xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสริบหรี่ของลุงตู่ ความจริงที่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องทำใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

หลายครั้งผมเขียนถึงโอกาสและชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งที่มาถึงน่าจะอยู่กับฝ่ายอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็มีคนมาตำหนิว่าเปลี่ยนไป บางคนถึงกับเข้ามาคอมเมนต์ว่ารับเงินรับงานก็มี คงลืมไปว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ออกมาต่อสู้และเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลของทักษิณ ตั้งแต่ยังไม่มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกทักษิณแจ้งความดำเนินคดี และปัจจุบันยังมีคดีติดตัวจากการชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ

และที่เขาน่าจะลืมไปด้วยคือ นอกจากผมจะมีความเห็นและแสดงทัศนะทางการเมืองแล้ว ผมคือสื่อมวลชนที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อผมมองเห็นว่าสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นอย่างไร ผมก็ต้องพูดไปตามนั้น ส่วนจะเข้าคูหาแล้วกาให้ใครในบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมคงไม่ทรยศตัวเองด้วยการเลือกพรรคของฝ่ายที่อ้างตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแน่ๆ ครับ

 ผมเข้าใจว่าบางคนรักลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอยากให้ลุงตู่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แม้จะเป็นมาแล้วกว่า 8 ปี และเหลือเวลาอีก 2 ปีที่จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ก็ตาม ผมก็พยายามเข้าใจคนเหล่านี้ แต่ก็อยากให้อยู่บนเหตุผลข้อเท็จจริงด้วย เพราะถ้าเราปฏิเสธข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลพื้นฐานแล้ว เราก็ไม่มีวันจะเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้องแน่นอน พูดตรงๆ คือให้ผมอวยลุงตู่โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงผมไม่ทำ


ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ตรงนี้ ผมก็ต้องพูดตรงๆว่า ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง บางคนก็บอกว่าแน่อยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยต้องมาเป็นอันดับ 1 แต่ผมมองไปไกลกว่านั้น ผมเชื่อว่า แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่แลนด์สไลด์ แต่พรรคเพื่อไทยบวกกับพรรคแนวร่วมอื่น เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ ฯลฯ ฝั่งนี้จะมีส.ส.รวมกันเกินครึ่งหนึ่งคือเกิน 250 คนของจำนวนส.ส. 500 คน เมื่อเป็นเช่นนี้จะปิดทางพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากทันที

แต่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอาจสามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยการพึ่งเสียงของส.ว.ให้ได้เกิน 376 เสียงของสองสภา แต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้ถ้าไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ผมก็ไม่มั่นใจแบบเต็มร้อยว่าจะถูกต้อง หลังเลือกตั้งทุกอย่างอาจจะพลิกผัน ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมาชนะ การคาดการณ์ของผมกลายเป็นผิดไป เพียงแต่ถ้าถามจากข้อมูลข้อเท็จจริง ณ ตอนนี้ผมเชื่อว่า ฝ่ายที่อ้างตัวว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะครับ

อาจจะถามว่าผมเอาข้อมูลที่ไหนมาพูด ผมก็ประมวลจากข่าวสารที่มี การโยกย้ายดึงตัวส.ส.ผู้สมัครของแต่ละพรรคการทำโพลของสำนักต่างๆมาประมวลเป็นความคิดของผมโดยไม่ได้เน้นการเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ผมคิดว่า ณ เวลานี้มวลชนส่วนใหญ่ของทุกฝ่ายต่างตัดสินใจแล้วว่าจะลงคะแนนให้ใคร ความเห็นของผมไม่สามารถไปโน้มน้าวใครได้ แน่นอนว่ามวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมก็จะเลือกพรรคของฝ่ายอนุรักษนิยม มวลชนของฝ่ายอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็เลือกพรรคฝ่ายนั้นไม่มีการสวิงข้ามขั้ว เช่น มีการบอกว่าจะยุบพรรคการเมืองหนึ่ง สมมตินะครับว่า ยุบพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้ช่วยให้พรรคของฝ่ายอนุรักษ์ได้คะแนนมากขึ้น เพราะมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลก็จะเทคะแนนไปให้พรรคอื่นในฝ่ายเดียวกันกลับมาเป็นฝ่ายชนะเหมือนเดิม

เรามีบทเรียนให้เห็นแล้วจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ เรากลับได้พรรคอนาคตใหม่มาแทน และกลายเป็นพรรคที่ท้าทายและทะลุเพดานยิ่งกว่าพรรคใดๆในฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

บางคนบอกว่าในเมื่อเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตอนนี้มีมากกว่า ทำไมจะไม่มีโอกาสกลับมาชนะ ผมคิดว่าการเลือกตั้งในปี 2560 ที่พรรคพลังประชารัฐถืออำนาจรัฐในมือและสามารถกวาดต้อนอดีตส.ส.เข้ามาร่วมพรรคได้มาก แม้จะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็นับว่าฉิวเฉียดมาก ต้องพึ่งเสียงของพรรคปัดเศษที่คำนวณคะแนนแบบพิสดารเพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า การคำนวณส.ส.นั้นต้องมีคะแนนเท่ากับคะแนนพึงมี ซึ่งคะแนนพึงมีนั้นอยู่ที่ประมาณ 70,000 คะแนน แต่กลับให้ส.ส.จากพรรคที่ได้เสียงรวมกันทั้งประเทศ 3-40,000 เสียงได้ส.ส.พรรคละ 1 ที่นั่ง

ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบบัตรสองใบ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วแบบบัตรใบเดียวแม้พรรคเพื่อไทยจะมาเป็นที่หนึ่งแต่ไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเลย แต่ครั้งที่จะถึงนี้พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของคะแนนที่พรรคได้รับเลือกตั้งด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องได้ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุดด้วย

อย่ามองว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2560 นั้นพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนป๊อบปูล่าร์โหวตเป็นอันดับ 1 และได้ส.ส.ถึง 116 คน การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำไมพรรครวมไทยสร้างชาติที่เสนอชื่อลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีจะทำคะแนนไม่ได้เนเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ เราต้องไปดูโครงสร้างของพรรคและสถานการณ์ ณ ตอนนั้นด้วย

พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งเมื่อปี 2560 นั้นเลือกตั้งภายใต้ร่มเงาของคสช. มีการกวาดต้อนนักการเมืองบ้านใหญ่จากพรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วมได้มาก และตอนนั้นคนจำนวนไม่น้อยยังปลื้มกับลุงตู่ พูดง่ายๆว่าลุงตู่ยังมีกระแสอยู่ต่างกับตอนนี้หลังบริหารประเทศมาแล้วกว่า 8 ปี แต่พรรครวมไทยสร้างชาติที่สนับสนุนลุงตู่ในครั้งนี้นั้นส่วนใหญ่ดึงอดีตส.ส.มาจากฝั่งเดียวกันโดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่งยังกลับไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยด้วย ดังนั้นเราน่าจะมองออกว่า หากไม่สามารถช่วงชิงส.ส.ในพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยเคยถือครองได้ ก็ไม่มีวันจะรวบรวมเสียงข้างมากได้แน่

 แต่ถ้าให้มองหาสถานการณ์ที่พรรคของลุงตู่จะชนะแล้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมาตั้งรัฐบาลได้ ทางที่พอจะมองเห็นก็คือ ต้องพึ่งพาให้พรรคภูมิใจไทยเอาชนะพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานให้ได้มาก หรือให้พรรคเพื่อไทยแข่งขันกันอย่างรุนแรงกับพรรคก้าวไกลแล้วตัดคะแนนกันเองจนแพ้คู่แข่งทั้งสองพรรค ดูจะมีทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่พอจะเป็นช่องทางริบหรี่ให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมาได้ แต่ถ้าลุงตู่อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องเอาชนะส.ส.ให้ได้มากกว่าพรรคภูมิใจไทยที่เสนออนุทิน ชาญวีรกุลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนะ

ตอนนี้เห็น ดร.เสรี วงษ์มณฑา องครักษ์ข้างกายลุงตู่พยายามปลุกกระแสของฝ่ายอนุรักษนิยมให้เลือกพรรคลุงตู่พรรคเดียวอย่าให้เสียงแตก และเรียกร้องให้ชนะพรรคในฝ่ายเดียวกัน ถึงดร.เสรีไม่เอ่ยชื่อก็หมายถึงพรรคภูมิใจไทยนั่นแหละ ผมคิดว่ามีทางเดียวที่จะเป็นอย่างนั้นได้คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องทิ้งพรรคอื่นในฝ่ายเดียวกันไปเลยนั่นก็คือพรรคประชาธิปัตย์ แล้วมาทุ่มให้พรรคลุงตู่ แต่ผมคิดว่า ครั้งที่แล้วที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 3.9 ล้านคะแนน แม้ครั้งนี้น่าจะน้อยลงอีก แต่ก็น่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ

ส่วนฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย แม้จะถูกจัดว่าอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยม อาจจะมีฐานเสียงทับซ้อนกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ แต่พรรคภูมิใจไทยก็มีฐานสียงของตัวเองในภาคอีสานด้วยโดยเฉพาะในอีสานใต้

แต่แม้ว่ามวลชนของฝ่ายอนุรักษนิยมจะเลือกแบบยุทธศาสตร์ตามข้อเสนอของดร.เสรี ผมก็คิดว่าเสียงยังไม่มากพอที่จะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ถ้าหากไม่สามารถแย่งพื้นที่เสียงของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสานให้ได้มาก แต่พรรคที่พอจะแย่งเสียงเพื่อไทยในภาคอีสานได้ดูทรงตอนนี้ก็มีแต่พรรคภูมิใจไทยเท่านั้น ดังนั้นถ้าทอนกำลังของเพื่อไทยได้ส.ส.ของภูมิใจไทยก็จะต้องเพิ่มขึ้นก็ยิ่งยากที่พรรคของลุงตู่จะได้เสียงมากกว่าพรรคภูมิใจไทย

 นี่เป็นสถานการณ์แท้จริงที่ยากมากที่จะวิเคราะห์การเมืองให้ออกมาถูกใจฝ่ายอนุรักษนิยม บรรดาองครักษ์ และแฟนคลับของลุงตู่ และก็คงต้องทำใจถ้าประชาชนเสียงข้างมากจะเลือกฝ่ายไหนมากกว่ากันเพราะนี่เป็นการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยที่เสียงของประชาชนเป็นใหญ่

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น