xs
xsm
sm
md
lg

เปโตรหยวนแจ้งเกิดที่มอสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

ในปี 1974 เฮนรี คิสซินเจอร์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อยืนข้อเสนอที่กษัตริย์ซาอุฯ ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ คิสซินเจอร์เสนอให้ซาอุฯ ขายน้ำมันเป็นดอลลาร์เพียงเงินสกุลเดียว เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ จะการันตีความมั่นคงให้ซาอุฯ พร้อมขายอาวุธให้ เมื่อขายน้ำมันได้เงินดอลลาร์แล้ว ซาอุฯ สามารถใช้ดอลลาร์นั้นรีไซเคิลกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเป็นการออมเงิน โดยได้ดอกเบี้ย ถ้าหากซาอุฯ ไม่ยอม คิสซินเจอร์ขู่แบบนิ่มนวลว่า สหรัฐฯ อาจจะยกกองทัพมายึดบ่อน้ำมันทั้งหมดของซาอุฯ ก็ได้

ซาอุฯ ไม่มีทางเลือก ต้องยอมรับในข้อเสนอนี้

เมื่อซาอุฯ ยอม ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ในตะวันออกกลางก็หันมาขายน้ำมันเป็นเงินสกุลดอลลาร์เหมือนกัน แม้ว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกการผูกดอลลาร์กับทองคำเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น ทำให้ดอลลาร์กลายเป็นเงินกระดาษเปล่าๆ ที่ไม่มีทองคำหรือสินทรัพย์ใดๆ หนุนหลัง แต่การที่ซาอุฯ และกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันขายน้ำมันเป็นดอลลาร์ ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถจะทิ้งดอลลาร์ได้ เพราะว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสำรองดอลลาร์เพื่อใช้สำหรับการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง

นั่นคือจุดเริ่มต้นของเปโตรดอลลาร์ หรือการที่สหรัฐฯ เอาบ่อน้ำมันของตะวันออกกลาง ซึ่งไม่ใช่เป็นของตัวเองมาหนุนดอลลาร์แทนทองคำหลังจากสหรัฐฯ ยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำ ทำให้ดอลลาร์สามารถรักษาการเป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไปจนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญ สหรัฐฯ ได้เปรียบประเทศอื่น เพราะว่าสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์เพื่อซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆ ได้โดยตรง ในขณะที่ประเทศอื่นต้องส่งออก หรือขายของเพื่อให้ได้ดอลลาร์เพื่อที่จะจำไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง

ในระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปยังกรุงมอสโก เพื่อพบปะและหารือความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ในทุกมิติกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกด้วยการลดอิทธิพลของตะวันตก พร้อมกับนำพาโลกไปสู่ระเบียบเศรษฐกิจโลกและระเบียบการเงินโลกใหม่

นอกจากเรื่องความร่วมมือทางความมั่นคงและทางทหารแล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดของข้อตกลงระหว่างจีนกับรัสเซียคือ การที่รัสเซียจะหันมาใช้เงินสกุลหยวนในการค้าขาย หรือการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ โดยจะหันหลังให้กับดอลลาร์ เงินยูโร เงินปอนด์ เงินเยน ที่เป็นเงินของกลุ่มจี 7 ที่ดำเนินนโยบายเป็นศัตรูกับรัสเซียอย่างเปิดเผยในเวลานี้ผ่านการสงครามตัวแทนในยูเครน

ปูตินประกาศว่า รัสเซียเตรียมอนุมัติใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลัก สำหรับการซื้อขายกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เพื่อคานอำนาจและตอบโต้สหรัฐอเมริกา และนาโตที่หนุนความขัดแย้งผ่านทางยูเครน

คำประกาศของปูตินว่า รัสเซียจะใช้หยวนเป็นเงินสกุลหลักในการค้าขาย หรือการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศเท่ากับว่า มอสโกได้การันตีเปโตรหยวน เหมือนกับที่ซาอุฯ ได้แอ่นอกรับรองเปโตรดอลลาร์ในปี 1974 เปโตรหยวนจึงแจ้งเกิดที่มอสโก โดยที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก

ความแตกต่างระหว่างเปโตรดอลลาร์กับเปโตรหยวนคือ ซาอุฯ ตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจะปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ได้ เพราะว่าถูกสหรัฐฯ เอาปืนจ่อที่ขมับ ไม่มีทางขัดขืนได้ ในขณะที่ปูตินยินยอมส่งเสริมเปโตรหยวนด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ และความอยู่รอดของรัสเซียที่ต้องร่วมมือกับจีนในช่วงเวลาที่คับขันนี้เพื่อที่จะต่อสู้กับอิทธิพลของตะวันตกที่ครองโลกมานาน เพราะว่าลำพังรัสเซีย หรือจีนเองสู้ตะวันตกไม่ได้ แต่ถ้าจับมือกันก็มีสิทธิลุ้น

ในทางการเงิน หรือทางเศรษฐศาสตร์ มันยังไม่ถึงเวลาที่ปูตินจะสร้างเปโตรรูเบิล เนื่องจากรัสเซียยังคงมีเศรษฐกิจเล็ก หรือมีขนาดประมาณ $2.13 ล้านล้าน ในขณะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจ $18.32 ล้านล้าน เงินหยวนจึงมีศักยภาพหรืออำนาจต่อรองที่สูงกว่าจากสายป่านที่ยาวกว่า

การผลักดันเปโตรหยวนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการโค่นล้มเปโตรดอลลาร์ เพราะว่าถ้าหากสหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาการเป็นเงินสกุลหลักของโลกของดอลลาร์ ต่อไปจะไม่สามารถก่อหนี้ หรือบริโภคเกินควรเหมือนในช่วงที่ผ่านมา และจะไม่สามารถไฟแนนซ์แสนยานุภาพทางทหารได้

นักวิเคราะห์ทองคำชาวดัตช์ นายWillem Middelkoop บอกว่า มันเป็นข้อตกลงเปโตรหยวนของมอสโกสำหรับปี 2023


Stew Peters เจ้าของรายการ Stew Peters Show ชาวอเมริกันมองว่า การที่รัสเซียจะใช้เงินหยวนทำการค้ากับแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา มันจะเป็นจุดจบของเปโตรดอลลาร์ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของเปโตรหยวน

เนื่องจากรัสเซียถูกสหรัฐฯ และยุโรปแซงชั่น ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเข้ามาพัวพันกับจีนมากยิ่งขึ้น อันเห็นได้จากการที่รัสเซียกลายเป็นผู้ขายน้ำมันรายใหญ่ที่สุดให้จีน โดยแซงหน้าซาอุดีอาระเบียไปแล้ว ธุรกิจจีนก็กำลังทยอยเข้าลงทุนในรัสเซียเพื่อทดแทนธุรกิจตะวันตกที่ย้ายออกจากตลาดรัสเซีย

การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียเพิ่ม 30% ในปี 2022 และคาดว่าจะแตะระดับ $200,000 ล้านในปีนี้ โดยสองในสามของการค้าซื้อขายกันด้วยเงินหยวนและรูเบิล เนื่องจากทั้งสองประเทศกำลังออกจากระบบดอลลาร์

ตามข้อมูลของธนาคารกลางรัสเซีย สัดส่วนของเงินหยวนในการชำระเงินเพื่อการส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 32 เท่าในปี 2022 หรือ 16% ณ สิ้นปี รัสเซียใช้หยวนเพื่อการนำเข้าเพิ่มจาก 4% เป็น 23% ในปีที่แล้ว

การออมเงินหยวนในระบบธนาคารของรัสเซียเพิ่มขึ้น 11% ณ มกราคมปี 2023 สำหรับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ เทียบกับ 0% ก่อนเกิดสงครามยูเครน

เงินหยวนเป็นเงินสกุลที่มีการซื้อขายมากที่สุดในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของมอสโก แซงหน้าเงินดอลลาร์ และยูโรไปแล้ว

ตามข้อมูลของ SWIFT รัสเซียเป็นผู้ใช้หยวนมากเป็นอันดับที่ 5 โดยมีสัดส่วนการใช้ 2.3% ในระบบชำระโลกของเงินหยวน ตามหลังฮ่องกง อังกฤษ สิงคโปร์ และสหรัฐฯ ปีที่แล้ว รัสเซียใช้เงินหยวนเพียง 0.3% ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป รัสเซียจะเป็นประเทศที่ใช้หยวนมากที่สุดในโลก รองมาจากฮ่องกง

แต่ถ้าดูการใช้หยวนในระบบชำระเงิน Cross Border Interbank Payment System ของจีน ตัวเลขการใช้หยวนจะเพิ่มกว่าที่รายงานในระบบ SWIFT มาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา จีนได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้หยวนสำหรับประเทศคู่ค้าผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อปลดแอกจากกับดักของระบบการเงินของตะวันตกที่สหรัฐฯ สามารถแซงชั่นใครก็ได้ตามอำเภอใจ

นอกจากรัสเซียจะเป็นผู้ออกตัวอย่างเป็นทางการในการสนับสนุนเปโตรหยวนแล้ว เราจะได้เห็นปรากฏการณ์เปโตรหยวนในตะวันออกกลางที่กำลังดำเนินนโยบายปลดแอกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เปโตรดอลลาร์เสื่อมความขลังลงไปในที่สุด

ซาอุดีอาระเบียคอยโอกาสมานานแล้วที่จะปลดแอกจากการที่ต้องกินน้ำใต้ศอกสหรัฐฯ โดยได้หันหลังมาคบค้าสมาคมกับจีนและรัสเซียใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และได้ตกลงที่จะขายน้ำมันให้จีนเป็นเงินหยวนแล้วเป็นบางส่วน ประเทศอาหรับอื่นๆ จะเดินตามหลังซาอุดีอาระเบียในการยอมรับเปโตรหยวนต่อไป ในขณะที่อิหร่านมีการค้าขายกับจีนมานานผ่านเปโตรหยวน การที่จีนสามารถทำให้ซาอุฯ กับอิหร่านจับมือกันได้ และรัสเซียช่วยเจรจาให้ตุรกี และยูเออีหันมาคืนดีกับซีเรีย ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองของตะวันออกกลางเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นมิตร หรือเป็นเอกภาพกันมากขึ้น จากจากในอดีตที่ภูมิภาคนี้ถูกตะวันตกแบ่งแยกและปกครอง

การเดินทางไปเยือนตะวันออกกลางของสี จิ้นผิง เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการพูดคุยกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันให้ใช้เงินสกุลหยวนในการค้าขายแลกกับการลงทุนของจีน และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกของจีนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากการที่จีนมีสัมพันธ์ที่ดีกับแอฟริกา และตะวันออกกลาง รวมทั้งผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย เวเนซุเอลา อิหร่าน อิรักทำให้จีนสามารถเข้าถึงซัปพลายน้ำมันกว่า 80% ของโลก ทำให้เปโตรหยวนกำลังออกตัวได้ดี ซึ่งก็เป็นผลจากการที่ความมั่นใจในดอลลาร์ลดลงจากปัญหาหนี้ และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่แก้ไขไม่ได้ รวมทั้งระบบธนาคารของสหรัฐฯ ที่กำลังออกอาการร่อแร่อยู่ในเวลานี้ เพราะเจอปัญหาฟองสบู่แตก ที่สำคัญ สหรัฐฯ ติดอาวุธดอลลาร์ ใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือในการแซงชั่น ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่อยากถือครองดอลลาร์อีกต่อไป เพราะกลัวว่าจะถูกสหรัฐฯ ยึดบัญชีดอลลาร์เหมือนกับที่รัสเซียถูกยึด

การเยือนมอสโกของสี จิ้นผิง ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับวิกฤตระบบธนาคาร และแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง ในขณะที่สงครามยูเครนกำลังทวีร้อนแรงมากยิ่งขึ้น จนมีความเป็นไปได้ที่เราจะมีการรีเซ็ตระบบการเงินโลก พร้อมกับความเสี่ยงของสงครามโลก โดยที่จีนและรัสเซียมีความพร้อม และความมั่นใจอย่างเต็มที่ในการรับมือกับตะวันตก

ก่อนจากกัน ผู้นำทั้งสองกล่าววาจาอมตะเป็นที่ฮือฮากันทั่วโลก

สี จิ้นผิง : การเปลี่ยนแปลงกำลังมา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี และเราจะร่วมมือกันผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง

ปูติน : ผมเห็นด้วย

สี จิ้นผิง : ดูแลตัวเองให้ดีๆ เพื่อนรัก

ปูติน : ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น