xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความคิดพล.อ.ประวิตร กับโอกาสที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

 เราเห็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พาตัวเองออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น ด้วยการไปปรากฎตัวในสถานที่ต่างๆ ลงไปติดดินสัมผัสกับประชาชน หลังแสดงความปรารถนาออกมาชัดเจนว่า เขาวางเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

พล.อ.ประวิตร เขียนจดหมายฉบับแรกพูดถึงการเข้าสู่การเมืองหลังรัฐประหารโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า เขาได้เข้าร่วมรัฐบาลโดยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อช่วยประคับประคองบ้านเมืองให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วแต่ยอมรับว่าด้วยความเป็นทหารมาตลอดชีวิต ทำให้ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการมือง แม้จะเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนในรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ตาม

และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะอยู่ในอำนาจต่อ เขาก็ให้การสนับสนุนโดยจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อเสนอชื่อให้เจ้าตัวกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีดังที่ปรารถนา

พล.อ.ประวิตรเล่าว่า เขาไม่ได้เห็นด้วยกับพล.อ.ประยุทธ์ทุกเรื่อง โดยบอกว่า ในช่วงเวลาของการเป็นแกนนำรัฐบาล มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจใน ครม. แต่จำเป็นต้องสงวนท่าทีตามมารยาททางการเมือง ประกอบกับยังไม่มีอะไรชัดเจนว่ามติในเรื่องใดๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบ้านเมือง

แต่สุดท้ายพล.อ.ประยุทธ์ก็ทิ้งพรรคพลังประชารัฐไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเอง พล.อ.ประวิตรบอกว่า ความรู้สึกที่บอกว่า 3ป. Forever ยังเหมือนเดิม แต่ในเมื่อท่านตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ก็ไม่สามารถจะบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ คงจะบอกได้เพียงว่า ขอแสดงความยินดีกับท่านด้วย ขอให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองใหม่ที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกแล้ว

แม้พล.อ.ประยุทธ์จะชิงลาจากไป แต่พล.อ.ประวิตรประกาศว่าจะขอรับผิดชอบและจะไม่มีวันทอดทิ้งสมาชิกพรรคพลังประชารัฐทุกคน ที่เคยทำงานการเมืองมาด้วยกัน และพร้อมจะเดินนำทุกคนที่มีความเชื่อมั่นในความตั้งใจอันแน่วแน่ เข้าสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป เพื่อกลับมาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง

 ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์นั้นมีภาพที่แจ่มชัดถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาพของพล.อ.ประวิตรหาได้แจ่มชัดเท่าไม่ พล.อ.ประวิตรจึงต้องออกมาสื่อสารกับสาธารณชนว่า ผมจะเริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ “นายทหารผู้น้อย” ค่อย ๆ เติบโตมาถึง “ผู้บัญชาการกองทัพ” ได้รับการหล่อหลอมให้ “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มาทั้งชีวิต จนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น “จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของผม” อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

พล.อ.ประวิตร พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยว่า เกิดจากคนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่มอิลิท” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง “ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ” และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และ “ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ”

จนกระทั่งเห็นดีงามกับการ “ปฏิวัติ” เพราะเห็นว่า เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถใช้ช่องทางนี้เข้ามาช่วยนทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้

แต่เมื่อเข้ามาทำงานการเมือง พล.อ.ประวิตรบอกว่า เขาได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งผู้ที่อำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ “ประชาชน” และแม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว เพราะความรู้ ความสามารถของ “กลุ่มอิลิท” ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า

นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง  “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้

พล.อ.ประวิตรเล่าว่า การชอบคบหากับผู้คนทำให้เขาเห็นว่า ประเทศไทยของเรามีคนที่มีความรู้ ความสามารถมาก และมีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละมาทำงานเพื่อประเทศชาติ แต่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ปิดกั้นพวกเขา การแข่งขันทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะคะคานสูงยิ่ง ทำให้ทุกคนที่คิดจะเข้ามาเสี่ยงกับการเป็นเป้าถูกโจมตี ทำลายล้าง ความคิดที่จะเสียสละมาทำงานเพื่อชาติกลายเป็นเปิดทางให้ตัวเองถูกทำลาย คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วเหล่านี้ ทำใจยอมรับความเสี่ยงจากการร่วมทำงานการเมืองกับนักการเมืองในวัฒนธรรมมุ่งทำลายเช่นนี้ไม่ได้

จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่าย  “อนุรักษ์นิยม” ที่มองไม่เห็นหนทางอื่นที่จะนำผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันทำงานให้กับประเทศชาติ นอกจากการทำ  “รัฐประหาร” ยึดอำนาจและเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ ความสามารถ ด้วยการแต่งตั้งคนเหล่านี้เข้ามา

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การต่อสู้รหว่าง ฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยมเป็นไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายหนึ่งมองเห็นแต่ความเหลวแหลกของพฤติกรรมนักการเมือง แต่ความไม่รู้ ความไม่มีความสามารถของประชาชนที่จะเลือกคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศ กลายเป็นการสนับสนุนให้ก่อร่าง  “โครงสร้างอำนาจนิยม” เกิดขึ้นจากความเหลือทนต่อพฤติกรรมดังกล่าวของนักการเมือง

แต่เมื่อเขามีโอกาสเข้ามาทำงานในฐานะนักการเมือง ทำให้เข้าใจว่า นักการเมืองที่ถูกหมิ่นแคลนจากชนชั้นที่มีอิทธิพล กำหนดความเป็นไปของประเทศที่ได้กล่าวถึงข้างต้น กลับเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจปัญหา เป็นที่พึ่งที่หวังได้ในทุกเรื่องของประชาชนมากกว่าคนกลุ่มอื่นในโครงสร้างอำนาจ และเมื่อได้ลงพื้นที่สัมผัสการทำงานของนักการเมืองพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งด้วยภารกิจราชการอย่างเช่นการลงไปแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ และลงไปร่วมหาเสียง สร้างความนิยมให้สมาชิกพรรคในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ได้รับรู้ว่า การปลูกฝังสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนนั้น ไปไกลแล้ว ทั้งที่ผ่านบทบาทของนักการเมืองส่วนกลาง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งกันทุกระดับ

 พล.อ.ประวิตรบอกว่า ทำให้กลับมาย้อนมองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าทำไม “พรรคที่สนับสนุนอำนาจนิยม” จึงพ่ายแพ้ต่อ “พรรคที่เดินในแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกครั้ง แม้ว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะสร้างกติกา และแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาควบคุมกลไก เพื่อให้เอื้อต่อชัยชนะของฝ่ายตัวเอง อย่างเอาเป็นเอาตายแค่ไหนก็ตาม

พล.อ.ประวิตรบอกว่าเขาเข้าใจแล้วว่า “อำนาจนิยม” แม้จะครองใจคนบางกลุ่มได้ แต่ห่างไกลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่

แต่พล.อ.ประวิตรบอกว่า แม้จะปักใจให้ความเชื่อมั่นใน “ระบอบประชาธิปไตย” อย่างมั่นคง หนักแน่นเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้ และรับทราบถึงเจตนาดีต่อประเทศของคนกลุ่มที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า “มีความรู้ความสามารถ” และยังคง “มีอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของประเทศ” ทำให้เขาเกิดความเสียดาย และคิดว่าการหาทางประสานให้คนกลุ่มนี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาประเทศ ย่อมเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง

และความคิดนี้เองเป็นที่มาของความมุ่งมั่น “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของเขา ที่ทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและนักการเมืองสามารถมาทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้

จดหมายและบทความเหล่านี้แน่นอนว่าคงไม่ได้เขียนขึ้นโดยพล.อ.ประวิตรเอง แต่พล.อ.ประวิตรก็บอกว่าเขาพร้อมรับผิดชอบทุกตัวอักษร

แม้ว่าวันนี้พล.อ.ประวิตรจะแสดงความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าถามว่า มีโอกาสไหมที่เขาจะประสบความสำเร็จด้วยวิถีทางที่เขาบอกว่าวันนี้เขาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ นั่นคือการได้รับฉันทามติจากประชาชน ก็ต้องตอบว่า ไม่มีทางเลยที่พรรคพลังประชารัฐของเขาจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

หนทางเดียวที่พล.อ.ประวิตรจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็ต้องพึ่งพาเครือข่ายที่ฝ่ายอำนาจนิยมสร้างมานั่นแหละ คือ ต้องพึ่งพิงเสียงส.ว.จำนวนหนึ่งที่อยู่ใต้ปีกของตัวเอง เพื่อใช้เป็นอำนาจต่อรองกับทักษิณและพรรคเพื่อไทย หากฝั่งเพื่อไทยไม่สามารถรวบรวมเสียงได้ 376 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

 นั่นเป็นหนทางเดียวที่พล.อ.ประวิตรจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หมายความว่า เขาต้องไม่ตกม้าตายพรรคของเขาได้ส.ส.ไม่ถึง 25 เสียง  เพราะหากเป็นเช่นนั้นเขาจะหมดโอกาสทันที

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น