจาก 45 มาตรา เป็น 95 มาตรา เพราะได้นำมาตรการควบคุมสุรา บุหรี่ และกระท่อมมาประยุกต์ใช้ แต่ให้มีบทลงโทษเรื่องกัญชารุนแรงกว่ากรณีการขายหรือให้กับเยาวชน และการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ
แต่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ กลับถูกเตะตัดขา ถ่วงเวลากฎหมายควบคุมกัญชากัญชงทั้งระบบ ส.ส.ไม่เข้าประชุมจนสภาล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนปิดสมัยประชุมสภาและยุบสภา ทำให้ พ.รบ.กัญชา กัญชง ต้องตกไปในที่สุด
ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะสามารถเลือกลงมติเห็นด้วยกับมาตราตามร่างเดิมที่เคยลงมติอย่างท่วมท้นเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ที่เสนอโดย พรรคภูมิใจไทยก็ได้
หรือจะเห็นด้วยกับที่มีการแก้ไขใหม่โดยคณะกรรมาธิการฯ(ซึ่งมาจากหลายพรรค)ก็ได้
หรือจะลงมติให้แก้ไขตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหรือ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองที่ได้สงวนคำแปรญัตติรายมาตราเอาไว้แล้วก็ได้
แต่สภาผู้แทนราษฎรกลับใช้วิธีไม่เข้าประชุมสภา ส่งผลทำให้ไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติควบคุมกัญชา กัญชงทั้งระบบ
จะทางไหนก็ได้เพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ แต่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากของพรรคการเมืองต่างๆกลับเลือกหนทางไม่เข้าประชุมทำให้สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ได้บังคับใช้ต่อไปใช่หรือไม่
และที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงโจมตีใส่ร้ายพรรคภูมิใจไทยว่าต้องการให้กัญชาเสรี ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านี้หวังทำสภาล่ม เพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์กัญชาเสรี แล้วยังจะมีหน้ามารณรงค์หาเสียงว่าพรรคการเมืองตัวเองคัดค้านกัญชาเสรีเสียอีก
การกระทำเช่นนี้เป็นการเห็นประโยชน์ของพรรคการเมืองเหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่?
โดยในการประชุม 3 ครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรที่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่พิจารณาเสร็จแล้วโดยคณะกรรมาธิการฯ ปรากฏว่าพรรที่ขาดประชุมจากจำนวน ส.ส.ของพรรคตัวเอง ได้แก่ พรรคเพื่อไทยขาดประชุมร้อยละ 81.20, พรรคประชาชาติขาดประชุมร้อยละ 95.23, พรรคประชาธิปัตย์ขาดประชุมร้อยละ 52.87, พรรคเสรีรวมไทยขาดประชุมร้อยละ 60, พรรคชาติไทยพัฒนาขาดประชุมร้อยละ 50, พรรคพลังประชารัฐขาดประชุมร้อยละ 45
ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย “เข้าประชุม” เป็นส่วนใหญ่ เฉลี่ยร้อยละ 86.45 และพรรคก้าวไกลเข้าประชุมเฉลี่ยร้อยละ 63.38 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่มีโทษต่อเด็กเยาวชนก็ต้องมีกฎหมายควบคุม แต่การที่ไม่ได้มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติไม่ได้ถูกตราขึ้นมา ก็เพราะนักการเมือง เตะถ่วงกฎหมาย โดยการให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลรวมหัวกันไม่เข้าประชุมสภาจนสภาล่มครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อไม่ให้มีกฎหมายบังคับทั้งระบบหวังให้เกิดสถานการณ์กัญชาเสรีในระหว่างการหาเสียง คิดจะเอาเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นในการหาเสียงโจมตี คือคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเหนือผลประโยชน์ของประชาชน
อย่างไรก็ตามด้วยความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข กลับดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายเท่าที่มีอยู่เพื่อควบคุมกัญชาโดยอาศัยประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจเอาไว้แล้วมาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้กัญชาไม่เกิดภาวะเสรีตามที่นักการเมืองบางกลุ่มอยากให้เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการโจมตีระหว่างการหาเสียง
กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยยอมแพ้ และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้อำนาจตามพระราชบัญญัติหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติอาหาร พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกัญชา รวมประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆไม่ต่ำกว่า 12 ฉบับ [14]
ผลที่ตามมาคือ กฎหมายที่ห้ามใส่ช่อดอกกัญชาในอาหาร ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชาจากต่างประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายอาหารที่มีผสมกัญชาในร้านอาหาร, กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม, การขายช่อดอกกัญชาต้องได้รับอนุญาตทุกกรณี ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นิสิต นักเรียน นักศึกษา, ห้ามขายในวัดและศาสนสถานหอพัก สวนสาธารณะ สวนสนุก, ห้ามสูบทำให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะทำให้เกิดความรำคาญ, ห้ามขายออนไลน์ ห้ามเร่ขาย ห้ามขายผ่านเครื่องขาย ฯลฯ
แม้กฎระเบียบดังกล่าวจะมีอยู่แล้วโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งมีการใช้บังคับได้จริง โดยมีการตรวจ จับ ปรับ และดำเนินคดีความกับผู้กระทำความผิดไปแล้วจำนวนมาก แต่บทลงโทษก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับที่เตรียมเอาไว้ในพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงจะต้องเดินหน้าให้กฎหมายดังกล่าวได้ทำให้เสร็จสิ้นต่อไป
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชาติ ได้ยืนยันในหลายโอกาสว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง
ถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดผู้ป่วยที่เคยใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ต้องใช้ใต้ดินเพราะแพทย์ไม่จ่ายกัญชาตามความต้องการของผู้ป่วย ประมาณกว่า 3.6 ล้านคน[11]-[12] ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนปลดล็อกัญชา ผู้ป่วยเหล่านี้รวมถึงคนในครอบครัวก็ต้องกลับไปเป็นผู้ที่จะเสี่ยงเป็นอาชญากร ผู้ปลูกกัญชาเพื่อเป็นสมุนไพรในบ้านก็กลายเป็นผู้ผลิตและครอบครองยาเสพติดและหมอก็ไม่จ่ายใบสั่งให้ปลูกกัญชาด้วย ซึ่งเป็นการเล่นการเมืองเกินขอบเขตโดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้ทุกข์ยากจริงหรือไม่
และที่เรียบเรียงมาข้างต้นรวมถึงการอ้างอิงเอกสารด้านล่างนี้ เพื่อให้พรรคภูมิใจไทยและกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จและอย่างไม่เป็นธรรมนั้น จะได้ดำเนินคดีทางแพทย์และอาญา และดำเนินคดีความตามกฎหมายเลือกตั้งกับผู้ที่ใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
12 เมษายน 2565
อ้างอิง
[1] นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร, 25 กรกฎาคม 2562
https://www.thaigov.go.th/uploads/document/66/2019/07/pdf/Doc_20190725085640000000.pdf
[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร, 21 กันยายน 2563, หน้า ต
http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=730795&file=กัญชา+กัญชง+(สมชาย).pdf&download=1
[3] บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๖๔ หน้า ๗
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll_x.php?aid=10018&mid=4334
[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประมวลกฎหมายยาเสพติด, วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔, เล่ม๑๓๘ ตอนที่ ๗๓ ก หน้า ๒๖
https://www.moj.go.th/attachments/20211215135357_76320.PDF
[5] เรื่องเดียวกัน, มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖, หน้า ๒๔
https://www.moj.go.th/attachments/20211215135357_76320.PDF
[6] เรื่องเดียวกัน, มาตรา ๔ และมาตรา ๕, หน้า ๑๔-๑๕
https://www.moj.go.th/attachments/20211215135357_76320.PDF
[7] เว็บไซต์รัฐบาลไทย, “อนุทิน” เผย คกก.ควบคุมยาเสพติด มีมติปลดกัญชาจากยาเสพติดประเภทที่ 5, 20 มกราคม 2565
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/50733
[8] กรมประชาสัมพันธ์, บอร์ด ป.ป.ส. ปลดล็อก ‘กัญชา’ มีผลใน 120 วันหลังประกาศราชกิจจาฯ, 25 มกราคม 2565
https://region2.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1169/iid/71921
[9] ข่าวประชาสัมพันธ์องค์การอาหารและยา, อนุทิน ลงนามประกาศ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพตดิ ให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ปลดล็อกกัญชา พ้นยาเสพติด มีผลเมื่อพ้น 120 วันหลังลงราชกิจจาฯ, 8 กุมภาพันธ์ 2565
https://www.fda.moph.go.th/Shared%20Documents/News/ปีงบประมาณ%202565/แถลงข่าว%2016%20ปีงบประมาณ%202565/แถลงข่าวกัญชากัญชง.pdf
[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติด ให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ ง, หน้า ๘
http://publishing.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF
[11] นิด้าโพล, การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด, เว็บไซต์นิด้าโพล, 19 มิถุนายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579
[12] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565
[13] บันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๔ ครั้งที่๕ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕, ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา, หน้า ๒-๓
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/
[14] ผู้จัดการออนไลน์, ปานเทพ เปิดกฎหมาย 12 ฉบับ ยัน “กัญชาไม่ได้เสรี”, เผยแพร่: 24 ก.พ. 2566 13:49 ปรับปรุง: 24 ก.พ. 2566 13:49 น.
https://mgronline.com/politics/detail/9660000018017