นับจากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือนกว่า จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจการเมือง และติดตามข่าวมาตลอด คงจะได้เห็นผลของโพลสำนักต่างๆ ว่าพรรคไหนจะได้รับเลือกมากที่สุด และใครที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดไปแล้ว
แต่ผลของโพล ก็คือผลของการสอบถามจากประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนหนึ่ง แล้วนำคำตอบที่ได้มาประมวลผลแล้วคาดการณ์ในเชิงตรรกะ ดังนั้น ผลที่ได้มีโอกาสถูกก็ได้ ผิดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยดังนี้
1. จำนวนคนที่ตอบแบบสอบถามมีมากพอจะนำมาเป็นฐานในการอนุมานในเชิงตรรกะหรือไม่ และจำนวนดังกล่าวนั้นครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
2. คำถามที่ใช้ในแบบสอบถามเปิดกว้าง และให้โอกาสในการตอบหรือมีลักษณะเป็นคำถามปิดมีลักษณะการชี้นำหรือไม่
3. ผู้จัดทำโพลมีความเป็นมืออาชีพในทางวิชาการมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญมีเจตนาซ่อนเร้นในการจัดทำโพลหรือไม่
ถ้าเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้นเป็นไปในทางบวก ผลของโพลก็อนุมานได้ว่าน่าเชื่อ แต่ถ้าดำเนินไปในทางลบก็อนุมานได้ว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการชี้นำทางการเมืองเท่านั้น
นอกจากการทำโพลสำรวจผลของการเลือกตั้งแล้ว ยังมีการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งรวมไปถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับผู้นำรัฐบาลจากพรรคต่างๆ โดยอาศัยวิชาโหราศาสตร์ก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสื่อสาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย จึงทำให้เกิดคำถามว่า วิชาโหราศาสตร์นำมาใช้ในการคาดการณ์ผลของการเลือกตั้งได้หรือไม่ และถ้าได้ทำได้อย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นโหรสมัครเล่น และพอจะมีความรู้โหราศาสตร์อยู่บ้าง ขอชี้แจงว่าทำโดยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การคาดการณ์เกี่ยวกับการเมือง โดยอาศัยวิชาโหราศาสตร์กระทำได้โดยพิจารณาจากดวงเมือง และดวงคนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
2. ในการดูดวงเมืองจะดูจากดวงจร 2 ดวงคือ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เป็นหลัก และถ้าจะให้ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม จะต้องนำดาวมฤตยูและราหูมาดูด้วย
จากนี้ไปถึงวันที่ 19 เมษายน ดวงเมืองของไทยสับสนวุ่นวาย ไม่มีความแน่นอน อยู่ในภาวะไร้ทิศทาง เนื่องจากดาวมฤตยูทับอังคารเจ้าเรือนลัคนา และพฤหัสบดีวินาศลัคนา และดาวเสาร์ทำมุมโยคดาวอาทิตย์ ทั้งราหูจรทับลัคนามาด้วยจึงอนุมานได้ว่าก่อนถึงวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคจะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบของ กกต.และทำให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ส่งผลกระทบถึงการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งคือ เลือกตั้งแล้วไม่มีพรรคใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพังเสียง ส.ส.โดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว.และพรรคที่มีเสียง ส.ว.หนุนก็ไม่มีเสียง ส.ส.พอ สุดท้ายอาจตั้งเป็นรัฐบาลประนีประนอมระหว่างพรรคที่มีเสียง ส.ส.ข้างมากร่วมกับพรรคที่มีเสียง ส.ส.น้อยแต่มีเสียง ส.ว.หนุนเกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของนักเลือกตั้งที่อ้างประชาชนแต่ทำเพื่อตนเอง