อีกไม่กี่วันก็เปิดรับสมัครเลือกตั้งแล้ว หลังจากนั้นเราก็จะได้เลือกตั้งกันในวันที่ 14 พฤษภาคม ค่ำคืนวันนั้นแม้จะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ แต่บวกลบตัวเลขแล้วก็น่าจะรู้แนวโน้มของรัฐบาลใหม่ ถ้าพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิมรวมกันได้เกิน 250 คน ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพเดิม เพียงแต่มาดูว่าในขั้วรัฐบาลเดิมนั้นพรรคไหนจะได้ที่นั่งมากกว่ากันพรรคที่ได้มากกว่าก็คงจะยึดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเอาไว้
ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติมีเสียงมากที่สุดในฝ่ายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงอีก 2 ปี ดังนั้นพรรคจึงเสนอชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคอีกคนไว้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพล.อ.ประยุทธ์
แต่ถ้าพรรคภูมิใจไทยมามากที่สุดในฝ่ายนี้ อนุทิน ชาญวีรกูลก็ไม่น่าจะยอมยกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้พล.อ.ประยุทธ์
พรรคขั้วรัฐบาลเดิมก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา อาจรวมถึงพรรคชาติพัฒนากล้าด้วยส่วนพรรคปัดเศษด้วยวิธีคำนวณแบบพิสดารของ กกต.ก็คิดว่าคงไม่มีพรรคไหนกลับมาได้
แต่ถ้าถามถึงความเป็นไปได้ให้ผมฟันธงก็ต้องตอบว่า ยากมากที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะได้เกิน 250 คนผมเชื่อว่า โอกาสของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมมีมากกว่าที่จะรวม ส.ส.ได้เกิน 250 คน แม้เสียงจัดตั้งรัฐบาลจะต้องใช้เสียงของสองสภาเกิน 376 คนขึ้นไป แต่ถ้าฝั่งนี้ได้เสียงเกิน 250 คนก็จะปิดโอกาสพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากและจะบีบ ส.ว.ว่าจะเอาด้วยกับมติมหาชนไหม
หากว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมดึงดันที่จะใช้เสียงของ ส.ว.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะเมื่อเสนอกฎหมายก็ไม่สามารถผ่านสภาผู้แทนได้ อาจจะมีอำนาจยุบสภาฯ อยู่ในมือ แต่คิดหรือว่า หากยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งใหม่จะสามารถพลิกกลับมาชนะได้
อาจมองว่าในเมื่อเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในปัจจุบันมีมากกว่า ทำไมถึงคิดว่าจะแพ้ ก่อนอื่นเลยต้องยอมรับนะว่า เลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคการเมืองอย่างพรรคพลังประชารัฐนั้นสามารถกวาดต้อนอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเข้ามาในพรรคได้มาก แต่บัดนี้ ส.ส.เหล่านั้นย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทยหลายคนแล้ว
เลือกตั้งครั้งก่อนกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ยังดีอยู่คนกลางๆ จำนวนหนึ่งต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ทำงานต่อเนื่อง แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์บริหารมาแล้วกว่า 8 ปี คนไม่น้อยเริ่มเบื่อและต้องการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมือง
แม้ว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่ได้แตกต่างกันหนัก แต่การยึดครองพื้นที่ในภาคอีสานได้ทำให้มวลชนของพรรคเพื่อไทยน่าจะมีมากกว่า แต่คนที่น่าจะเป็นตัวตัดสินใจที่สำคัญด้วยก็คือคนกลางๆ ที่ไม่ได้สุดขั้วไปทางไหน ต้องยอมรับว่า คนไม่น้อยต้องการการเปลี่ยนแปลง
ครั้งที่แล้วเป็นบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวทำให้พรรคเพื่อไทยคิดยุทธศาสตร์แตกแบงก์ขึ้นมา แต่เกิดความผิดพลาดเมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมายแม้ว่าคะแนนเหล่านั้นจะถูกยกไปให้พรรคก้าวไกลแทน แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้เพราะต้องการถึง 376 เสียงครั้งก่อนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากระบบบัตรใบเดียวเลย แต่เมื่อกลับมาเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนมากเท่าไหร่ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส.ตามไปด้วย และคาดว่าครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะมีที่นั่งบัญชีรายชื่อมากถึง 40 คนขึ้นไป
ดังนั้นแม้ว่ายากที่พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.รวมกันถึง 310 คนอย่างที่คาดหวัง แต่มีความเป็นไปได้มากที่พรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรในฝั่งเดียวกันจะได้ ส.ส.เกิน 250 คนเพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวน่าจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 200 คนจากทั้งสองระบบ
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั้นถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีพรรคไหนที่มีกระแสพรรคโดดเด่นเลย แม้พรรครวมไทยสร้างชาติจะมีพล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างที่ว่าไว้ว่าวันนี้กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมือนเดิมแล้ว แม้จะมีอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายเข้ามาร่วมกับพรรค แต่ยังมองไม่ค่อยเห็น ส.ส.ที่มีแสงในตัวเองที่มั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้งแน่ๆ สักกี่คน ต้องยอมรับนะครับว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในครั้งที่แล้วที่ชูพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ใน กทม.และภาคใต้นั้นได้มาจากกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่มาจากพลังของตัวเอง
จึงยังมองไม่เห็นเลยว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมโดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติของพล.อ.ประยุทธ์จะได้ ส.ส.สักกี่ที่นั่ง
ที่ชลบุรีและภาคตะวันออกที่ฝากความหวังไว้กับสุชาติ ชมกลิ่น จะฝ่ากระแสของบ้านใหญ่กลับมาได้ไหม แม้บ้านใหญ่จะไม่มีบารมีเหมือนเดิมแล้วแต่วันนี้บ้านใหญ่กลับพรรคเพื่อไทยได้กระแสของเพื่อไทยที่มาเป็นแรงบวกด้วย ในภาคใต้ที่ฝากความหวังไว้กับธนกร วังบุญคงชนะ แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาแรง แต่เมื่อวัดกระดูกกันแล้วกับนักการเมืองภาคใต้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีคำถามว่าธนกรเป็นใคร
หากจะมองที่ กทม. ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐในครั้งที่แล้วก็เข้ามาเพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ทั้งนั้น วันนี้บางคนกลับมาอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ บางคนไปภูมิใจไทย แต่เมื่อดูกระแสจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.แล้วก็ต้องบอกว่า แม้อาจจะได้ที่นั่งบ้าง แต่ก็คงไม่เหมือนเดิมอย่างที่พรรคพลังประชารัฐเคยได้มากถึง 14 คน
นอกจากนั้นพื้นที่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยแย่งชิงกันเองกลับเป็นพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อพรรคเพื่อไทย เป็นการตกปลาในบ่อเดียวกันของพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ในพื้นที่ภาคใต้ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เลยก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าได้มาสักที่นั่งก็นับว่ากำไรมหาศาลแล้ว
ถ้าหากพรรครวมไทยสร้างชาติจะชนะได้ก็ต้องแย่งชิง ส.ส.ในภาคอีสานและภาคเหนือจากพรรคเพื่อไทยให้ได้ แต่ไม่มีแนวโน้มเลยว่าจะทำได้เช่นนั้น แม้แต่พรรคภูมิใจไทยที่ใครมองว่าอาจจะเบียดที่นั่งพรรคเพื่อไทยในหลายพื้นที่ก็อาจเป็นไปไม่ได้ เหลือเพียงพื้นที่บุรีรัมย์เท่านั้นที่เป็นของตาย
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองไม่เห็นเลยว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะกลับมารักษาอำนาจไว้ได้อย่างไร ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่สองพรรคอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยที่พร้อมจะสลับขั้วไปฝั่งตรงข้ามเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไป
มุมมองของผมอาจจะผิดหรือเปล่าไม่รู้ผลเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน ผมเห็นบัดนี้กองหนุนของลุงตู่ บรรดาอินฟลูเอนเซอร์เซเลบทั้งหลายที่เป็นกองเชียร์ลุงตู่ยังดูเหมือนมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ แต่ส่วนตัวผมยังมองไม่ออกจริงๆ เมื่อมองกระแสความเป็นไปของสังคมแล้วจะกลับมาชนะได้อย่างไร
อย่าว่าแต่ที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมในฝ่ายอนุรักษนิยมจะแย่งชิงตัดคะแนนกันเองตกปลาในบ่อเดียวกันเลย คิดว่ารอบนี้ต่อให้รวมพลังกันเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ก็อาจจะไม่ชนะด้วยซ้ำไป
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan