xs
xsm
sm
md
lg

ใครกันแน่ที่อยากให้กัญชาเสรี ใครกันแน่ที่พยายามควบคุมกัญชา/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 บทความต่อไปนี้ เป็นเรื่องความจริงที่จะต้องพิสูจน์แน่ว่า ใครกันแน่ที่เตะตัดขาเพื่อหวังกัญชาเสรี ใครกันแน่ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อออกกฎหมายควบคุมกัญชา

 เพราะกัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์ก็ต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ถูกขัดขวาง ด้านโทษก็ต้องออกมามีกฎหมาย “ควบคุม” ควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับประชาชน

 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้านกัญชาเสรีเพราะห่วงเด็กและเยาวชน อ้างว่ากัญชาต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น แต่โรงแรมของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กลับเปิดร้านทำธุรกิจขายช่อดอกกัญชาเพื่อพี้กัญชาเสียเองจนถึงปัจจุบัน และไม่เกี่ยวอะไรด้วยกับทางการแพทย์เลย

ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยทั้งในฐานะผู้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข พยายามดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาอยู่ใต้ดินมาถูกจัดระบบอยู่บนดิน และออกกฎหมายควบคุมกัญชาไม่ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อออกกฎหมายควบคุมในหลายมิติ และทยอยดำเนินคดีความจับกุม ปรับ ดำเนินคดีอาญา และเพิกถอนใบอนุญาตผู้กระทำความผิด กลับถูกใส่ร้ายว่าต้องการกัญชาเสรี

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดเพื่อผลักดันกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ คือ พ.ร.บ.กัญชากัญชง เพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชากลับถูกใส่ร้ายว่าต้องการให้มีกัญชาเสรีเช่นกัน


 ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล (พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย) ซึ่งเคยตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ศึกษาและมีผลสรุปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ว่าเห็นสมควรให้ปลดล็อกกัญชา กัญชง กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด และให้ใช้กฎหมายในลำดับรอง ไม่ต้องถึงขั้นตราพระราชบัญญัติในการควบคุม[1] พรรคการเมืองเหล่านั้นกลับมารณรงค์คัดค้านกัญชาเสรีในวันนี้
 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ส.ส. พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลตลอดจนสมาชิกวุฒิสภา ต่างลงมติอย่างท่วมท้นเป็นเอกฉันท์ 476 เสียง ให้กัญชาไม่ถูกระบุว่าเป็นยาเสพติดในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่อีกต่อไป และเพิ่มคำว่า “พืชฝิ่น” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แทนซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป[2]

ต่อมา 8 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกุล ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามความเห็นชอบโดยมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด คงเหลือไว้แต่สารสกัด กัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก มีผลบังคับใช้วันที่ 9 มิถุนายน 2565[3]

พอถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ผู้ป่วยที่ใช้กัญชา “ทางการแพทย์” 3.85 ล้านคน ส่วนใหญ่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะหมอไม่จ่ายกัญชา นอกระบบสาธารณสุข 3.6 ล้านคน (95%) ใช้นอกข้อบ่งใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3.2 ล้านคน(83%)[4]-[5] ไม่ต้องถูกจับกุมไปขังคุก รีดไถ สามารถปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้(ลดเสี่ยงสารพิษปนเปื้อน) สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ นักโทษคดีกัญชา4,075 คนได้รับลดโทษ ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัว 3,071 คน[6]

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 เพื่อมาใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ แต่กว่าเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาได้ก็เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เห็นชอบในวาระที่ 1 อย่างท่วมท้นเกือบเป็นเอกฉันท์ 372 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง จนเป็นที่มาในการตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน จาก 8 พรรค โดยมาจากพรรคภูมิใจไทยเพียง 3 คน

ต่อมา เมื่อคณะกรรมาธิการฯพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง แล้วเสร็จ เห็นควรให้เพิ่มจาก 45 มาตรา เป็น 95 มาตรา เพราะได้นำมาตรการควบคุมสุรา บุหรี่ และกระท่อมมาประยุกต์ใช้ แต่ให้มีบทลงโทษเรื่องกัญชารุนแรงกว่ากรณีการขายหรือให้กับเยาวชน และการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ

 แต่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ กลับถูกเตะตัดขา ถ่วงเวลากฎหมายควบคุมกัญชากัญชงทั้งระบบ ส.ส.ไม่เข้าประชุมจนสภาล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนปิดสมัยประชุมสภาและยุบสภา ทำให้ พ.รบ.กัญชา กัญชง ต้องตกไปในที่สุด ส่งผลทำให้ไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติควบคุมกัญชา กัญชงทั้งระบบ แต่พรรคการเมืองเหล่านี้กลับยังมีหน้าออกมาหาเสียงรณรงค์ต่อต้านกัญชาเสรีเสียเอง

ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะสามารถเลือกลงมติเห็นด้วยกับมาตราตามร่างเดิมที่เคยลงมติอย่างท่วมท้นเห็นด้วยกับพรรคภูมิใจไทยก็ได้

หรือจะเห็นด้วยกับที่มีการแก้ไขใหม่โดยคณะกรรมาธิการฯ(ซึ่งมาจากหลายพรรค)ก็ได้

หรือจะลงมติให้แก้ไขตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหรือ ส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติรายมาตราก็ได้

 จะทางไหนก็ได้เพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ แต่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากของพรรคการเมืองต่างๆกลับเลือกหนทางไม่เข้าประชุมทำให้สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ได้บังคับใช้ต่อไปใช่หรือไม่

 และที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงโจมตีใส่ร้ายพรรคภูมิใจไทยว่าต้องการให้กัญชาเสรี ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านี้หวังทำสภาล่ม เพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์กัญชาเสรี แล้วยังจะมีหน้ามารณรงค์หาเสียงว่าพรรคการเมืองตัวเองคัดค้านกัญชาเสรีเสียอีก


 การกระทำเช่นนี้เป็นการเห็นประโยชน์ของพรรคการเมืองเหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่?

 แต่เมื่อเตะถ่วงกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับเกมการเมืองได้อาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ในการประกาศให้ “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 และได้นำมาตรการการควบคุม ตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเอาไว้มาประยุกต์ใช้ทันที

 ผู้ที่จะจำหน่าย “ช่อดอกกัญชา” ต้องได้รับอนุญาตทุกกรณี โดยมีเงื่อนไขคือ ห้ามจำหน่ายให้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร, ห้ามจำหน่ายให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา, ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการเว้นเพื่อทางการแพทย์, ห้ามขายผ่านเครื่องขาย, ห้ามขายออนไลน์, ห้ามโฆษณา, ห้ามจำหน่ายในวัด ศาสนสถาน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก ฯลฯ[7]

 ผู้ฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ[8]

 ประกาศฉบับนี้ได้รับคำชมจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า “ชาญฉลาด”ในการประยุกต์ใช้กฎหมายเพื่อควบคุม เพราะสามารถบังคับใช้ได้ทันที

 และการบังคับใช้กฎหมายนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปตรวจร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2565 - 22 กุมภาพันธ์ 2566

 โดยได้ตรวจใน กทม. ดำเนินการจับ ปรับ ดำเนินคดีความ 14 ราย พักใบอนุญาต 4ราย และในภูมิภาค 6 จังหวัด ดำเนินการจับ ปรับ ดำเนินคดี 22 ราย พักใบอนุญาต6 ราย จึงพิสูจน์ได้ว่ากฎหมายบังคับใช้ได้จริง เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น


ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติก่อนหน้านี้อีกหลายฉบับ เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การผลิต การควบคุมร้านอาหาร การห้ามนำเข้า โดยเฉพาะกฎหมายห้ามจำหน่าย ขาย หรือให้กับเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ ในเรื่องกัญชา กัญชงตั้งแต่แรก


 ทั้งหมดนี้ขอให้ท่านผู้อ่านที่ “มีใจเป็นธรรม” ได้พิจารณาความจริงตามลำดับเวลาตามที่ได้แนบมานี้ทั้ง 3 ภาพ ก็ได้รู้ว่าใครกันแน่ที่เตะตัดขากฎหมายเพื่อหวังให้กัญชาเสรี และใครกันแน่ที่ระดมออกมาตรการควบคุมกัญชา

 ภาพแรก แสดงให้เห็นภาพการเตะตัดขากฎหมายกัญชา กัญชงในกระบวนการทางนิติบัญญัติเพื่อหวังให้กัญชาเสรี ซึ่งตรงกันข้ามกับกระทรวงสาธารณสุขที่ระดมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อควบคุมกัญชา และเดินหน้าตรวจสอบ จับกุม ปรับดำเนินคดี และเพิกถอนใบอนุญาต จึงจะทำให้เห็นว่าใครต้องการกัญชาเสรี ใครต้องการควบคุมกัญชา

 ภาพที่สอง เป็นตารางแสดงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุด 8 อันดับแรกและแสดงจำนวนและร้อยละการไม่รายงานตัว หรือไม่เข้าประชุมของแต่ละพรรคในการพิจารณาทั้งเห็นด้วย หรือ แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

 ภาพที่สาม เป็นภาพกราฟิกเพื่ออธิบาย คำรณรงค์เรื่องกัญชามาหลายปีแล้วของอ.ไพศาล พืชมงคล ว่า

 “กัญชามา ยาบ้าหมด ประเทศจะหายจน ประชาชนจะหายป่วย คนเฮงซวยจะขัดขวาง”

 เมื่ออ่านเนื้อหาและภาพทั้งหมดแล้ว “ผู้ที่มีใจเป็นธรรม” ก็จะทราบว่าใครกันแน่ที่อยากให้กัญชาเสรี ใครกันแน่ที่พยายามควบคุมกัญชา

 ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
23 มีนาคม 2566


อ้างอิง
[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร, 21 กันยายน 2563, หน้า ต
http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=730795&file=กัญชา+กัญชง+(สมชาย).pdf&download=1

[2] บันทึกการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ ๒๔ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๖๔ หน้า ๗
https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll_x.php?aid=10018&mid=4334

[3] ราชกิจจานุเบกษา, ประมวลกฎหมายยาเสพติด, วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔, เล่ม๑๓๘ ตอนที่ ๗๓ ก หน้า ๖๘
https://www.moj.go.th/attachments/20211215135357_76320.PDF

[4] นิด้าโพล, การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด, เว็บไซต์นิด้าโพล, 19 มิถุนายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579

[5] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[6] เว็บไซต์กรมราชทัณฑ์, ราชทัณฑ์ เริ่มปล่อยตัว-เปลี่ยนแปลงโทษผู้ต้องขังตามหมายศาล ในคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา หลังประกาศกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้, 9 มิถุนายน 2565
http://www.correct.go.th/?p=104459

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ๒๗๒ ง, หน้า ๓-๔
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17236539.pdf

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๖๘
https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/services/laws/enactment/6151-enactment-17


กำลังโหลดความคิดเห็น