หลายวันมานี้มีการพูดเรื่องที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะแจกเงินดิจิทัลให้คนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท ทั้งประเด็นว่า นี่เข้าข่ายการซื้อเสียงหรือสัญญาว่าจะให้ซึ่งเป็นฐานความผิดหรือไม่ รวมไปถึงว่าจะเอาเงินมาจากไหนเพราะคำนวณฐานประชากรในวันดังกล่าวแล้วมีถึง 54-55 ล้านคนต้องใช้เงินสูงถึง 540,000-550,000 ล้านบาท
เรื่องสัญญาว่าจะให้นั้นเลขาธิการของ กกต.นายแสวง บุญมี ตอบทันควันว่า ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่สัญญาว่าจะให้ต้องดูตามข้อเท็จจริง แต่พรรคเพื่อไทยจะต้องชี้แจงตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง
ผมคิดว่า นายแสวงตอบคำถามนี้เร็วเกินไปและไม่มีหน้าที่ โดยเลขาธิการ กกต.มีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบประกาศมติและคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ดูแลเรื่องบุคลากรในสำนักงานเท่านั้น และตามที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.กำหนด
แต่อย่างไรก็ยังดีที่กฎหมายมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะถูกนำมาใช้อย่างจริงจังที่ให้พรรคการเมืองที่มีนโยบายที่จะต้องใช้เงินนั้น พรรคการเมืองต้องบอกถึงวงเงินที่ใช้และที่มาของวงเงินที่ใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
ตอนนี้ก็รอว่าพรรคเพื่อไทยจะชี้แจงว่าอย่างไร ส่วนจะผิดเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ก็รอ กกต.วินิจฉัย เพราะมีผู้ไปร้องไว้แล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจคือ พรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีแจกเงินอย่างไร และทำได้จริงไหมแล้วจะเอาเงินมาจากไหนถึง 550,000 ล้านบาท
พรรคเพื่อไทยประกาศว่าระยะเวลาใช้เงินดิจิทัลนั้นจะกำหนดให้ใช้ได้ภายในกรอบเวลา 6 เดือน ส่วนรัศมีในการใช้ตามที่อยู่ในบัตรประชาชนรัศมีประมาณ 4 กิโลเมตร ส่วนกรณีประชาชนที่ไม่มีร้านค้าในระยะ 4 กิโลเมตรอาจขยายระยะทางเพื่อสามารถไปใช้ได้
พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้นเพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุดสามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อกระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้างเหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนกระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปออกโดยรัฐบาลไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท
พูดง่ายๆ ว่าลดข้อครหาที่จะเอาเงินกว่า 500,000 ล้านบาทไปอุดหนุนเงินดิจิทัลหรือคริปโตฯ ของเอกชนที่กำลังอยู่ในภาวะดิ่งเหว
พรรคเพื่อไทยยังแถลงด้วยว่า สนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคนเพื่อยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) คือสกุลเงินที่จัดเก็บทางอิเล็กทรอนิกส์และอยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารกลางและสามารถใช้ชำระเงินได้โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นตัวแทนดิจิทัลของสกุลเงินปกติ (fiat currency) ที่ได้รับการหนุนหลังจากเงินสำรองเช่นทองคำโดย CBDC นั้นออกและถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจทางการเงินของประเทศ พูดภาษาง่ายๆ คือ ดิจิทัลบาทที่ถูกใช้แทนธนบัตรนั่นเอง
ดูเหมือนว่าจากนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้หรือสวมรอยนโยบายดิจิทัลบาท โดยอาจจะใช้วิธีสร้างแอปที่เป็นกระเป๋าเงินหรือ Wallet แบบแอปเป๋าตังขึ้นมาแล้วรัฐเติมเงินลงไปให้คนละ 10,000 บาท แล้วเขียนโปรแกรมให้ใช้ได้ตามที่กำหนดเรื่องรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ในบัตรประชาชนและใช้จ่ายอะไรได้บ้าง
แต่ที่น่าสนใจคือ ประชาชนที่ทำงานอยู่ในต่างจังหวัดและไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านจากบ้านเกิดจะทำอย่างไรเพราะใช้เงินได้ในรัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น แม้บอกไว้ว่าจะขยายระยะเวลาให้ แต่การปฏิบัติจริงจะมีหลักเกณฑ์ในการขยายเวลาอย่างไรเมื่อกำหนดกรอบไว้ว่าต้องใช้ใน 6 เดือน หรือหากไม่มีร้านค้าในระยะ 4 กิโลเมตรที่ให้ใช้จะทำอย่างไร
หรือถึงเวลาจริงจะเกิดกระบวนการหัวใสขึ้นมารับซื้อหรือไม่คือไม่ได้ซื้อสินค้าจริงแต่รับแรกเงินดิจิทัล 10,000 บาทด้วยเงินจริง 8,000 บาทเป็นต้นหรือในกรณีประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะทำอย่างไร รวมไปถึงพื้นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตจะสามารถใช้ได้หรือไม่
ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ แต่ถามว่า แล้วจะเอาเงินมาจากไหนมาทำโครงการดังกล่าวนั้นเกือบจะเท่ากับ 1 ใน 6 ของงบประมาณประจำปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 3 ล้านล้านบาทเศษ ที่สำคัญงบประมาณในปีที่ผ่านๆ มายังเป็นงบประมาณแบบขาดดุลที่มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย คือรัฐต้องหาเงินมาโปะทั้งจากการจัดเก็บภาษี เงินคงคลังหรือเงินกู้
จากที่ฟังนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยประกาศว่า เงินที่ใช้ในโครงการนี้จะมาจากการจัดสรรงบประมาณจากปี 2567 ซึ่งอาจมีการปรับลดงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ โดยกระทรวงหลักๆ ที่จะปรับลดคืองบจากกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ยังได้หาช่องทางเตรียมออกมาตรการจัดเก็บภาษีเพิ่มจากเงื่อนไขโครงการต่างๆ โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 2 แสนล้านบาทและภาษีนิติบุคคลที่ได้รายได้มากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากสวัสดิการรัฐที่จะลดน้อยลง
มันจะทำได้ง่ายๆ อย่างที่นายเศรษฐากล่าวมาโดยไม่กระทบต่อภาวะการเงินของประเทศจริงๆ หรือ
คิดดูว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนที่จะหาเงินมาเติมจากงบประมาณประจำปีที่ขาดดุลมาตลอด แถมต้องหาเงินมาเติมอีกกว่า 5 แสนล้านบาทเพื่อทำนโยบายดังกล่าว เป็นไปได้ไหมที่ประกาศว่าจะมุ่งเน้นไปตัดงบกระทรวงกลาโหมแล้วจะไม่ส่งผลกระทบกระทั่งกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับความมั่นคง
ที่สำคัญถ้านโยบายแบบนี้สามารถทำได้ตามที่เลขาธิการ กกต.การันตีเพียงแต่ชี้แจงที่มาของวงเงิน ความคุ้มค่า ความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถามว่า หากส่งผลกระทบเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในภายหลังต่างจากที่พรรคการเมืองเจ้าของนโยบายชี้แจงเอาไว้ใครจะรับผิดชอบ กกต.ที่อนุมัติให้ทำได้หรือพรรคการเมืองเจ้าของนโยบายแล้วจะเอาผิดอย่างไร
อาจจะบอกว่าการแจกเงินรัฐบาลหลายประเทศก็ทำกัน รัฐบาลที่ผ่านมาก็แจกเงินประชาชนผ่านแอปเป๋าตัง หรือแจกเงินผ่านบัตรประชารัฐ แต่จะเห็นว่าการแจกดังกล่าวมีวงเงินที่จำกัด และจำกัดบุคคลที่จะได้รับเงิน ไม่ได้แจกแบบเหวี่ยงแหไปถึงคนทุกคนโดยไม่จำกัดฐานะซึ่งใช้งบประมาณมหาศาลอย่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย และประกาศจะแจกในช่วงที่ประชาชนกำลังจะตัดสินใจเข้าไปคูหาเลือกตั้ง ถ้านโยบายนี้ไม่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้แล้วต่อไปทุกพรรคก็ต้องทำแบบเดียวกันหมด เพียงแต่ชี้แจงที่มาของวงเงินแค่นั้นก็ทำได้หรือ
หรือต่อไปนี้คนไทยก็คงแต่รอดูว่าพรรคการเมืองไหนจะแจกเงินเท่าไหร่ ไม่ต้องไปสนใจว่าพรรคการเมืองพรรคนั้นมีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้นอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan