สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังถูกกระหน่ำด้วยมรสุมอย่างหนัก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับกลางและระดับสูงบางส่วนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวโยงหรือเป็นผู้กระทำความผิดอาชญากรรม มีเครือข่ายอิทธิพ
ลกว้างขวาง
กิจกรรมนอกกฎหมาย มีทั้งธุรกิจสีเทา การพนันออนไลน์ การให้ความคุ้มครองมีหุ้นส่วนกับผู้กระทำความผิด สร้างความฉาวโฉ่ เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อวงการตำรวจ
นายตำรวจซึ่งถูกโยงว่าเกี่ยวพันกับอาชญากรรมธุรกิจนอกกฎหมายยังไม่ถูกแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิด โดยมีคำอ้างว่าต้องหาหลักฐานเพื่อมัดตัวให้แน่น
ประชาชนทั่วไปมองว่าเมื่อตำรวจกระทำความผิด มักจะมีการช่วยเหลือกัน เช่น การโยกย้าย สั่งพักงาน หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ถ้ามีจังหวะเหมาะ เรื่องเงียบ ก็มีโอกาสหวนคืนสู่ราชการได้ มีเกิดขึ้นมาแล้ว พร้อมกับการได้ดิบได้ดี
ขณะเดียวกันถ้าบางรายเป็นเนื้อร้าย พวกเดียวกันไม่สามารถช่วยเหลือได้ ก็จำเป็นต้องถูกสังเวยเป็นแพะรับบาป ตัดตอนและช่วยเหลือคนสำคัญในตำแหน่งสูงกว่าให้รอดพ้น ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กรณี 7 ตำรวจห้วยขวางไถเงินสาวต่างชาติ
ไม่มีใครประเมินได้ว่าวงการตำรวจจะเสื่อมโทรมถึงระดับไหน และมีตำรวจน้ำดีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยมักมีคำอ้างเสมอว่าตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี ไม่อย่างนั้นองค์กรตำรวจคงอยู่ไม่ได้ เป็นเช่นนั้นจริงหรือ
จะมีใครแม้กระทั่งในวงการตำรวจกล้ารับประกัน ว่าคนไหนเป็นคนดีมือสะอาดเต็มร้อย เพราะการเข้ามารับราชการตำรวจเริ่มมีการกระทำให้เห็นว่า ไม่โปร่งใสทั้งข้อสอบรั่ว ใช้เส้นสายซื้อตำแหน่ง และซื้อต่อเนื่องด้วยเงินสกปรกเป็นส่วนใหญ่
เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจซึ่งเป็นขั้นต้นของกระบวนการยุติธรรม ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด แม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหลายชุดแล้วก็ตาม ผลสุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ที่พิลึกก็คือนายกรัฐมนตรีเป็นทั้งประธานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการตำรวจ มีอำนาจเต็มที่ แต่ไม่ขยับตัวเรื่องการปฏิรูปตำรวจหรือเรื่องอื่นใดในกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ขบวนการทุจริต คอร์รัปชันจึงไม่จำกัดเฉพาะในวงการตำรวจแต่ลามไปทุกองค์กรภาครัฐตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงสูงสุด โดยถึงขั้นที่ว่าไม่มีใครกล้ายืนยันรับประกันว่าใครในกลุ่มผู้บริหารประเทศหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต
กระบวนการยุติธรรมของประเทศมีปัญหาทุกระดับ มากน้อยต่างกันตามวาระซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน จนเหมือนเป็นที่รู้กันว่าเงินซื้อได้เพื่อให้หลุดจากคดีอาญา
ยิ่งนักธุรกิจจีนสีเทาซึ่งถูกดำเนินคดีได้เคยประกาศว่าประเทศไทยเงินซื้อได้ทุกอย่าง ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าไม่เพียงเฉพาะคนในประเทศที่มีอิทธิพลอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม อาชญากรต่างชาติก็ย่ำยีกฎหมายของไทยได้เช่นกัน
ที่น่าแปลกก็คือ ผู้นำประเทศไม่รู้สึกว่าจะต้องอับอายขายหน้า และต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง
การตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็ไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่ให้ความกระจ่างอะไร
การรณรงค์ต่อต้านการทุจริต มีการประกาศแทบทุกปี ไม่มีอะไรดีขึ้นซ้ำร้ายระดับการทุจริตเลวร้ายลง แม้ในวงการสากลก็วัดระดับความล้มเหลวให้เห็น
ประเทศของเรามาถึงขั้นที่ว่าประชาชนต้องถามหาจิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้นำว่ายังมีเหลืออีกหรือไม่ หรือคำนึงถึงแต่ความอยู่รอดของตัวเองโดยไม่ใส่ใจปัญหาเรื้อรังของบ้านเมือง
ถ้ายังมีจิตสำนึกความห่วงใย ความรักชาติ ตามคำประกาศแล้ว เหตุใดจึงปล่อยให้มีความชั่วร้ายมีอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและกระบวนการทางกฎหมาย
ความน่าเชื่อถือของผู้นำเป็นมาตรวัดประเทศ การทำโพลแต่ละครั้ง ผู้นำรัฐบาลไม่เคยได้คะแนนความนิยมอันดับแรก อยู่ต่ำกว่าอันดับ 3 ด้วยซ้ำ
การอยู่มายาวนานไม่ได้พิสูจน์ว่าประชาชนนิยม แต่เป็นเพราะไม่มีทางเลือก ดังนั้นการทุจริตจึงแผ่กระจายเพราะความไม่ใส่ใจ เมื่อหัวส่าย หางก็กระดิก
หรือเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนในการขยายตัวของอาชญากรรมการทุจริตคอร์รัปชัน และความชั่วร้ายอื่นๆ เพราะมีส่วนร่วมหรือการเพิกเฉยไม่ทำหน้าที่
เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ประชาชนหวังใครหรืออะไรที่จะแก้ปัญหาและวิกฤตของประเทศซึ่งทำให้เกิดสภาวะเสื่อมโทรมเชิงโครงสร้างทุกด้าน
ถึงเวลาที่ผู้นำประเทศต้องตอบว่าจะอยู่ดิ้นรนเพื่ออะไร ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ และปัญหาส่วนหนึ่งที่หมักหมมมากว่า 8 ปีก็เป็นเพราะตัวเองมีส่วนโดยตรง
ถึงเวลาที่ต้องยอมรับเช่นกันว่าการอยู่มานานกว่า 8 ปี เป็นความผิดปกติของกระบวนการต่างๆ ความน่าเชื่อถือในกระการยุติธรรม ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย หรือแม้กระทั่งองค์กรที่น่าเชื่อถือ ก็สร้างปัญหาอยู่ในกลุ่มสีเทาด้วยเช่นกัน
ความอยู่รอดของประเทศมีความเสี่ยงทุกด้าน เมื่อความมั่นคงเปราะบาง