xs
xsm
sm
md
lg

ศรัทธาของประชาชน : ฐานรากของพรรคการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง


เติ้ง เสี่ยวผิง
“พรรคการเมืองเปรียบเสมือนปลา ชาวประชาเปรียบเสมือนน้ำ” นี่คือวาทกรรมของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนท่านหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดคือ เหมาเจ๋อตุง)

โดยนัยแห่งคำพูดในเชิงเปรียบเทียบข้างต้น ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับประชาชนได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมว่า พรรคการเมืองจะต้องอาศัยศรัทธาของประชาชน จึงอยู่ได้อย่างมั่นคง ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจแล้วยากที่จะดำรงอยู่ได้

ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงแม้ในสายตาของประเทศตะวันตกจะมองว่าเป็นเผด็จการ แต่โดยเนื้อแท้ของการปกครองแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชน หรืออีกนัยหนึ่งพูดได้ว่า เป็นพรรคการเมืองของประชาชน และที่พูดเช่นนี้อนุมานได้ว่า จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. แนวทางการปกครองของคอมมิวนิสต์จีน ถึงแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากลัทธิมาร์กซิสต์ แต่ผู้นำจีนโดยเฉพาะนับตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิง เป็นต้นมาได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนเป็นรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับความดี ความเป็นของจีน หรือที่เรียกว่า สังคมนิยมที่เอกลักษณ์ของจีน โดยการนำแนวคิดของลัทธิมาร์กซิสต์มาประยุกต์ใช้ด้วยการผสมผสานกับปราชญ์จีนเช่น ขงจื๊อจนกลายเป็นของจีน ตามแนวคิดทางปรัชญาที่ว่า ตัดเสื้อให้เข้ากับตัว ตัดรองเท้าให้เข้ากับตีนคือ นำแนวคิดจากคนอื่นแต่ต้องประยุกต์ให้เข้ากับตนเอง

2. การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้สืบทอดนโยบายเดียวต่อเนื่องกันมาเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 จนถึงปัจจุบันคือ นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ซึ่งเติ้ง เสี่ยวผิง ได้กำหนดขึ้นในปี ค.ศ. 1978 และผู้นำจีนในยุคต่อมาได้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ข้อดังกล่าวข้างต้น ประเทศจีน จึงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในทุกด้าน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเป็นที่ยอมรับของประชาชนจีน 1,300 ล้านคน และ 56 ชาติพันธุ์

เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองในประเทศไทยแล้ว จะเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างกันหลายประการ อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา นับเวลาได้ 91 ปีแล้ว และจากวันนั้นถึงวันนี้ พรรคการเมืองได้เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะใกล้เวลาเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ได้ไม่นาน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1.1 พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเป็นพรรคเฉพาะกิจตั้งขึ้นมาสืบทอดอำนาจของปัจเจกบุคคล และตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่นายทุน จึงทำให้ไม่เป็นที่ศรัทธาและเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ จึงอยู่ได้ไม่นาน

2. ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีการใช้เงินซื้อเสียงกันมาก ดังนั้นหลังเลือกตั้งถ้าได้เป็นรัฐบาลก็ถือโอกาสถอนทุน จึงเป็นเหตุให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และออกมาต่อต้านจึงกลายเป็นโอกาสให้กลุ่มอำนาจนิยมนำไปเป็นเหตุอ้างทำการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคมีอันต้องยุติกิจกรรมทางการเมืองไป

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น พรรคการเมืองในประเทศไทยจึงไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนต่อเนื่องยาวนาน จะมีก็เพียงรายสั้นๆ เท่านั้น และนี่เองคือเหตุที่แท้จริงของการทำให้ประชาธิปไตยของไทยอ่อนแอ และไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น